xs
xsm
sm
md
lg

ชงผุดแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยาย เชื่อมเดินทางดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอคมนาคม ชงครม.เห็นชอบเปิดประมูลแอร์พอร์ตลิ้งค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง เชื่อมดอนเมือง-สุวรรณภูมิ หลังสผ.ผ่านผลการศึกษา EIA แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมเร่งศึกษาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย นำร่องใช้ช่วงผู้โดยสารน้อย 10 โมงถึง 4 โมงเย็น ขณะที่สตง.ติงสัญญาบริหารโฆษณา เตรียมชงบอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติ ทรีซิกตี้ไฟว์ บริการพื้นที่
นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ส่วนต่อขยาย ช่วง พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ว่า ขณะนี้ร.ฟ.ท.จะต้องรอทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ส่งเรื่องมาให้ก่อนเนื่องจากสนข.เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาออกแบบรายละเอียด โดยล่าสุดได้ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2555 ที่ผ่านมา โดยหลังจากได้รับเรื่องจากสนข.จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนรวบรวมข้อมูลนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในการดำเนินโครงการต่อไป เพื่อเริ่มประกวดราคาอย่างช้าในปี 2556
ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินกู้มาดำเนินการ
ทั้งนี้ นโยบายล่าสุดต้องการเร่งรัด โครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร เนื่องจากจะทำให้การเดินทางระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ได้รับความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นและสอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองให้มากที่สุดเพื่อช่วยลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในขณะนี้
โดยผลการศึกษาจะมี 5 สถานี ราชวิถี,บางซื่อ,บางเขน,หลักสี่,ดอนเมือง โดยช่วงพญาไท-ถ.พระราม6 จะเป็นทางยกระดับ จาก ถ.พระราม 6-ถ.ระนอง 1 เป็นใต้ดินและยกระดับอีกครั้งจาก ถ.ระนอง 1-ดอนเมือง วงเงินลงทุนรวม 3.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ 1.ช่วงพญาไท-บางซื่อ เพื่อใช้บางซื่อเป็นสถานีกลางในการเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ค่าลงทุนงานโยธา 8,304.4 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,681.20 ล้านบาท ค่าขบวนรถไฟฟ้า 1,610 ล้านบาท รวม 13,595.60 ล้านบาท 2.ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ค่างานโยธา 9,800 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 5,600 ล้านบาท ค่าขบวนรถไฟฟ้า 4,000 ล้านบาท รวม 19,400 ล้านบาท
นายภากรณ์กล่าวถึงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตามนโยบายกระทรวงคมนาคมว่า ในส่วนของแอร์พอร์ตลิ้งค์ อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดเก็บ ซึ่งจะเริ่มใช้ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อยก่อน เช่น ช่วงเวลา 10.00-16.00 น. และพบว่า ยังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบที่จะนำมาใช้ในการจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เนื่องจากในช่วงเวลาอื่นมีการจัดเก็บในอัตราปกติที่กำหนดไว้ ดังนั้น อาจจะต้องปรับปรุงระบบใหม่เพื่อรองรับการจัดเก็บค่าโดยสารในหลายแบบ รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังเป็นปัญหาเช่นการเข้าอยู่ในระบบเกินช่วงเวลาที่กำหนดค่าโดยสาร 20 บาท เป็นต้น
“คงต้องดูและหาทางแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยที่จะต้องเกิดขึ้นได้ เช่น ผ่านประตูเข้าระบบในเวลาแต่พอถึงปลายทางเกินเวลา 16.00 น. จะทำอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อให้บริการจริง”นายภากรณ์กล่าว
นายภากรณ์กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการบริหารพื้นที่เช่าโฆษณาแอร์พอร์ตลิ้งค์ทั้ง 8 สถานี ซึ่งบริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการคัดเลือกนั้น จะต้องเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณาว่า บริษัททรีซิกตี้ไฟว์ สามารถเข้าไปดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ได้ทำหนังสือแจ้งว่าทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท รถไฟฟ้า
ร.ฟ.ท. จำกัด เป็นของ ร.ฟ.ท. ดังนั้นการที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต้องให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาก่อน คาดว่าจะนำเสนอได้ในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า หลังจากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดได้ คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหา เพราะแอร์พอร์ตลิ้งค์ เป็นของ ร.ฟ.ท.อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น