xs
xsm
sm
md
lg

เค้าลางวิกฤต ‘คนว่างงาน’ ในยุคข้าวยากหมากแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงปีที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยต้องเจอกับวิกฤตมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมือง ภัยพิบัติมหาอุทกภัย กระทั่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากฟากฝั่งยุโรป ล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น

และภาวะการเงินกับการงานของประชาชน ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระทั่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ออกมาแถลงเตือนว่า ต้นปี 2555 แรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้างจากผลกระทบมหาอุทกภัย และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยเลขาธิการสภาพัฒน์ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุว่า สภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมในปี 2554 นั้น การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 การว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 หรือมีผู้ว่างงาน 245,890 คน ขณะเดียวกัน พบแรงงานรอฤดูกาลภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นถึง 190,000 คน และพบว่าแม้การว่างงานจะไม่มาก แต่ชั่วโมงการทำงานลดลง และมีแรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้นปีนี้ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงเรื่องการถูกเลิกจ้างจากภาวะน้ำท่วม และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาท และเปิดเผยถึงยอดตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างกว่า 45,000 คน จากสถานประกอบการ 122 แห่ง ยังสถานประกอบการที่ไม่สามารถเปิดกิจการได้รวม 284 แห่ง ทำให้ลูกจ้างยังไม่ได้กลับเข้ามาทำงานสูงถึง 164,522 คน

และตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าน้อยกว่าความเป็นจริง!

เมื่อมองไปในอนาคตที่หลายคนพูดว่า เศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่พอมองไปที่นโยบายของรัฐบาลทั้งเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ (อย่างกะทันหัน) และมาตรการเยียวยาที่ดูจะหวังไม่ได้ พร้อมทั้งแคมเปญประชานิยมอีกมากมายที่รอท่าเบิกงบประมาณของประเทศ ยิ่งมองไกลไปถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะมาถึงในอีกไม่ช้านี้ ดูเหมือนภาวะ ‘ว่างงาน’ ในสังคมจะไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว

เค้าลางอันน่าหวาดหวั่น

แท้จริงแล้ว อาจจำเป็นต้องย้อนรอยไปดูการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้ นับแต่เริ่มต้นเพื่อดูความเสียหาย หรือกลเกมที่ผิดพลาดเพื่อหาต้นตอ หรือสาเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่าแรกเริ่มของการเข้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยนั้น คือการสร้างกระแสประชานิยม
โดยหลายนโยบายอย่างที่ทราบกันดี คือเมกะโปรเจคท์ระดับเปลี่ยนโฉม แปลงประเทศ พัฒนากันแบบก้าวกระโดด

นโยบายหนึ่งที่ถูกจับตา ทั้งจากฝ่ายที่ได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ กระทั้งประชาชนทั่วไปก็ยังหวั่นว่า อาจได้กินข้าวได้เจียวฟองละ 20 บาท นั่นคือ ‘นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท’

กระทั่งถึงเหตุมหาอุทกภัยซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ภาคธุรกิจเป็นมูลค่ากว่า 800,000 ล้านบาท รวมกับสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจปะทุขึ้นในปี 2555 จึงทำให้บรรดานักลงทุนเริ่มตั้งคำถามกับการลงทุนในประเทศไทย นี้เองที่ทำให้เกิดนโยบายมาตรการเยียวยาภาคอุตสาหกรรมน้ำท่วมขึ้นมาก่อน

มีตั้งแต่การนำบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของนักลงทุนมาร่วมทำงาน อย่าง วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การช่วยเหลือด้านภาษีนำเข้า ถุงยังชีพ เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท การช่วยซ่อมแซมเครื่องจักร (ทว่า 16 กุมภาพันธ์ 2555 โพลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า ภาคธุรกิจยังไม่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 84.4 เปอร์เซ็นต์) รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

