xs
xsm
sm
md
lg

ถกแก้ รธน.วุ่น “เทือก-ตู่” ปะทะเดือด “หมอเจตน์” เตือนถูกตีความล้มระบอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ถกแก้ รธน.วันที่ 2 วุ่น หลัง ส.ส.เพื่อไทย จุดประเด็นโยงแก้ รธน.ถึงการสั่งฆ่าประชาชน สลายการชุมนุมแก๊งเสื้อแดง ทำ “เทพเทือก-จตุพร” ลุกขึ้นปะทะคารมเดือด ต้องพักประชุม 15 นาที ขณะที่ ส.ว.ทั้งหนุนและค้าน แก้ รธน.ชี้ เสี่ยงถูกตีความล้มระบอบ “หมอเจตน์” เชื่อ มีรื้อองค์กรอิสระ ตุลาการ ขู่หากใช้ ส.ส.ร.มีคนส่งตีความขัด รธน.แน่ ด้าน “ส.ว.พัทลุง” หนุนแก้แต่ต้องไขก๊อกทั้งกระบิหากมีฉบับใหม่ “สมชาติ” แนะเพิ่ม ส.ส.ร.เป็น 150 คนเพื่อความหลากหลาย “ทนายวันชัย” ชี้นักการเมืองดูถูกตัวเองยืมมือ ส.ส.ร.รื้อ กม.สูงสุด หวั่นใช้ “นช.แม้ว” เป็นตัวตั้งบานปลายแน่ สวน “เหลิม” ถ้าไม่แก้จะตายไหม

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังการอภิปรายโดย "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" และ "นายจตุพร พรหมพันธุ์"  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ. .... ยังคงมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาที่ระบุถึงกระบวนการที่ได้มาซึ่งองค์กรใช้อำนาจอธิปไตย และคนในองค์กรอิสระขาดความเชื่อมโยงอำนาจของประชาชน ขัดหลักประชาธิปไตย ขาดการถ่วงดุลอำนาจ ก่อให้เกิดความเสียหายเรื่องความยุติธรรม และเกิดการเลือกปฏิบัติ จึงเชื่อเช่นเดียวกับหลายคน ว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระและองค์กรตุลาการอย่างแน่นอน

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 291 ในรัฐธรรมนูญ ระบุให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นไปได้ยาก เพราะหากทำได้ง่าย เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วก็จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีก ที่ผ่านมาประเด็นนี้คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมือง ที่มี นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ระบุถึงข้อบกพร่องในรัฐธรรมนูญ และต้องแก้ไขใน 6 ประเด็น มีการแก้ไขในส่วนมาตรา 190 เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญากับต่างชาติไปแล้ว ยังคงเหลืออีกหลายมาตรา เช่น ที่มา ส.ว.และการยุบพรรค ข้อห้าม ส.ส.เป็นเลขารัฐมนตรี หรือห้าม ส.ส.การแทรกแซงการบริหารราชการ หากต้องการแก้ไขประเด็นเหล่านี้ ก็สามารถแก้ไขได้ทันทีตามมตรา 291 และจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่กรณีที่ให้เขียนใหม่ทั้งฉบับ สุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 และ 28 วรรคหนึ่ง เป็นการฉีกทิ้ง และปฏิวัติเงียบ

“ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับนี้ เป็นการเขียนล้อมาจากมาตรา 211 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ บรรยากาศช่วงดังกล่าวต่างกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เนื่องจากสมัยปี 2534 ประชาชนต้องการปฎิรูปทางการเมือง และไม่มีใครส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีที่ไม่มีใครส่งตีความไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในครั้งนี้ ส.ส.ผู้สนับสนุนร่างแก้ไขอาจเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนตามมาตรา 270 ได้” นพ.เจตน์ ระบุ

ขณะที่ นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง กล่าวสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูยที่มีต้นตอมาจากการรัฐประการ โดยเสนอว่า หากรัฐสภามอบอำนาจกฎหมายสูงสุดให้ประชาชน แล้วต้องให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อไปเลือก ส.ส.ร.ที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด นอกจากนั้นแล้วต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบการทุจริตให้มีความเข้มข้น เพื่อรักษาประโยชน์ให้ประเทศชาติ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ส.ส. ส.ว.และองค์กรอิสระต้องลาออกพร้อมกัน เพื่อเปิดให้มีการหาใหม่ เข้าไปสู่กติกาของรัฐธรรมนูญใหม่ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม อภิปรายตอนหนึ่งตำหนิผู้ที่ออกที่เปิดเผยว่า มี ส.ว.เลือกตั้งเตรียมเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแลกกับผลประโยชน์ โดยกล่าวว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ที่กล่าวหาสมาชิกด้วยกัน แทนที่จะตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญ 50 มีปัญหาหรือไม่ เพราะอย่างเจ้าของและผู้ที่ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มากับมือตัวเอง ยังร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเลย แสดงให้เห็นว่า มีข้อผิดพลาดในโครงสร้างอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นลักษณะศาลเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ซึ่งไม่ถูกตามลักษณะของระบบตุลาการ ผู้พิพากษาบางคนที่มีใจเป็นธรรมก็ยังไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามตนอยากเสนอให้เพิ่มจำนวน ส.ส.ร.เป็น 150 คน เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น และควรใช้เวลา 1 ปีในการยกร่าง เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

