xs
xsm
sm
md
lg

ปรับมุมมองรับมือAEC เร่งหารุ่น2-เรียนรู้วัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระแสการปรับตัวเข้าสู่การเป็นเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น บ้างก็ว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล บ้างก็บอกว่าเป็นโอกาส แต่อย่างไรก็ตาม โดยท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งนี้อย่างหนี้ไม่พ้น...ล่าสุด บริษัท ดีลอยท์ ทูช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการการลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ใน 4 ของโลก ได้มาเปิดเผยข้อมูลลูกค้าซึ่งมีทั้งบริษัทไทย และบริษัทข้ามชาติที่ลงทุนในประเทศไทย ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือต่อAEC ในปี 2558 ว่ามีความคืบหน้าเพียงใด สิ่งใดที่เป็นอุปสรรค และสิ่งใดที่ถือเป็นโอกาส

สุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ในไทย  กล่าวว่าที่ผ่านมา ดีลอยท์เริ่มเห็นลูกค้าหลายรายมีการปรับตัว ปรับองค์รองรับเรื่องนี้แล้ว แต่ยังพบอีกหลายบริษัทที่ยังไม่รู้จะทำอย่างไร มองไม่ออกว่า AECเป็นโอกาสอย่างไร จะปกป้ององค์กรของตนเองอย่างไร จุดนี้ภาครัฐควรเร่งเข้ามาทำความเข้าใจมากขึ้น

“บริษัทเอกชนควรทำเข้าใจถึงการเปิดตลาดจาก60 ล้านคนเป็น 10 เท่า หรือ 600 คนมากขึ้น ควรมองถึงโอกาสที่เพิ่มมากขึ้น หากตั้งใจจะขยายธุรกิจออกไป ต้องทำให้ผู้บริหารระดับบนเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องแรงงานต่างชาติ ผู้บริหารต่างชาติ ภาษาและวัฒธรรม อีกทั้งความเตรียมความพร้อมในด้านระบบและเงินลงทุน ซึ่งในปี 2015 เราจะได้เห็นบางอุตฯโตและแข็งแกร่ง แต่บางอุตฯโตไม่ได้เพราะขาดความพร้อม”
 

ชวาลา เทียนประเสริฐกิจ พาร์ทเนอร์บริการด้านการตรวจสอบบัญชี ดีลอยท์ฯ กล่าวว่า เทรนด์ธุรกิจกำลังเปลี่ยนไปจากเดิมสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จะเป็นผู้ลงทุนหลัก แต่5ปีที่ผ่านมาและอีก 5ปีข้างหน้า ดุลยภาพใหม่เกิดขึ้น เอเชียกำลังจะกลายเป็นจุดที่น่าสนใจของทั่วโลก รวมถึงAEC ทำให้ตลาดกำลังเป็นของคนเอเชีย

บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของไทยมองว่า ตลาดโตขึ้นมาก ตอนนี้ พวกธุรกิจวัสดุก่อสร้าง คอนซูมเมอร์โปรดักส์ พลังงาน ต่อไปน่าจะเป็นกลุ่มอาหาร เริ่มขยับออกไปทำธุรกิจในภูมิภาคนี้มากขึ้นแล้ว เช่นในอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และล่าสุดเริ่มการพูดถึงพม่า ขณะเดียวกันการออกไปนอกประเทศ ยังเป็นเรื่องของ Material หรือวัตถุดิบเพื่อนำกลับเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า

นอกจากนี้ตัวเคลื่อนย้ายอีกปัจจัยคือเงินลงทุน เห็นได้จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องกระดานหุ้นอาเซียน การจดทะเบียนบริษัท2ตลาด แบบดูอัลลิสต์ติง้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ การไหลของบุคลากร แรงงาน ตลาด วัตถุดิบ จะมีการไหลเวียนในอาเซียนมากขึ้น

โดยวิธีที่ใช้ในการลงทุนต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยคือ การเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการเพื่อที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เลย การเข้าทำธุรกิจเองง หรือร่วมลงทุน มองว่าแต่ยังไม่มากนัก อย่างไรก็ตามความท้าทายเวลาลงทุนคือการติดตามและการกำกับดูแล เมื่อตลาดเปิดกว้างองค์กรจะทำอย่างไร ซึ่งบางทีความพร้อมยังไม่มี ที่ผ่านมาการล่มสลายของหลายองค์กรก็เกิดขึ้นเพราะแบบนี้

ส่วนสถาบันการเงินของไทยกับ AEC มองว่าธนาคารในไทยมีการเตรียมพร้อมแล้วทั้งในแง่ความสามารถและศักยภาพแข่งขัน จึงมองว่าเซคเตอร์ที่แข็งแกร่งที่สุดของไทยในตอนนี้ แต่การเข้าสู่AEC ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละธนาคาร บางแห่งขยายตัวไปต่างประเทศบ้างแล้ว แต่บางธนาคารยังทุ่มตลาดในประเทศ เพราะมองว่ายังไม่ถึงจุดอิ่มตัว

