xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.แฉอีกนักลงทุนหนีไทยไปอินโดฯ-จวกจัดการน้ำมันปาล์มเหลวเอื้อนายทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวในสภาเมื่อวานนี้ เรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์ม
โฆษก ปชป.กังขา “บุญทรง” ทำไมน้ำมันปาล์มแพงทั้งที่ปาล์มดิบถูกมาก หนำซ้ำให้ ปตท.นำเข้าเอื้อนายทุนชัด ชี้ มีหลายบริษัทย้ายฐานการลงทุนไปอินโดนีเซีย ตั้งแต่รถยนต์ยันเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำไทยสูญเม็ดเงิน 1 แสนล้าน บางบริษัทลังเลเพราะแผนน้ำท่วมไม่ชัด ทำตกอันดับประเทศน่าลงทุน

วันนี้ (23 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ พูดในสภาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมาเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์ม ว่า เพราะราคาน้ำมันปาล์มดิบสูง ราคาขายจึงแพง ทั้งนี้ ขึ้นกับการบริหารจัดการ หากย้อนไปดูการบริหารจัดการของรัฐบาล ปชป. จะพบว่า ราคาเฉลี่ยปี 2553 น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 29.10 บาทต่อลิตร ขายที่ 38 บาทต่อลิตร ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2554 ราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ 50.42 บาทต่อลิตร แต่ขายเพียง 47 บาทต่อลิตร แต่ในช่วงเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2555 ราคาน้ำมันปาล์มดิบเพียง 33.80 บาทต่อลิตร แต่กลับขายที่ 42 บาทต่อลิตร แล้วยังจะนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการดำเนินการของ ปตท.มาขาย ถือว่าแปลกมากทั้งที่ผลผลิตปาล์มในประเทศมีเพียงพอ แต่นายบุญทรงอ้างว่า เพราะเกษตรกรผู้ผลิตอยากขายในราคาตลาดโลก ซึ่งยอมไม่ได้ แล้วทีก๊าซแอลพีจีประชาชนอยากใช้ในราคาถูก แต่รัฐบาลยอมให้ขายในราคาตลาดโลก คิดถึงนายทุนก่อนประชาชนชัดเจน เกษตรกรเองก็โดนกดราคาให้ถูกลงด้วยการน้ำเข้า สำหรับราคาพลังงาน เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2555 ก็ไม่ได้สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2554 มากนัก แล้วเหตุใดราคาขายจึงแพงขึ้นมาก

ส่วนเรื่องย้ายฐานการลงทุน ยืนยันว่า ของเก่าที่ลงทุนไว้แล้ว นักลงทุนต่างชาติต้องทำต่อให้คุ้มการลงทุน แต่การเพิ่มทุนหรือการลงทุนใหม่นั้นไปหมดแล้ว อยากให้รัฐบาลตอบคำถามว่า หลายบริษัทไปเพิ่มทุนที่อินโดนิเซียเพราะอะไร ซึ่งบริษัทชั้นนำได้กำหนดแผนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนยังอินโดนิเซียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน วงเงิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป้าการผลิต 2.5 แสนคัน โตโยต้า 337 ล้านดอลลาร์ เป้าการผลิต 1.8 แสนคัน ฮอนด้า 320 ล้านดอลลาร์ เป้าการผลิต 1.2 แสนคัน จีเอ็ม 150 ล้านดอลลาร์ เป้าการผลิต 4 หมื่นคัน ซูซูกิ 780 ล้านดอลลาร์ เป้าการผลิต 1.5 แสนคัน รวมเม็ดเงินลงทุนที่ไทยต้องเสียไปรวม 1 แสนล้านบาท

“ส่วนที่รองโฆษกรัฐบาล อ้างว่า ย้ายไปลงทุนเพิ่ม เพราะตลาดอินโดนีเซียใหญ่กว่านั้นก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้ไปผลิตเพื่อขายในอินโดฯ แต่ไปเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปประเทศอื่น แล้วเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะเป็นปัญหา ถ้าเอกชนมั่นใจในไทย ในรัฐบาล หรือการทำงานของนายกฯ จะย้ายไปทำไม นักลงทุนหนีใคร” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมีแผนย้ายการลงทุน ได้แก่ ไพโอเนียร์ ได้ปรับแผนกระจายการลงทุนไปยังมาเลเซีย และจีน ในสัดส่วนร้อยละ 20-30 จากเดิมที่เคยใช้ไทยเป็นฐาน ซันโยเซมิคอนดักเตอร์ ประกาศทิ้งไทยไปขยายฐานการผลิตที่ฟิลิปปินส์ แทนหลังจากเห็นความเสี่ยงในเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และปัญหาน้ำท่วม รวมถึง แคนนอนไฮเทค ได้โอนสายการผลิตหนีจากนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.พระนครศรีอยุธยา ไปยังเวียดนามและ จ.นครราชสีมา เป็นการชั่วคราว โดยหลังน้ำลดยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะโอนฐานการผลิตกลับมาหรือไม่ เพราะรอดูแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล ด้านการจัดอันดับประเทศน่าลงทุนโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ไทยไม่ติด 1 ใน 50 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยอยู่อันดับต่ำกว่าเวียดนาม

กำลังโหลดความคิดเห็น