จากนั้น นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขได้หากมีส่วนใดบกพร่อง หรือเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน หลายคนกล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่มีฉบับใดที่สมบูรณ์ที่สุด ย่อมมีจุดอ่อน จุดดี และจุดแข็งอยู่ในตัวทั้งนั้น เมื่อเราได้ใช้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหามาแล้วระยะหนึ่ง ก็สามารถแก้ไขได้ แต่ในความเป็นจริงได้มีการระบุวิธีแก้ไขไว้แล้วในมาตรา 291 โดยคณะรัฐมนตรี ส.ส.หรือ ส.ว.ซึ่งเป็นผู้ใช้และรู้เรื่องรัฐธรรมนูญดีที่สุดเป็นผู้แก้ไข การจะให้ ส.ส.ร.มาแก้ไขจะรู้ดีกว่า ส.ส.หรือ ส.ว.ได้อย่างไร ถือเป็นการรังเกียจและดูถูกตัวเอง หวังใช้ผู้อื่นมาเป็นเกราะกำบังตัวเอง เป็นการปัดความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง เข้าทำนองคนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง ไม่ต่างจากโลงศพที่คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ

“เมื่อท่านเป็นผู้ใช้เอง แล้วจะโยนภาระให้ผู้อื่นได้อย่างไร หรือเมื่อเกิดอาการคันขึ้นมาเองก็ควรที่จะเกาเอง ไม่ควรให้คนอื่นมาเกา นอกจากจะมีอำนาจแฝงอยู่ที่ชี้ได้ว่าให้เกาตรงไหน ต้องบอกว่าผิดฝาผิดตัว เพราะ ส.ส.ร.99 คนเป็นผู้วิเศษ หรือเป็นเทวดามาจากไหน จะรู้ดีเท่ากับ ส.ส. ส.ว.หรือคณะรัฐมนตรีได้อย่างไร วันนี้เรามี ส.ส.และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็น ส.ว.สรรหา รวมแล้วไม่น้อยกว่า 650 คน คนเหล่านี้มีความรู้ครบถ้วนรอบด้าน และเป็นผู้ใช้กฎหมายเองโดยตรง ด้อยกว่า ส.ส.ร.99 คนอย่างไร ที่สำคัญรั ฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ ส.ส.ร.เป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าจะเป็นประเด็นที่ต้องตีความกันต่อไป”

ส่วนกรณีที่อ้างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลไม้ผิดมาจากการรัฐประหารนั้น นายวันชัย กล่าวว่า หากใช้เหตุผลดังกล่าว เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ก็ควรที่จะต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ทั้งหมด ต้องลาออกไปกันให้หมด อีกทั้งมีคำกล่าวที่ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างท่ามกลางความเกลียดชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนฉบับใหม่ที่จะร่างขึ้นนี้จะเกิดท่ามกลางความรัก พ.ต.ท.ทักษิณ ตนเห็นว่าหากนำความรักความเกลียดมาเป็นตัวตั้ง เชื่อว่าบรรยากาศความรักความเกลียดนี้จะบานปลายมากขึ้น ไม่แน่ใจว่าวันหนึ่งจะเอาอยู่หรือไม่

“แล้วที่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวไว้ว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ใครจะเป็นจะตายหรือไม่ ผมก็อยากถามกลับว่า ถ้าไม่แก้ไข จะมีใครเดือดร้อนหรือไม่ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ประชาชน เดือดร้อนหรือไม่ ผมไม่เห็นว่า มีใครเดือดร้อน แต่ก็เห็นด้วยที่จะแก้ไข เพียงแต่ไม่เห็นด้วยต่อวิธีการแก้ไข” นายวันชัย กล่าว

ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ลุกขึ้นตอบโต้ว่า พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข เพราะมิเช่นนั้นก็คงจะไปลงพื้นที่ พบปะประชาชนไม่ได้ ต่างจาก ส.ว.บางคนที่ได้รับการแต่งตั้ง จึงไม่ต้องไปลงพื้นที่หาเสียงหน้าดำเหมือนพวกตน