แต่ก็ดูจะยังไม่สามารถกู้ภาพลักษณ์ที่เสียหายไปกับสายน้ำได้ เพราะบรรดานักลงทุนเริ่มเตรียมตัวจะย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือไม่ก็ขยายฐานไปยังประเทศอื่นแทน ก่อนลดความสำคัญในประเทศไทยลง เช่น กลุ่มแม็กซอนซิสเท็มส์ จากประเทศเกาหลีใต้ กลุ่มมินิแบ และกลุ่มซันโยเซมิคอนดักเตอร์ จากประเทศญี่ปุ่นก็ประกาศย้ายฐานการผลิตไปประเทศฟิลิปปินส์แทน หลังจากเห็นความเสี่ยงจากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม โดยการปลดคนงานพร้อมจ่ายค่าชดเชยให้มากขึ้น 10-14 เดือน ทั้งนี้ก็ยังมีกลุ่มธุรกิจอีกหลายกลุ่มที่ยังชั่งใจรอดูมาตรการเยียวยาของรัฐบาลต่อ ก่อนตัดสินใจอย่างเด็ดขาด

แม้กระแสข่าวเศรษฐกิจจะพากันเทความมั่นใจให้แก่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี และตัวเลขสถิติคนว่างงานในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วจะยังอยู่ที่ 0.7 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่ประสบกับปัญหาคนว่างงานอย่างสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตัวเลขนั้นต่ำกว่าสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เมื่ออาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกมาเผยถึงสาเหตุของตัวเลขดังกล่าวว่า เกิดจากการให้นิยามว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ไม่นับรวมแรงงานรอฤดูกาลจากภาคเกษตรอีกกว่า 191,090 คน และผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ทั้งที่ยังมีรายได้และไม่มีรายได้ 780,584 คน ทำให้ตัวเลขไม่สะท้อนการว่างงานที่แท้จริง ซึ่งรัฐควรมีการปรับปรุงนิยามให้เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นหรือในยุโรป เพราะรัฐบาลต้องดูแลคนเหล่านี้ด้วย

โดยเมื่อคิดรวมแรงงานที่ตกนิยามนี้เข้าไปด้วยแล้วนั้น ตัวเลขขึ้นไปอยู่ที่ 1,217,564 คน หรือคิดเป็น 3.09 เปอร์เซ็นต์

สอดคล้องกับ นิธินันท์ นาครวีระ ตัวแทนจากบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่ง เล่าถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานในช่วงไตรมาสแรกนี้ว่า ยังไม่มีเค้าลางของการฟื้นตัวมากนัก ภาคอุตสาหกรรมยังคงปรับลดชั่วโมงการทำงานของแรงงาน และปลดแรงงานบางส่วนโดยอ้างว่า มาจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น

“ในบางพื้นที่ที่ไม่ถูกน้ำท่วมก็จะไม่มีผลกระทบอะไรนักอย่างในชลบุรี แต่กับพื้นที่ประสบภัยก็ค่อนข้างหนักหนาอยู่ เพราะแรงงานยังกลับไปทำงานไม่ได้ และโรงงานหลายแห่งก็ต้องปิดตัวลง หรือไม่ก็ย้ายที่ ตอนนี้คือแรงงานบางส่วนก็เริ่มประสบปัญหาว่างงาน บางส่วนก็สูญเสียรายได้ที่จะเป็นค่าครองชีพจากการปรับลดชั่วโมงทำงานด้วย”

สถิติว่างงาน แนวทางเยียวยาปัญหา

แม้ในส่วนสถิติจะยังเป็นที่รับรู้กันว่า ตัวเลขว่างงานยังไม่สูงสักเท่าไหร่ แน่นอนว่ามาจากหลายสาเหตุ ยิ่งมองไปถึงอนาคตที่หลายคนหวาดหวั่นกับหลายปัญหาที่อาจจะเกิดก็ยิ่งยากจะคาดเดา และยิ่งยากเข้าไปอีกที่จะมองเห็นความหวัง อย่างที่ บุญเลิศ ธีรตระกูล ผู้อำนวยการกองวิจัยตลาด กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แม้จะมองว่า ช่วงเดือนมกราคม 2555 มีคนว่างงานมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อนโยบายปรับค่าแรงต่ำ 300 บาท จะเริ่มในวันที่ 1 เมษายนนี้ ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร เขาก็ไม่กล้าฟันธงนัก

