xs
xsm
sm
md
lg

กสร.เผยยอดลูกจ้างตกงาน 1.1 หมื่นคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสร.เผยยอดเลิกจ้างกว่า 1.1 หมื่นคน สถานประกอบการ 45 แห่ง ชี้ “ซันโย” เลิกจ้าง 2 พันคน จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย คาดต้นปีหน้าโรงงานน้ำท่วมเลิกจ้างหลายพันคน สั่งทีมเฉพาะกิจเฝ้าระวัง ดูแลให้แรงงานถูกเลิกจ้างได้รับเงินชดเชย สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย แนะแรงงานตกงานเข้าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ด้านกกจ.เตรียมตำแหน่งงานรองรับกว่า 1 แสนอัตรา จัดนัดพบแรงงานเดือนละครั้ง
 

วันนี้ (9 ธ.ค.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้การเลิกจ้างอันเนื่องมาจากปัญหาน้ำท่วมเริ่มชัดเจนขึ้น เนื่องจากนายจ้างสามารถประเมินความเสียหาได้แล้วว่าคุ้มค่าแก่การซ่อมแซมหรือไม่ โดยภาพรวมทั่วประเทศ ขณะนี้มีผู้ใช้แรงงานถูกเลิกจ้าง 11,862 คน ในสถานประกอบการ 45 แห่งใน 4 จังหวัดได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสระบุรี ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เข้าไปดูแลให้แรงงานได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คาดว่าเดือนมกราคม ปี 2555 ตัวเลขการเลิกจ้างจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายพันคน

ทั้งนี้ ข้อมูลของ กสร. ณ วันที่ 9 ธ.ค.2554 มีสถานประกอบการยังได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม 9,532 แห่ง ใน 10 จังหวัด ลูกจ้าง 480,202 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีสถานประกอบการเปิดกิจการ 19,147 แห่ง ลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว 513,742 คน ส่วนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง 11,862 คน ในสถานประกอบการ 45 แห่งใน 4 จังหวัด แบ่งเป็น จ.พระนครศรีอยุธยา มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 36 แห่ง ลูกจ้าง 9,694 คน จ.ปทุมธานี มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 6 แห่ง ลูกจ้าง 1,678 คน จ.ฉะเชิงเทรา มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 459 คน และ จ.สระบุรี มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 31 คน

โดยในส่วนของบริษัท ซันโย เซมิคอนดักเตอร์ จำกัด (ประเทศไทย) ประกาศหยุดการผลิตถาวร โดยมีลูกจ้างจำนวน 800 คน สมัครใจลาออก 100% มีผลในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย โบนัส 1 เดือน เงินเพิ่มพิเศษ 62 วัน และรางวัลผู้มีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป

“ส่วนในช่วงวันหยุดนี้ระหว่าง 10 -12 ธ.ค.นี้ ได้สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจของกสร.ที่มีอยู่ประมาณ 50 คน จัดเวรผลัดเปลี่ยนเฝ้าสถานการณ์การเลิกจ้างในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินค่าชดเชยของให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานของ กสร. เพื่อดำเนินการให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย” นายอาทิตย์กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งต้องเป็นอัตราสุดท้ายของค่าจ้างรายวันที่ได้รับ คือ ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี ต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 10ปี ต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน และทำงานตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน

อธิบดี กสร.ยังกล่าวถึงการเลิกจ้างบริษัท ซันโย เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชินส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งออก ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พรนครศรีอยุธยา ที่ประกาศปิดโรงงานพร้อมปลดคนงานกว่า 2,000 คน ว่า นายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะมีการปิดโรงงาน ซึ่งนายจ้างได้ปฏิบัติตามระบบแรงงานสัมพันธ์ โดยได้ให้ลูกจ้างประจำสมัครลาออกก่อนประมาณ 800 คน ซึ่งได้จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย และทำงานล่วงเวลา หรือแม้แต่โบนัสที่จะจ่ายให้ในต้นปี ไปพร้อมกับการจ่ายสิทธิประโยชน์อื่นๆในการเลิกจ้าง

นายอาทิตย์กล่าวต่อไปว่า ส่วนสาเหตุที่ตัวเลขการเลิกจ้างของบริษัท ซันโย มีมากถึง 2,000 คน เนื่องจากเป็นการบอกเลิกสัญญากับบริษัทซับคอนแทรกไปก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งเชื่อว่ากลุ่มลูกจ้างที่อายุไม่มากจะสามารถหางานได้เร็วขึ้น และนายจ้างส่วนใหญ่ยินดีรับ แต่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่อายุมาก ถือเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงในการหางานทำ ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ได้เตรียมมาตรการต่างๆ รองรับแล้ว ทั้งการอบรม หรือกองทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพอิสระ

อย่างไรก็ตาม ในการเลิกจ้างลูกจ้างจะได้รับเงินประกันการว่างงาน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน จำนวนร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างสุดท้าย ส่วนกรณีสมัครใจลาออกเองจะได้รับเงินประกันการว่างงานไม่เกิน 6 เดือน จำนวนร้อยละ 30 ของอัตราค่าจ้างสุดท้าย หากลูกจ้างประสบปัญหาการเลิกจ้างหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมแจ้งที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือโทร.ร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1546

อธิบดี กสร.กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไปทำงานที่จังหวัดอื่นที่ไม่ถูกน้ำท่วมชั่วคราว 2-3 เดือน หรือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและยังไม่มีงานทำก็เข้าร่วมโครงการนี้ได้ เนื่องจากมีสถานประกอบการส่วนหนึ่งในโครงการรับเข้าไปทำงานแบบถาวร ขณะนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 620 แห่งใน 46 จังหวัด และมีตำแหน่งงานรองรับ 76,374 อัตรา และมีลูกจ้างที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 13,226 คน ในสถานประกอบการ 108 แห่ง ทั้งนี้ ติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่กสร.หรือสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือสายด่วน 1546 โดยดูรายละเอียดได้ที่ www.labour.go.th

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ขณะนี้กกจ.จัดเตรียมตำแหน่งงานว่างไว้กว่า 1.3 แสนอัตรา ซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างอยู่ในขณะนี้ ขอให้ยื่นความจำนงขอตำแหน่งมายัง กกจ.ซึ่งก็จะดำเนินการจับคู่ให้ได้ตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ แต่จากสถิติผู้ประกันตนที่ว่างงานอยู่ ส่วนใหญ่ยังไม่ประสงค์ทำงานในตอนนี้ เนื่องจากต้องการกลับบ้านไปพักผ่อน อย่างไรก็ตาม กกจ.ได้สั่งการให้สำนักงานจัดงานจังหวัดต่างๆ จัดมหกรรมนัดพบแรงงานให้มีความถี่อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและกลับภูมิลำเนา
กำลังโหลดความคิดเห็น