xs
xsm
sm
md
lg

ชงครม.ทึ้งงบ1.8พันล.แก้ของแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “พาณิชย์” ชง ครม. ของบ 1,800 ล้าน แก้ปัญหาของแพง เสนอจัดตั้ง 1 ร้านค้า 1 ชุมชน 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ขณะที่เอกชนจี้ภาครัฐหามาตรการดูแลผลกระทบด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ด้านรมว.พลังงาน แจง รัฐ พยายามลดภาระกองทุนน้ำมัน - ภาระปชช. เผย ตรึงราคาก๊าซหุงต้มถึงสิ้นปี เชื่อหากราคาน้ำมันตลาดโลกไม่เกินร้อยละ40 รัฐสามารถรับมือได้ “มาร์ค” จี้ทบทวนนโยบายพลังงานด่วน

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอของบประมาณ 1,800 ล้านบาท เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.สัญจร) ที่ จ.ภูเก็ต วันที่ 20 มี.ค.นี้ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างครบวงจร โดยงบก้อนแรก 1,500 ล้านบาท จะใช้ดำเนินโครงการ 1 ร้านค้า 1 ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพในราคาถูกแก่ประชาชน และอีก 300 ล้านบาท จะใช้จัดมหกรรมงานธงฟ้าขายสินค้าราคาถูกครั้งใหญ่ไปทั่วประเทศ โดยมีการจัดจำนวนหลายร้อยครั้ง

“ถ้าครม. อนุมัติ การแก้ปัญหาค่าครองชีพทั้ง 2 ส่วนจะดำเนินการได้ทันที โดยส่วนของ 1 ร้านค้า 1 ชุมชน ก็จะเริ่มคัดเลือก แต่อาจต้องใช้เวลาในการคัดเลือกบ้าง และระหว่างนี้ จะมีการจัดงานธงฟ้าขายของถูกควบคู่ไปกันด้วย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ยังเปิดร้านไม่ได้ มีโอกาสซื้อหาสินค้าราคาถูก เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพที่เกิดขึ้น” นายบุญทรงกล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายเปิด 1 ร้านค้า 1 ชุมชน ให้ได้ 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เริ่มแห่งแรกได้ภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ โดยทำเป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี ส่วนใน 2556 ตั้งเป้าเพิ่มร้านค้าให้ได้เกิน 7 หมื่นแห่ง หรือมีให้ครบทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอในไทย โดยภายในร้านที่เข้าร่วมจะมีมุมสำหรับนำสินค้าราคาถูกไปจำหน่าย เบื้องต้นจะมีสินค้าจำเป็นต่อค่าครองชีพประมาณ 15 รายการ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ยาสระผม สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น และในระยะต่อไปจะมีการเพิ่มสินค้าที่จำเป็นเพิ่มเติมอีก

สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกจะเปิดให้ร้านค้าทั่วไปสมัครเข้าร่วมได้ โดยมีคณะกรรมการจากภาครัฐเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งในแต่ละร้านจะสามารถขายสินค้าทั่วไปได้ แต่จะต้องมีมุมหรือชั้นวางจุดหนึ่งสำหรับขายสินค้าราคาถูกจากภาครัฐ โดยการขนส่งสินค้ามีบริษัทไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ดูแลระบบโลจิสติกส์ ขณะเดียวกันจะมีการจัดวงเงินสินเชื่อจากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ให้แก่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการรายละ 50,000-100,000 แสนบาท เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในการสั่งซื้อสินค้า

ส่วนการบริหารโครงการ 1 ร้านค้า 1 ชุมชน อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการแก้ปัญหาค่าครองชีพแห่งชาติ มีรมว.พาณิชย์เป็นประธาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นเลขาธิการ และมีกรรมการจากหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กลาโหม คมนาคม เป็นต้น เข้าร่วม เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วางหลักเกณฑ์และการดำเนินงานต่างๆ

นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการจากส่วนกลางเพื่อกำกับดูแลการทำงานจริง โดยแบ่งเป็นคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดซื้อสินค้า คณะอนุกรรมการฝ่ายตลาด คณะอนุกรรมการฝ่ายโลจิสติกส์ เป็นต้น พร้อมทั้งจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และค้าภายในจังหวัดเป็นเลขาธิการทำหน้าที่คัดเลือก กำกับและสนับสนุนร้านค้าภายในพื้นที่

***เอกชนชี้ค่าแรงขึ้นต้องปรับราคาสินค้า

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงตรึงราคาสินค้าไว้แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและยังต้องเตรียมแบกภาระค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนำร่อง 7 จังหวัดที่จะเริ่มมีผลบังคับ 1 เม.ย.นี้ก็ตาม โดยคาดว่าผู้ประกอบการสว่นใหญ่จะรับภาระได้เพียง 50% ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ส่วนที่เหลือก็อาจจำเป็นจะต้องมีการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐให้เข้ามาดูแล ไม่เช่นนั้นราคาสินค้าก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับขึ้นตามไปด้วย

