xs
xsm
sm
md
lg

ถกปรองดอง ปธ.สภาฯดันลงมติ รบ.-ฝ่ายค้าน โห่กันวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาฉะกันวุ่น พท.ดันรายงานกมธ.ปรองดองแซงวาระรถไฟฟ้าสายสีม่วง อ้างแค่ขอผ่านทางไปพิจารณาในสภา ฝ่ายค้านรุมต้าน บี้ “สนธิ”ตอบคำถาม “มาร์ค”แจงรายงานผ่านความเห็นชอบจากกมธ.จริงหรือไม่ ลูกพรรคประสานเสียงไม่เอา “รายงานเถื่อน” รุกประชิดตัว “บิ๊กบัง”จี้ให้ตอบคำถาม ด้าน”บิ๊กบัง”ฉะสภาตัวทำสังคมแตกแยก อ้างกมธ.ไม่มีสิทธิ์แก้งานวิจัยสถาบันฯ โยนหน้าที่สภาตัดสินใจ


วันนี้(27มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุมร่วมรัฐสภาโดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งตามวาระปกติจะเป็นการพิจารณาวาระเรื่อง กรอบการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 3 แต่ปรากฏว่า น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้เลื่อนวาระ ขอให้รัฐสภามีมติให้สภาพิจารณาเรื่องอื่นๆในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติตามมาตรา136(5)ของรัฐธรรมนูญ มาพิจารณาก่อน เพราะแค่ขอมติที่ประชุมรับรอง เพื่อให้สภาสามารถนำรายงานไปหารือกันในที่ประชุมสภาเท่านั้น ส่วนรายละเอียดจะมีการถกเถียงกันในสภา

อย่างไรก็ตามได้มีส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ และส.ว. บางส่วนแสดงความเห็นคัดค้านและต้องการให้พิจารณาไปตามระเบียบวาระ เพราะเรื่องกรอบเจรจาการกู้เงินมาสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็มีความเร่งด่วนและเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนรวม ส่วนรายงานปรองดองของคณะกรรมาธิการปรองดองนั้นยังมีความเห็นขัดแย้งในสังคมอยู่มาก หากให้มีการนำมาพิจารณาในสภาจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ และสาระส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประโยชน์กับบุคคลบางคนบางกลุ่มเท่านั้น

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง กล่าวว่า สมาชิกมีเวลาประชุมในสมัยนี้อีกไม่กี่วันก็ปิดสมัยประชุม และ เรื่องนี้เกิดความเห็นต่างในสภาล่าง ดังนั้นเสียง ส.ว. เท่านั้นจะสร้างบรรยากาศปรองดองได้ จึงขอให้ทบทวนและนำไปเข้าสมัยประชุมหน้า จึงขอให้พิจารณาว่าจะลงมติในวันนี้ที่จะเป็นชนวนความขัดแย้ง หรือ จะใช้โอกาศนี้ยุติความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง

นายวิเชียร คันฉ่อง ส.ว.ตรัง กล่าวเสริมไปในแนวทางเดียวกันว่า นับแต่หยิบยกเรื่องปรองดองขึ้นมา ปรากฏว่าสังคมและสมาชิกรัฐสภายังสับสนหลายเรื่อง กรณีข้อกล่าวหาว่าจะมีการนิรโทษกรรม ลบล้างการดำเนินการของคตส. ประธานกรรมาธิการจะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าหากพิจารณาแล้วจะมีประโยชน์อย่างไร หากมีประโยชน์จริงๆเราก็ไม่ขัดข้อง โดยเฉพาะคำแถลงการณ์ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่อ้างเหตุผลทำการรัฐประหารว่าเป็นเพราะรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดหลายข้อกล่าวหา เช่นมีการทุจริต แทรกแซงองค์กรอิสระ

