xs
xsm
sm
md
lg

“AEC วิกฤตเป็นโอกาสของ SME ไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “คู่คิดธุรกิจ”
โดย บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด

ปี 2558 “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC” ที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนิเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมกันเป็นหนึ่งเดียวคล้ายกับ “สหภาพยุโรป (EU)” นี่จึงเป็นทั้ง “โอกาส” และ “วิกฤติ” สำหรับภาคธุรกิจในไทย

ในช่วงที่ผ่านมาในหลายเวทีสัมมนาเพื่อเตรียมภาคธุรกิจก้าวเข้าสู่เวที ACE นั้น แนวทางในเบื้องต้นสามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ 1) สนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ที่ก้าวสู่การดำเนินธุรกิจระดับโลกให้เติบโตและแข่งขันในเวทีโลกได้ 2) สนับสนุนให้ธุรกิจที่มีความสามารถแข่งขันสามารถที่จะแข่งขันต่อไปได้ 3) สนับสนุนให้ธุรกิจที่ไม่สามารถจะแข่งขันในเวทีระดับอาเซียนให้เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่สามารถจะแข่งขันได้ และ 4) ในส่วนของธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้และปรับตัวเองไม่ได้อาจจำเป็นต้องปล่อยให้ล้มหายตายไปในที่สุด

ในขณะที่ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนเพื่อให้เกิด ACE ที่จะตามมาด้วยการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี แรงงานเสรี ทุกอย่างจะขยับมาแข่งขันกันบนสเกลที่ใหญ่ขึ้นในระดับ “อาเซียน” ในส่วนที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ของไทยเป็นเรื่องที่หลายๆท่านผู้รู้ไม่กังวลในประเด็นนี้เท่าไรนัก เพราะมีการเตรียมพร้อมและขยายธุรกิจไปในต่างประเทศมานานแล้ว ที่เห็นได้ชัดก็ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มผู้ส่งออกอาหาร หรือแม้กระทั่งกลุ่มค้าปลีกพวก Consumer Product

แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ “ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME)” เพราะจากการทำงานในฐานะที่ปรึกษาของดีลอยท์กับลูกค้ากว่า 1000 ราย พบว่า ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเตรียมตัวรับการเปิดประชาคมอาเซียนที่กำลังเกิดขึ้นนี้เลย ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดของ “สภาหอการค้าไทย” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้จะมี SME ไทยหลายรายมีความสามารถในการผลิต แต่ยังขาดประสบการณ์ในด้านการตลาดและการเงิน ซึ่งยากที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้าได้

การมองสเกลธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นจาก “ระดับประเทศ” เป็น “ระดับอาเซียน” ย่อมทำให้แนวคิดและมิติในการดำเนินธุรกิจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนตามเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการเตรียมคนที่มีความสามารถ และการรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงทั้งในมิติที่เป็น “ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk)” ตลอดจนความเสี่ยงในด้านการเงินที่จะติดตามมาไม่ว่าจะเป็น “ความเสี่ยงจากตลาด (Market Risk)” ที่ประกอบด้วย ความเสี่ยงจากราคา (Price Risk) , ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Risk)” และ “ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk)” ไม่เพียงเท่านี้ยังมี “ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง (Liquidity Risk)” ตลอดจน “ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk)” ด้วยเช่นกัน

ในปีที่ผ่านมา ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้เรียนรู้ที่จะต้องเตรียมการ ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่ยากจะจินตนาการ เช่นเดียวกันนี้ อีกไม่นานเกินรอ “ความเสี่ยง” ที่จะมาผ่านช่องทางของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC” ก็จะเป็นทั้ง “วิกฤติ” สำหรับผู้ที่ไม่เตรียมพร้อม และเป็น “โอกาส” สำหรับผู้ที่มองเห็น เพราะนั่นย่อมหมายถึงโอกาสที่สินค้าและบริการจะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงถึง 600 ล้านคน จากที่เคยจับกลุ่มเฉพาะลูกค้าคนไทย 60 ล้านคน

เมื่อประชาคมอาเซียนถือกำเนิดเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ไม่เพียงตลาดของธุรกิจไทยจะกว้างขึ้นเท่านั้น คู่แข่งก็จะเข้ามามากขึ้นด้วยเช่นกัน การมองหาที่ปรึกษาการลงทุนที่เป็นมืออาชีพอาจเป็นทางออกให้กับธุรกิจ ทั้งหมดคือ การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในทุกสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือเป็นพันธกิจที่ท้าทายของธุรกิจไทยว่าจะยืนได้อย่างไรในเวทีระดับประเทศ และระดับอาเซียน ตลอดจนเวทีใหญ่ในระดับโลก
------------------------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น