xs
xsm
sm
md
lg

ค่าไฟ-แท็กซี่จ่อขยับ-โพลไม่เชื่อ"ปูเอาอยู่"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คนไทยอ่วม ไฟฟ้า-แท็กซี่ จ่อขยับราคาขึ้น หลังน้ำมันพุ่ง ด้านกพช. เล็งขอกู้ 2 หมื่นล้าน หนุกกองทุนน้ำมันอุ้มแอลพีจี “กิตติรัตน์” ยันพยายามคุมราคาสินค้า แม้จะไม่สามารถหยุดราคาน้ำมันได้ ด้านกรุงเทพโพลล์ เผยคนไทยกว่า 61% ไม่มั่นใจรัฐบาล “ปู” จะแก้ปัญหาค่าครองชีพได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดหาเงินให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนฯที่ต้องมีภาระในการชดเชยราคาก๊าซแอลพีจี โดยให้กู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือออกตราสารหนี้จำนวน 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาชำระหนี้ภายใน 3 ปี ขณะที่วงเงินกู้เดิมจำนวน 10,000 ล้านบาทนั้น ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการชำระคืนหนี้เงินกู้จาก 1 ปีเป็น 3 ปี โดยให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพน.) ขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้คืนได้ตามความจำเป็น และเหมาะสมหากกองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องเหลือไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังพิจารณาแนวทางการประหยัดพลังงานของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งการลดการใช้ไฟฟ้า และการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถลดใช้พลังงานได้ 15% คาดว่าจะใช้วงเงินรวมกว่า 6,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังได้สั่งให้กระทรวงพลังงานดำเนินโครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานในอาคารควบคุมภาครัฐ มีโครงการนำร่องการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานของส่วนราชการ 3 แห่ง คือ บริเวณอาคารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยคาดว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นตัวอย่างให้กับภาคเอกชน และประชาชนในด้านอนุรักษ์พลังงานได้เพิ่มขึ้น

โดยคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 75 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี คิดเป็นมูลค่า 1,800 ล้านบาท/ปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 442,000 ตัน/ปี โดยในปี 2555 มีอาคารควบคุมภาครัฐรวม 823 แห่ง ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน 485 แห่ง อาคารโรงพยาบาล 139 แห่ง อาคารสถานศึกษา 180 แห่ง และประเภทอื่น ๆ 19 แห่ง เป็นต้น

*** ราคาน้ำมันพุ่งกระชากราคาสินค้าแพง ***

รมว.คลัง กล่าวต่อว่าปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับขึ้นไปถึง 25% ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้เข้าไปดูแลชดเชยกองทุนน้ำมัน ลดภาษีสรรพสามิต แต่ราคาขายปลีกกลับขยับขึ้นไป ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ที่เกินกว่านั้นรัฐบาลแบกรับไว้เอง อย่างไรก็ตามรัฐบาลยืนยันจะไม่เสริมสร้างมาตรการอะไรที่กระทบต่อประชาชนจนได้รับความเดือดร้อนในขณะนี้ เพียงแต่มาตรการในการดูแลมากกว่านี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความตรึงเครียดในตะวันออกกลาง ไม่ใช่เรื่องที่สามารถดำเนินการได้ง่ายนัก

***ค่าเอฟทีจ่อขยับเพิ่มอีก 30 สตางค์

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคคูเรเตอร์) กล่าวถึงการการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ว่า การคิดค่าเอฟทีงวดต่อไป ระหว่างเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้ มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น 0.30 บาทต่อหน่วย เนื่องจากราคาก๊าซในตลาดโลกอาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเรคคูเรเตอร์ จะติดตามสถานการณ์อีกครั้ง และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งหน้าในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งราคาที่คาดว่าจะปรับขึ้นนั้นเบื้องต้นอาจแก้ปัญหาโดยจะนำเงินที่เหลือ จากการเรียกเก็บจากการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง กรณีที่ผิดสัญญาไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามแผน รวมวงเงินว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยดูแลได้ประมาณ 0.06 บาท