“ท่านต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า มาวันนี้ทำไมถึงไม่มีการทวบทวนผลสรุปรายงาน คตส.ที่สร้างมากับมือตนเองในที่สุดจะยกเลิกหรืออย่างไร รัฐสภาต้องคิดว่าการเร่งรีบเสนอเรื่องนี้เข้ามาเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินหรือเพื่อคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ การคิดหรือทำอะไรต้องเป็นสิ่งที่ชี้แจงกับประชาชนทั้งประเทศได้ สภาแห่งนี้ต้องคิดว่าต้องทำเพื่อประโยชน์แผ่นดิน ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปรายนายวิเชียรได้อ่านคำแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติฉบับที่ 1 ของพล.อ.สนธิ เพื่อทบทวนความจำ และต้องการให้พล.อ.สนธิชี้แจงว่าสิ่งที่ได้อ่านแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 23.50 น. เป็นเรื่องเท็จ หรือเรื่องจริง เพื่อตัดสินว่าจะให้เลื่อนญัตติดังกล่าวหรือไม่

แต่นพ.ชลน่านได้ประท้วงว่าอภิปรายนอกประเด็น เพราะขณะนี้เป็นเพียงการขอความเห็นให้เลื่อนระเบียบวาระเท่านั้น ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในที่ประชุมเริ่มตรึงเครียด โดยสมาชิกได้แสดงเห็นออกเป็นสองฝ่าย ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบให้สภาพิจารณารายงานกมธ.ปรองดองในสมัยประชุมนิติบัญญัติได้ ตนเชื่อว่าต่อไปสภา ก็คงจะให้ความเห็นชอบ ดังนั้นกระบวนการรัฐสภาขณะนี้ต้องพิจารณาว่ากระบวนการทำรายงานนั้นถูกต้องหรือไม่ ตนอยากฟังคำอธิบายจาก คณะกรรมาธิการปรองดอง ว่าทำไมรายงานจึงมีความสำคัญ และควรเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะมีใครบางคนที่รออยู่หรือไม่

“ผมขอถามพล.อ.สนธิ ว่า รายงานของกรรมาธิการ เป็นไปตามขั้นตอนปกติ และถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมหรือไม่ โดยมีการเรียกให้กรรมาธิการฯ ทุกคนมาร่วมสรุปรายงานการประชุมครั้งสุดท้ายหรือไม่ และให้สิทธิ์สมาชิกอภิปราย โต้แย้ง ท้วงติง หรือตั้งข้อสังเกตหรือไม่ หากไม่ได้ทำ แสดงว่ารายงาของกมธ.ปรองดอง ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับที่จะมีการนำเสนอต่อสภาฯ การปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน เป็นความบอบช้ำของประเทศไทย หากทำผิดซ้ำสอง จะให้อภัยกันไม่ได้อีก”

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวว่า มีประเด็นที่จำเป็นต้องสร้างความกระจ่างก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการบรรรจุระเบียบวาระ คือรายงานของกมธ.ปรองดองฯ ได้ดำเนินการถูกต้อง ครบถ้วนจริงหรือไม่ ประธานบรรจุระเบียบวาระไม่รู้ถึงปัญหาที่มาที่ไปของรายงานดังกล่าว ปัญหาคือการสรุปร่างรายงานของกมธ.แตกต่างจากรายงานที่ส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันนี้ คือมีการแก้ไข เพิ่มเติม โดยเฉพาะการไม่นำเอาแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าไปหาข้อยุติร่วมกัน เพราะที่ผ่านมามีการขอให้กมธ.ปรองดองฯ นัดประชุมเพื่อให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง

“ การจะเลื่อนเรื่องนี้ขึ้นมาหรือไม่ ต้องตรวจสอบก่อนว่ารายงานฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากกมธ.แล้วหรือยัง หากไม่สามารถทำความกระจ่างได้ จึงไม่สมควรมาพูดกัน ประธานกมธ.ปรองดองฯ จะตอบกับสภาก่อนได้หรือไม่ว่ารายงานฉบับนี้ กมธ.ปรองดองฯ ได้ให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่เท่าไหร่ วันที่เท่าไหร่ หากตอบไม่ได้ เราก็พิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้เลย หากยังพิจารณากันต่อไป และประธานกมธ.ปรองดองฯ ไม่สามารถตอบได้ ผมจะขอใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามข้อ 32 เสนอให้เลื่อนเรื่องที่กำลังจะพิจารณานี้ออกไปก่อน”