ส่วน นางรสนา โตสิตระกูล อภิปรายต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เท่าดับเป็นการรื้อใหม่ทั้งฉบับ และเป็นการถ่ายโอนอำนาจให้แก่ ส.ส.ร.โดยสิ้นเชิง โดยไม่มีการกำหนดกรอบโครงร่างไว้อย่างไร ก็ไม่ต่างจากที่ผู้เปรียบเทียบไว้ว่าเป็นการเซ็นเช็คเปล่า อีกทั้งตั้งข้อสังเกตว่า การใช้เวลาเพียง 180 วันในการยกร่างนั้น น่าจะสามารรถเรียกได้ว่า เป็นประชาธิปไตยจานด่วน รวมไปถึงที่มาของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ต่างจากนักการเมือง ส.ส.หรือ ส.ว. ดังนั้น ควรจะใช้สภาเป็นผู้แก้ไขจะดีกว่า

นางรสนา กล่าวต่อว่า มีความพยายามกล่าวอ้างว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชิปไตยมากขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ จะนำไปสู่การลบล้างความผิดทางอาญาของบางบุคคล หรือไปสู่การผูกขาดทางการเมืองหรือไม่มากกว่า นายปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวไว้ว่า การกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนสำคัญประชาธิปไตยทางการเมือง เพราะคนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจสามารถใช้อำนาจทางประชาธิปไตยได้ดีกว่า แต่รัฐบาลไม่สนใจในการส่งเสริมการกระจายอำนาจเศรษฐกิจให้กับประชาชน แต่กลับอุ้มคนรวย แล้วค่อยช่วยคนจน ทำให้มีช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนสูงถึง 15 เท่าในปัจจุบัน จริงอยู่รัฐบาลได้รับการเลือกเข้า 15 ล้านเสียง จึงมีความชอบธรรมในการยกร่างรัฐธรรมนูญตามที่หาเสียงไว้ แต่ก็อย่าลืมว่าพรรคเพื่อไทยก็ได้หาเสียงว่าจะกระชากค่าครองชีพ ลดราคาพลังงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้กลับตรงกันข้าม รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง มากกว่ามุ่งที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายดำเนินไปจนถึงเวลา 13.00 น.พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภา ต้องสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที หลังจากที่ไม่สามารถควบคุมสมาชิกรัฐสภา ที่ถกเถียงกันนอกประเด็นการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยบรรยากาศดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อ นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี อภิปรายว่า จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพราะมาจากรัฐธรรมนูญที่ทหารทำการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ทำให้มีการเสียเลือดเนื้อ มีคนตายของประชาชน และเป็นที่มาของเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิต

ทำให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้สิทธิ์พาดพิง และยืนยันว่าไม่ได้ออกคำสั่งให้ทหารสังหารประชาชน พร้อมพิสูจน์ความจริงตามกระบวนการกฎหมาย พร้อมกล่าวว่า ผู้สียชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายคนชุดดำ

จากนั้น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นตอบโต้ ว่านายสุเทพยืนยันได้หรือไม่ว่า ทุกศพที่ตายไม่มีใครอยู่ในกองไฟ ทุกศพตายในสภาพมือเปล่า การตายทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนเผาเซ็นทรัลเวิลด์ พวกคุณฆ่าแล้วเผา ช่วงที่นายสุเทพเป็นรัฐบาลพยายามดึงคดีไว้ไม่ให้ชันสูตรศพเป็นเวลา 19 เดือน มีรายงานว่ากระสุนปืนที่ใช้ไปทั้งหมด 1.2 แสนนัด นายสุเทพจะรับผิดชอบอย่างไร

นายสุเทพ จึงลุกชี้แจงอีกครั้งว่า ขอยืนยันว่า ตนไม่ได้ดึงคดีไม่ให้มีการชันสูตรศพ และไม่เคยแทรกแซงคดีในกระบวนการยุติธรรม ที่บอกว่า พวกตนฆ่าแล้วเผาเป็นการใส่ร้าย แต่วันนี้พวกเผาบ้านเมืองได้เป็นเสนาบดี เมื่อมีอำนาจแล้ว จะทำอะไรก็เชิญ ตนพร้อมพิสูจน์ความจริง ไม่หลบหนีไปต่างประเทศ ไม่ต้องการกฎหมายนิรโทษกรร,เมื่อ นายสุเทพพูดจบ นายจตุพรพยายามลุกขึ้นมาพูดอีกครั้ง ทำให้นายสุเทพรีบประท้วงต่อ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมว่า นายจตุพรไม่มีสิทธิขึ้นมาพูด เพราะไม่มีการพาดพิงให้นายจตุพรเสียหาย แต่นายจตุพรพยายามจะพูดต่อ จึงเกิดการปะทะคารมกับนายสุเทพ และเหตุการณ์ทำท่าจะวุ่นวาย เมื่อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พยายามยกมือประท้วงกันไปมา จนเป็นเหตุให้ พล.อ.ธีรเดช สั่งพักการประชุม ก่อนที่จะเปิดการประชุมอีกครั้งในเวลา 13.15 น.โดยที่ นายจตุพร กล่าวว่า ไม่ติดใจ เพราะได้รับการร้องขอมาจากวิปรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น