“ทุกปีตัวเลขคนว่างงานเดือนมกราคมจะสูง แล้วมันก็จะค่อยๆ ลดลงๆ ทุกรอบปี คล้ายๆ เป็นช่วงที่เขาต่อสัญญา แต่ปีที่แล้วกับปีนี้ก็ไม่ได้สูงมาก ผลการปรับค่าแรงยังไม่เกิดขึ้น มันเริ่ม 1 เมษาฯ ตอนนี้เรายังเห็นไม่ชัดเพราะว่าบางแห่งบอกว่าขาดแคลนแรงงานอยู่ แถวชลบุรี แถวนิคมอุตสาหกรรม ทีนี้เราก็ต้องดูว่า ถึงเดือนเมษายน จะมีการปรับค่าแรง 7 จังหวัด กรุงเทพและปริมณฑลเป็น 300 บาท จังหวัดอื่นๆ ก็ขึ้นมา 40 เปอร์เซ็นต์ของฐานเดิม มันก็ยากที่จะฟังธงว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา” 

ทางด้าน ผศ.ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายถึงมูลเหตุของการว่างงานพร้อมเปิดเผยว่า แม้อัตราการว่างงานของคนไทยนั้นไม่ได้สูงอย่างที่มีข้อมูลเผยแพร่ออกมา ตัวเลขการว่างงานของคนไทยนั้นอยู่ที่เพียง 0.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเทียบเคียงกับในต่างชาตินั้นบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ก็ต้องเข้าใจว่าเรื่องแรงงานเป็นเรื่องกว้างและเป็นปัญหามาหลายยุคสมัย

“ที่ผ่านมาจากอัตราการว่างงานประเทศไทยถือว่า แรงงานขาด เพราะมีการนำเราแรงงานต่างด้าวมาถึงประมาณ 3 ล้านคน การจ้างแรงงานต่างชาติในปริมาณขนาดนี้ก็เท่ากับว่ามีตำแหน่งงานที่คนไทยไม่ทำ และขณะเดียวกัน เราอาจขาดแคลนแรงงาน เพราะว่าประเทศไทยมีการเปิดงานด้านบริการเยอะมาก คนไปเป็น รปภ.เยอะ คนไปอยู่ร้านอาหาร งานแม่บ้าน งานคนใช้ เกษตรกรรม ล้วนแต่มีคนไทยทำน้อยลง”

ในส่วนเรื่องนโยบายที่รัฐบาลนำมาจัดการในเรื่องแรงงานอย่างเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ300 บาท ผศ.ดร. ธนวรรธน์ สามารถมองได้สองมุมคือ ฝั่งนายจ้างและฝั่งลูกจ้าง ซึ่งจะมองแตกต่างกันอยู่แล้ว อีกทั้งการที่ปรับค่าแรงนี้ย่อมส่งผลต่อค่าครองชีพอย่างแน่นอน

“สังเกตเห็นว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะมองว่า อย่างต่างประเทศขาดแคลนแรงงานเขาก็ให้ค่าแรงสูงแล้ว มันก็จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของเรา เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่เศรษฐกิจไทยเพราะเป็นนโยบายในประเทศเองไม่ได้ผูกกับต่างชาติ แต่ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็อาจเป็นไปได้ รายได้ขั้นต่ำมันก็ถือเป็นมุมในเศรษฐศาสตร์มหภาคที่เป็นมุมยกระดับรายได้ประชาชนที่สอดคล้องกับแรงงานที่ขาดแคลน แต่คำถามคือกลไกในการปรับต้นทุนมันเพิ่มขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจมันยังไม่ฟื้นและการปรับขึ้นทีเดียวมันกระชากเศรษฐกิจ รัฐบาลน่าจะมีกลไกช่วยเหลือ”