ด้านนายสมศักดิ์ อ้างว่าได้บรรจุตามวาระ และทุกอย่างถูกต้องตามข้อบังคับและรธน. เพียงแต่มีข้อกังขาที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกมาเป็นปัญหา

ชณะที่นพ.ชลน่าน กล่าวนายอภิสิทธิ์จะไปคาดคั้นกับประธานกมธ.ปรองดองฯ ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้มีการเลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา ไม่เช่นนั้นประธานก็ควรให้มีมติให้อภิปรายพร้อมกับลงมติไปในคราวเดียวกันก็ได้

จากนั้นนายสมศักดิ์ได้ตัดบทว่ามีการอภิปรายมาพอสมควรแล้ว และควรยุติได้แล้ว การที่นายอภิสิทธิ์จะตั้งคำถามก็เป็นสิทธิที่กมธ.ปรองดองฯ จะตอบหรือไม่ตอบ ดังนั้น ตนขอให้มีการลงมติทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศความวุ่นวายเริ่มเกิดขึ้นทันที โดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์พากันส่งเสียงโห่ร้อง และตะโกนตำหนิการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ พร้อมกับชูรายงานของกรรมาธิการขึ้นมาและตะโกนว่า “รายงานเถื่อนๆๆๆๆ” “เผด็จการรัฐสภา” จนที่สุดนายสมศักดิ์ ได้สั่งพักการประชุม 5 นาที แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส นายโกวิทย์ ธาราณา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้พยายามเข้าไปขอคำอธิบายกับพล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ในฐานะประธานกมธ. เช่นเดียวกับฝั่งสมาชิกวุฒิสภา คือนายคำนูน สิทธิสมาน ที่พยายามจะเข้าไปขอคำอธิบาย ส่วน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามตะโกนว่า การปรองดองครั้งนี้ปรองดองเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทยต่างไม่พอใจและส่งเสียงโหตอบโต้กันไปมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีสมาชิกจากทุกฝ่ายพยายามเดินเข้าไปหาพล.อ.สนธิ แต่ก็ไม่ได้เข้าไปประชิดตัว โดยนายโกวิทย์ ธารณา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่า “ท่านเป็นชายชาติทหารหรือไม่ เสนอเรื่องปรองดองเข้ามาก็มีแต่เรื่องวุ่นวาย เขาถามเรื่องบันทึกรายงานการประชุม ท่านก็ไม่ตอบ ไม่รับผิดชอบอะไรเลย แล้วท่านจะนั่งเป็นประธานกมธ.ทำไม” จนนายสมศักดิ์ได้ประกาศขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ ขณะที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย คือนายชวลิต วิชยสุทธิ์ นายชูวิทย์ กุ่ยพิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยพยายามเข้าไปพูดคุยกับพล.อ.สนธิ ส่วนส.ส.พรรคภูมิใจไทยได้เดินออกนอกห้องประชุมไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเปิดประชุมอีกครั้งความวุ่นวายก็ยังไม่สงบ จนนายสมศักดิ์ต้องขอร้องให้ทุกคนนั่งลง และยอมให้กมธ.ปรองดองฯ ได้มีการตอบคำถามของนายอภิสิทธิ์ และขอให้นายอภิสิทธิ์ในฐานะผู้ถามได้ให้ความร่วมมืออยู่ในความสงบด้วยทำให้นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังพูดไม่จบประธานก็ปิดไมค์ แล้วจะให้ลงมติ ทำไมไม่เปิดโอกาสให้ตนได้แสงความคิดเห็นก่อน สิ่งที่ตนถามเป็นคำถามง่ายๆ ที่ประธานกมธ.ปรองดองฯ เป็นผู้เซ็นต์ญัตติเข้าสภาต้องตอบ ถ้าตอบไม่ได้ก็พิจารณาไม่ได้เลย ดังนั้น อยากให้ถอนกลับไปจนกว่ารายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่กมธ.เห็นชอบจริง ไม่ใช่รายงานเถื่อน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้เลื่อนเรื่องที่มีการพิจารณาอยู่ แต่นายสมศักดิ์แย้งว่าจะเสนอญัตติซ้อนไม่ได้ เพราะขณะนี้มีการเสนอญัตติให้เลื่อนหรือไม่เลื่อนเท่านั้น ทำให้นายอภิสิทธิ์ ตอบโต้ว่า ญัตติก่อนหน้านี้ขอให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม แต่ของตนเสนอให้เลื่อนญัตติซึ่งตามข้อ 32 (4) คือขอให้เลื่อนการพิจารณาญัตติของนพ.ชลน่าน