*** โพลไม่เชื่อน้ำยาปูแก้ปัญหาค่าครองชีพได้ ***

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสะท้อนจากประชาชนเรื่องค่าครองชีพในปัจจุบัน” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,203 คน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 76.1 ระบุว่าราคาสินค้าในปัจจุบันมีผลกระทบ ต่อการครองชีพของตัวเองและครอบครัว ขณะที่ร้อยละ 23.9 ระบุว่าไม่มีผลกระทบ โดยร้อยละ 53.2 ระบุว่า มีรายรับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเงินออมออกมาใช้ร้อยละ 22.3 ต้องกู้เงินหรือหยิบยืมเงินจากคนอื่นร้อยละ 16.4 ที่เหลือร้อยละ 14.5 แก้ปัญหาด้วยการพยายามหารายได้เสริมและเพิ่มชั่วโมงทำงาน (OT)

สำหรับวิธีรับมือกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น อันดับแรกคือ ประหยัดให้มากขึ้นร้อยละ 35.5 รองลงมาคือ ซื้อของเท่าที่จำเป็นร้อยละ 23.2 และใช้จ่ายให้น้อยลงโดยลดปริมาณหรือลดจำนวนในการซื้อลงจากปกติ ร้อยละ 16.2 โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน คือราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 36.9 รองลงมาคือ รัฐบาลไม่มีการกำหนดนโยบายและควบคุมราคาสินค้าที่ชัดเจนร้อยละ 14.5 และต้นทุนสินค้าสูงขึ้นร้อยละ 14.0

ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 50.1 ระบุว่ารัฐบาล นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอาใจใส่กับการแก้ปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน ขณะที่ร้อยละ 49.9 ระบุว่าไม่เอาใจใส่ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาค่าครองชีพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ร้อยละ 61.3 ระบุว่า “ไม่เชื่อมั่น” มีเพียงร้อยละ 38.7 ที่ระบุว่า “เชื่อมั่น”

สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการเสนอแนะรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพมากที่สุด คือ ให้ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงไปกว่านี้ร้อยละ 29.3 รองลงมาคือให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่มาดูปัญหาด้วยตนเอง ใส่ใจดูแลเรื่องปากท้องของประชาชนให้มากกว่านี้ ร้อยละ 17.3 และเพิ่มเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำโดยเร็วให้ทั่วถึงกันทั้งราชการและภาคเอกชน ร้อยละ 15.8

**“มาร์ค” จี้ออกมาตรการโครงสร้างให้ชัด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่นายกิตติรัตน์ระบุราคาน้ำมันสูงทำให้ราคาสินค้าแพง จากที่ผ่านมาระบุว่าสินค้าแพงไม่เกี่ยวกับราคาน้ำมัน ว่า รัฐบาลควรจะรับความจริงได้แล้ว หลังจากนั้นจะได้วิเคราะห์ให้ชัดในแง่ของต้นทุนต่างๆ รวมถึงสภาพความไม่แน่นอนและการเก็งกำไรที่เกิดขึ้น และเร่งออกมาตรการเชิงโครงสร้างต้นทุนดีกว่า ตัวไหนที่ทำไม่ได้จริงๆ ก็บอกกับประชาชนจะง่ายที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลไม่มีมาตรการเพียงพอในเดือน เม.ย.ซึ่งมีการปรับขึ้นค่าแรงแล้ว จะยิ่งทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คาดได้ว่าพอต้นทุนแรงงานสูงขึ้นและยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในเชิงโครงสร้างก็ต้องมีการส่งต่อไปยังผู้บริโภค คือประชาชน ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลมีจุดยืนที่ชัดในเรื่องของค่าแรง ใครฝ่าฝืนก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

*** ตั้งกก.ร่วมถกขึ้นราคาแท็กซี่ ***

วานนี้ ( 23 มี.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้เชิญผู้ประกอบการรถแท็กซี่ประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการปรับค่าโดยสารและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ โดยมีนายชินวัฒน์ หาบุญพาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและนายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เข้าร่วม

นายชัชชาติ กล่าวว่า เบื้องต้นตัวเลขต้นทุนของผู้ประกอบการนั้นไม่ตรงกับของกระทรวงคมนาคม ดังนั้นจะต้องปรับแก้ใหม่ให้ถูกต้องที่สุด รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เช่น จำนวนรถแท็กซี่ที่ใช้ LPG และ NGV เป็นเชื้อเพลิงที่ถูกต้องผลกระทบอื่นๆ โดยหลังจากนี้จะให้ผู้ประกอบการตั้งตัวทนเพื่อเป็นคณะทำงานร่วมเพื่อหารือกันในทุกมิติ ก่อนจะพิจารณาปรับคาโดยสาร โดยจะสรุปให้ได้ภายในเดือนเม.ย.นี้

ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงได้คำนวณต้นทุนรถแท็กซี่พบว่ามีรายได้ประมาณกะละ 1,330 บาท มีค่าใช้จ่ายทั้งค่า NGV ค่าเช่ารถรวม 930 บาท เหลือรายได้ 400 บาท หากขึ้นราคา NGV ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งการปรับค่ามิเตอร์นั้น เห็นว่า ควรปรับลดช่วงระยะทางลงน่าจะเหมาะสมและมีผลกระทบน้อยกว่าการปรับเพิ่มค่าแรกเข้ากม.แรกจาก 35 บาทเป็น 40 บาท

ด้านนายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมผู้ขับรถแท็กซี่เพื่อไทยสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเรื่องราคามิเตอร์ก่อน เพราะราคา NGV ที่ปรับขึ้นจะกระทบโดยตรง จากนั้นต้องการให้พิจารณาต่ออายุใช้งานรถ จาก 9 ปีเป็น 12 ปี หรือให้เฉพาะรถส่วนบุคคลส่วนรถของสหกรณ์หรือบริษัทยังคง 9 ปี เป็นต้น ส่วนค่าโดยสาร ควรปรับลดช่วงระยะทางและปรับขึ้นอัตราต่อระยะทาง เช่น เดิม กม.ที่ 2-12 เก็บ 5 บาท เป็น กม.ที่ 2-10 เก็บที่ 9 บาท เป็นต้น โดยคงค่าแรกเข้าที่ 35 บาทไว้เหมือนเดิม

***โชว์ข้อมูลเอกชนแห่ลงทุนอินโดฯ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการที่ย้ายฐานการผลิต ว่า รัฐบาลต้องหาสาเหตุที่หลายบริษัทย้ายเงินทุนไปลงทุนเพิ่มที่อินโดนีเซียแทน ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน วงเงิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป้าการผลิต 2.5 แสนคัน โตโยต้า 337 ล้านดอลลาร์ เป้าผลิต 1.8 แสนคัน ฮอนด้า 320 ล้านดอลลาร์ เป้าผลิต 1.2 แสนคัน จีเอ็ม 150 ล้านดอลลาร์ เป้าผลิต 4 หมื่นคัน ซูซูกิ 780 ล้านดอลลาร์ เป้าผลิต 1.5 แสนคัน รวมเม็ดเงินลงทุนที่ไทยต้องเสียไปรวม 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมีแผนย้ายฐานการผลิต อาทิ ไพโอเนียร์ ได้ปรับแผนกระจายการลงทุนไปยังมาเลเซียและจีนในสัดส่วนร้อยละ 20-30 จากเดิมที่เคยใช้ไทยเป็นฐาน ซันโยเซมิคอนดักเตอร์ ประกาศทิ้งไทยไปขยายฐานการผลิตที่ฟิลิปินส์แทน รวมถึง แคนนอนไฮเทค ได้โอนสายการผลิตหนีจากนิคมฯไฮเทคไปยังเวียดนามและจ.นครราชสีมาเป็นการชั่วคราว

***โตชิบายันลงทุนตามแผนเดิมพันล้านล.

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผยว่า โตชิบายังให้ความสำคัญกับประเทศไทย และวางไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่เช่นเดิม รวมถึงมีแผนลงทุนขยายฐานการผลิตใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่องในทำเลใหม่ที่ไม่โดนน้ำท่วม และจะเช่าคลังสินค้าใหม่ที่ทำเลอื่นเพื่อหนีน้ำท่วม แม้ว่าก่อนหน้านี้โรงานที่สวนอุตสาหรรมบางกะดี ปทุมธานีจะได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก

โดยก่อนน้ำท่วมตามแผนการลงทุนในปีหน้า จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ในการเพิ่มฐานการผลิตสินค้าใหม่ในเขตอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งแผนการลงทุนนี้จะยังคงดำเนินไปตามที่วางไว้ และหลังจากที่ทางโตชิบาได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ทางบริษัทก็ยังมีแผนการลงทุนต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งแผนการลงทุนหลังน้ำท่วมนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น