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลยังไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจน อย่างรัฐบาลบอกว่าจะขึ้นค่าแรงทันที แต่ก็มีฝ่ายที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนผสมกัน รัฐบาลก็เลยเลื่อนระยะเวลามาเป็น 1 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ตกลงกันไว้ก่อนน้ำท่วม มาถึงจุดนี้รัฐบาลควรมีกลไกดูแลช่วงขาดสภาพคล่อง

และล่าสุดกับนโยบายที่เข้ามาจัดการในเรื่องการว่างงานก็คือ การจัดตั้งกองทุนตั้งตัว ซึ่ง ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่าเป็นแนวคิดที่ดีเป็นกองทุนที่ให้เยาวชน ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านธุรกิจเข้ากู้ยืมเงินเพื่อยกระดับสู่ผู้ประกอบการ

“กองทุนตั้งตัวหลักคิดก็คือสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการ แต่กระบวนการในการใช้เงิน กระบวนการในการคัดกรองถ้ามีประสิทธิภาพก็จะเป็นเรื่องที่ดี กองทุนนี้หลักคิดโอเค แต่หลักปฏิบัติต้องรอการพิสูจน์ นโยบายกองทุนตั้งตัวเน้นสร้างอาชีพถึงไม่ได้เห็นผลในทางปฏิบัติแต่ก็มีผลการผลักดัน”

ในสายตาของเขาก็ยังคงให้โอกาสรัฐบาลอยู่ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการทำงาน แม้ว่าจะยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันที่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลยก็ตาม

“รัฐบาลยังอยู่ในขั้นตอนของการทำงาน ผลความสำเร็จยังเห็นไม่ชัดเพราะว่ายังไม่มีนโยบายไหนเริ่มปฏิบัติถึงขั้นประเมินได้ มันไม่ได้เป็นนโยบายที่ทำงาน ขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถตอบว่าดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังกระทำนั้นยังไม่ครบถ้วนในการตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ยิ่งในเรื่องผลกระทบก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเพราะตอนนี้อยู่ในช่วงการเริ่มต้นส่วนผลลัพธ์ก็ต้องรอดูกันต่อไป” 

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่านโยบายในเรื่องแรงงานนั้น ต้องมีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่คาดหวังเอาไว้

“ระยะสั้น เรื่องนโยบายแรงงานคงเป็นอะไรที่ชัดที่สุด แรงงานมันขาด มันเป็นปัญหาของตัวผู้ประกอบการที่ต้องหาแรงงานเข้ามา พอแรงงานสูงขึ้นต้นทุนก็สูง ตรงนี้น่าจะมีมาตรการเยียวยาไม่เช่นนั้นมันจะส่งผลต่อแรงงานบางส่วนที่จะถูกปลด ระยะยาวสิ่งที่ควรจะมีการดูแลในอนาคตคือเรื่องแรงงานที่เข้ามาทำงานในตลาดครั้งแรกคือแรงงานไร้ฝีมือ โครงสร้างการศึกษาต้องมีการฝึกระบบของแรงงานมาตั้งแต่สมัยมัธยมฯ เพื่อฝึกอาชีพไว้ก่อน”

………

จากเหตุปัจจัยหลายต่อหลายประการ อนาคตที่กำลังจะมาถึงก็คงไม่มีใครสามารถการันตีถึงสิ่งที่จะเกิดได้
ค่าครองชีพจะสูงขึ้นอย่างไร แรงงานไทยจะสู้อย่างไรในอาเซียน น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ในปีนี้ หลากหลายคำถามยังคงถูกตั้งอยู่ในบนความหวาดกลัวในชุดรัฐบาลที่ไม่อาจเยียวยาแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องถูกทางนัก

หากแต่สิ่งรัฐบาลควรทำก็คือการรับมือกับวิกฤตเหล่านั้น มากกว่าการดำเนินนโยบายเพื่อคงความเป็นประชานิยมไว้…

ถึงตอนนี้สิ่งที่เป็นไปก็คือ ประชาชนอาจต้องอยู่กับภาวะวิกฤตเหล่านี้ให้ได้...ก็เท่านั้นเอง
>>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น