ขณะที่นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประธานสามารถให้ลงมติว่าจะให้เลื่อนหรือเปลี่ยนระเบียบวาระก็ได้ อยู่ที่ประธาชนจะพิจารณา ซึ่งประธานเห็นว่า เมื่อที่ประชุมยังตกลงกันไม่ได้ จึงได้สั่งให้มีการพักการประชุมอีก 10 นาที

ต่อมาเมื่อเปิดประชุมมาอีกครั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่เจรจากับวิปรัฐบาล เพราะในสถานการณ์นี้ไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์จนกว่าประธานกมธ.ปรองดองฯ จะได้ตอบคำถามของผู้นำฝ่ายค้าน และคำตอบต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง ว่ารายงานฉบับที่นำเสนอสู่รัฐสภาเป็นรายงานฉบับที่ชอบ หรือเป็นรายงานเถื่อน เพราะถ้าเป็นรายงานเถื่อนญัตติให้เลื่อนมาพิจารณาก็เท่ากับเป็นญัตติขอเลื่อนรายงานเถื่อนขึ้นมาพิจารณา แล้วจะเอาของเถื่อนขึ้นมาพิจารณาได้อย่างไร ประธานให้รวบรัดให้มีการลงมติ และไม่ให้มีการตอบคำถามเพราะจำนนต่อคำถามใช่หรือไม่ และผู้เสนอให้เลื่อนญัตติไม่เคยให้เหตุผลเลย นอกจากคำว่าจำเป็น ทั้งที่มีคำถามมากมายว่าเลื่อนทำไม เร่งด่วนตรงไหน เลื่อนเพื่อใคร ประเทศได้ประโยชน์อะไร และญัตติที่ขอเลื่อนขึ้นมาคือ ญัตติชื่อปรองดอง ซึ่งปรองดองแต่ชื่อ แต่เนื้อหาไม่ได้ปรองดอง ที่สุดผลที่จะตามมาจะไม่นำไปสู่ความปรองดอง เพราะผลของญัตตินี้จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยาการประชุมเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง จากนั้น พล.สนธิ ได้ลุกขึ้นชี้แจงโดยยืนยันว่าเข้ามาเป็นประธานด้วยตนเอง ไม่มีใครชักชวนเข้ามา และร่ายยาวถึงอดีตความเป็นมาเป็นทหารบ้านนอก มีโอกาสทำหน้าที่สำคัญๆ หลายคนบอกตนว่าที่ผ่านมาเคยชื่นชม วันนี้หมดแล้ว ไม่เป็นไร ทุกคนจะได้รู้จักแก่นแท้ของตนที่ยังไม่ทราบ ตนเห็นบ้านเมืองมีความแตกแยกครั้งแล้วครั้งเล่า ตนวางคออยู่บนเขียงมีใครรับผิดชอบหรือไม่ ผู้ใหญ่ในฝ่ายค้านรู้ดี ตนอาสามาทำ ความขัดแย้งไม่หยุด ตนเองมาถึงวันนี้เพราะผู้นำประเทศแต่ละคนมีความตั้งใจทำสังคมให้เป็นสังคมแห่งความรักหรือไม่ ผ่านมา 5 นายกฯ วันนี้บ้านเมืองก็ยังเป็นอยู่แบบนี้ ตนเข้ามาในสภา ภาพที่เห็นในวันนี้เป็นสิ่งที่ตนบันทึกไว้ หลายคนมีการถ่ายรูป ถามว่าประชาชนข้างนอกกำลังมองอะไรอยู่ ตนเสียใจที่คนไทยเห็นตนและสมาชิกกำลังทำอะไรกันอยู่ ตนยืนยันเสมอว่าความขัดแย้งเกิดจากในสภาและขยายไปข้างนอก