อภิรักษ์ จาตุกัญญาประทีป พาร์ทเนอร์บริการด้านธุรกิจที่ปรึกษา ดีลอยท์ กล่าวว่าAEC ที่มีผลในปี 2015 นั้นแบ่งผู้ประกอบการไทยในทุกอุตสาหกรรมออกเป็น 2 พวก พวกหนึ่งมองว่าเป็นโอกาส จะรุกมาเตรียมตัวเพื่อขยายธุรกิจ อีกพวกมองเป็นผลกระทบต่อการทำธุรกิจของเขา
ฝั่งที่มองว่าเป็นโอกาส จะให้ความสำคัญๆหลัก คือ การบริหารจัดการทรัพยากรด้านบุคลากร เขามองว่าวันนี้เรื่องของแรงงานที่มีฝีมือจะเห็นว่ามีการไหลข้ามประเทศมากขึ้น บริษัทไทยหลายแห่งที่เริ่มทำธุรกิจในต่างประเทศ ได้กลับมารายงานผู้บริหารระดับสูงว่า วันนี้หากต้องการให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ผู้บริหารต้องเข้าใจในเรื่องของความแตกต่างของแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องของวัฒนธรรม และภาษา ตอนนี้หลายองค์กรเริ่มให้โอกาสคนต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วม และสร้างความผูกพันองค์กรให้แก่พวกเขา

อีกเรื่องที่กังวลมากคือ การสร้างผู้นำรุ่นที่2 ให้กับองค์กรเพื่อเป็นแขนขาในการขยายธุรกิจออกไปสู่ต่างประเทศ ข้อนี้พบว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะหลายบริษัทในเมืองไทยยังไม่สามารถสร้างคนประเภทนี้ขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจได้ทัน จึงนับเป็นปัญหาใหญ่
 

“ตอนนี้หลายแห่งผู้บริหารระดับสูงได้ระบุตัวผู้บริหารระดับรองลงมาที่มีความสามารถ หรือเชื่อว่าจะเติบโต แล้วดึงเอามาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้บริหารระดับสูงไปด้วย ซึ่งรูปแบบการฝึกอบรมก็จะไม่มีการส่งไปฝึกงานที่ต่างประเทศเพียงอย่างเดียวแล้ว เราจะเริ่มเห็นการพัฒนาบุคลกรของบริษัทในเมืองไทยเปลี่ยนไป และเมื่อเห็นว่าพร้อมก็จะส่งผู้บริหารรุ่นใหม่เหล่านี้ไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น”

เรื่องต่อมาคือ เทคโนโลยี ทุกวันนี้ธุรกิจองค์กรที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มาจากการเน้นเอาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้ดำเนินธุรกิจในองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ หรือเอาเทคโนโลยีมาเป็นกระดูกสันหลังของโมเดลในการดำเนินธุรกิจกันมากขึ้น เช่นเดียวกับ CSR ซึ่งเดี๋ยวนี้ หลายธุรกิจปรับตัวรับเรื่องนี้ โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือทำธุรกิจเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันเล่นๆเหมือนที่ผ่านมา..อีกปัจจัยคือการวางแผนเรื่องพลังงาน การจะสร้างโรงงานใหม่ขึ้นมาหลายองค์กรให้ความสำคัญต่อพลังงานที่จะนำมาใช้ในโรงงงานมากขึ้น

“ผู้บริหารระดับสูงควรเปิดกว้างรับคนที่แตกต่างด้านวัฒนธรรม ต่างภาษามากขึ้นเพราะทุกวันนี้โลกมันไม่มีพรมแดน ในการที่องค์กรมีผู้นำ หรือพนักงานหลากหลายเชื้อชาติดูจะเป็นประโยชน์ต่อการก้าวออกไปสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะความสามารถในการใช้ภาษาและวัฒนธรรมที่ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ สำหรับธุรกิจระดับกลาง หรือเอสเอ็มอี .....ก็ควรต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกิจ เพราะต่อไปจะไม่ได้ทำขายหรือสนองตอบแต่เฉพาะในประเทศแล้ว เขาจะต้องเข้าใจในวิธีการทำธุรกิจเพื่อสนองตอบต่อคนในประเทศอื่นๆ วัฒนธรรมอื่นๆ ภาษอื่นๆที่อยู่ในอาเซียนด้วย

เอาง่ายๆแค่ภาษาอังกฤษ ประเทศไทยเองต้องยอมรับว่าเรามีข้อเสียเปรียบ รวมถึงภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่า วันนี้คนพม่าจำนวนมากฟังภาษไทยรู้เรื่อง แต่คนไทยน้อยคนนักจะเข้าใจภาษาพม่าได้ คนเขมรจำนวนมากฟังไทยพูดไทยได้ แต่คนไทยน้อยมากที่จะรู้ ดังนั้นพื้นฐานภาษาของคนไทยเป็นเรื่องต้องปรับอีกเยอะ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องมองการณ์ไกลต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น