พล.อ.สนธิ กล่าวต่อว่า ตนไม่ใช่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ประโยชน์ที่ตนจะทำขึ้นอยู่กับประชาชน ทุกอย่างที่ตนทำมามีขั้นตอน เพราะตนต้องรับผิดชอบ ตนรักอยากเห็นประเทศไทยเดินไปข้างหน้าด้วยความปรองดอง สิ่งที่ทำมาด้วยเกียรติศักดิ์สรีความเป็นคนไทยบางคนคิดว่าสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอมากลายเป็นเครื่องมือให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งในรายงานสถาบันพระปกเกล้าก็บอกแล้วว่าไม่ใช่วิธีการที่ดีสุด ซึ่งกมธ.ปรองดองเราไม่มีสิทธิไปแก้ไข เพราะมันเป็นเชิงวิชาการที่เขาทำมา ส่วนจะเอาหรือไม่เอาอยู่ที่สภาฯ จะใช้วิจาณญาณ ซึ่งรายงานเล่มนี้มีคนคิดต่างมุม แต่ในเชิงวิชาการจะผิดได้อย่างไร จะเอาหรือไม่เอาขึ้นอยู่กับสภาเท่านั้นเอง เรามีหน้าที่ไปอ่านรายงานของสถาบันพระปกเกล้าเอาหรือไม่เอาก็เป็นหน้าที่เรา เอกสารทั้งหมดต้องส่งสภา ใครจะเห็นอย่างไรก็ส่งประกบตามไปได้ ไม่มีปัญหา

ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบโต้ว่า พวกเราที่ตั้งใจมาเป็นนักการเมืองอาชีพเรามีอุดมการณ์ของเรา พล.อ.สนธิเมื่อตัดสินใจมาเดินเส้นทางนี้ มีเจตนาดีก็อยากจะปรึกษา เพราะอาจจะเข้าใจผิดบางอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ จากที่ตนได้อ่านรายงานของสถาบันพระปกเกล้ามาหลายรอบ ประธานต้องเข้าใจว่าเราไม่มีสิทธิไปพิจารณางานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า แต่มีหน้าที่พิจารณารายงานของกมธ. ซึ่งเป็นคนละอันกัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการไปลงมติใส่เลยว่ากี่เสียง การที่ตนตั้งคำถามไม่เกี่ยวกับสถาบันพระปกเกล้า การที่ท่านไม่ตอบว่าการประชุมคตรั้งใดที่มีการเห็นชอบรายงานที่เสนอเข้าสู่สภา ประชุมเมื่อไร วันที่เท่าไหร่ มาบอกว่าความขัดแย้งเกิดจากฝ่ายการเมือง

“หากไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งถอนรายงานไปทำให้ถูกต้อง เชิญเรากลับไปพูดคุยกันใหม่ นั่นคือการปรองดอง ถ้าจริงใจอยู่ตรงนี้ลุกขึ้นเลย ยอมรับเลยว่านั่นคือหนทางที่จะแก้สิ่งนี้ หากเปิดใจกว้างว่าจะทำตามเจตนารมย์ของพระปกเกล้าในการที่จะให้มีการเสานเสวนา เราจะช่วยกันทำ กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกก็จะกลับไปทำงานกับท่าน แต่หากท่านเปลี่ยนเจตนารมณ์ของกมธ.และเปลี่ยนเจตนารมณ์ของคณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้าและบอกว่าโยนให้เป็นเรื่องของเสียงข้างมากในสภา ตั้งแต่ว่าจะอนุญาติให้สภาฯ พิจารณาหรือไม่ ไปจนถึงให้ลงมติด้วยเสียงข้างมากว่าเห็นชอบกับรายงานหรือไม่ ท่านก็จะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งรอบใหม่ มันไม่มีประโยชน์ เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้งหมดอยู่ที่ท่าน แต่หากยังไม่สามารถตอบคำถามได้กระบวนการที่จะเดินจากนี้ก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง” นายอภิสิทธิ์กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น