“สิ่งสำคัญควรจะให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาดจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ยอมรับว่าปัจจุบันการเข้ามาตรึงราคาสินค้าบางประเภท ทำให้โครงสร้างราคาถูกบิดเบือน ทำให้แก้ปัญหาได้ยาก โดยควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่จะต้องไม่ให้การค้ากำไรเกินควรและกักตุนสินค้าเพื่อทำให้ราคาผันผวน”นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้องการให้รัฐเข้าไปดูแลราคาสินค้าที่ต้นน้ำเพราะขณะนี้ราคาสินค้ามีการปรับขึ้นกระโดดเพิ่มไปมาก แต่รัฐกลับคุมที่ปลายเหตุเช่น คุมราคาข้าวแกง คุมเนื้อหมู ฯลฯ แต่ข้อเท็จจริงควรจะดูว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตแพงไปมากน้อยเพียงใดเช่น ราคาอาหารสัตว์ พืชผักที่นำมาทำอาหาร ถ้าหากที่สุดแพงจริงรัฐก็จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อให้การแข่งขันมีมาก

“ทุกคนมีปัญหาเรื่องต้นทุนสินค้าที่ตอนนี้ต่างก็มาทยอยขอปรับเพิ่ม เพราะตอนนี้รัฐบาลเอาไม่อยู่แล้ว ทั้งเรื่องราคาพลังงานที่ราคาน้ำมันทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล รวมถึงค่าแรงที่ต้องปรับขึ้นอีก”นายสมมาตกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ควรไปกำหนดราคาสินค้าว่าห้ามขึ้นไม่เกินเท่าไหร่ ในกลุ่มสินค้าที่ไม่ผูกขาด แต่ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไก แต่ก็ควรไปกำหนดราคาสินค้าในกลุ่มที่ผู้ขาด เช่น สาธารณูปโภค เพราะเมื่อรัฐบาลไปกำหนดเพดานราคาสินค้าไว้ ผู้ประกอบการก็จะดีนราคาขึ้นไปจนเต็มเพดานกันหมด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน และมั่นใจว่าจะไม่มีการฮั้วราคาสูงๆ กันเองระหว่างผู้ประกอบการ เพราะปัจจุบันการทำธุรกิจต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและดูแลประชาชน

***เซรามิกลำปางวิกฤตคำสั่งซื้อลด 70%

นายวงศ์ชัย ศรีไทย อุปนายกสมาคมเซรามิก ลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเซรามิกในจังหวัดลำปางได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ซึ่งในเดือนเม.ย. 2555 จะขึ้นราคาอีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 ทำให้ราคาแอลพีจีอยู่ที่ระดับ 30.13 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ปรับขึ้นราคาไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม
ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีคำสั่งซื้อลดลงไปแล้วกว่า 70% และบางส่วนต้องงดรับคำสั่งซื้อ เพราะไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนได้

“เดือนเม.ย. 2555 ผู้ผลิตจะเจรจากับลูกค้าขอปรับราคาสินค้าขึ้นประมาณ 20% จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล รวมกับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้นราคา 20% ผู้ประกอบการได้รับภาระไว้แล้วครึ่งหนึ่ง และได้ผลักไปยังยังราคาสินค้าอีกครึ่งหนึ่ง เพราะหากคิดตามต้นทุนที่เพิ่มจริงๆ มากกว่า 20%แน่นอน เนื่องจากแค่ราคาแอลพีจีก็ขึ้นมากว่า 40% แล้วซึ่งคงต้องดูว่าลูกค้าจะรับราคาใหม่ได้ไหมถ้าไม่ได้ก็คงต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้นแน่จากที่ปิดแล้ว 5-6 รายจากผู้ประกอบการทั้งสิ้น 250 ราย”นายวงศ์ชัยกล่าว

***ตรึงราคาก๊าซหุงต้มถึงสิ้นปี

ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) ได้มีการพิจารณากระทู้ถามด่วน ของนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี เรื่อง การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิง โดยนายสุรเดช กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีมีนโยบายเรื่องการกำกับราคาพลังงานให้เหมาะสม และเป็นธรรมนั้น ตนอยากให้รัฐบาลดูให้อย่างรอบคอบ และรอบด้าน ตนอยากถามว่า

1. รัฐบาลยังคงนโยบายสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงต่อไปหรือไม่ หรือมีนโยบายด้านโครงสร้างราคาพลังงานอย่างไร
2. รัฐบาลมีนโยบายบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างไร
3. การที่รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการลดภาษีน้ำมันดีเซล ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจะมีนโยบายปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ทั้งน้ำมันดีเซล และเบนซิน หรือไม่

4. ถ้าหากปัจจัยต่างๆ มีผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลได้ศึกษาผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น รัฐบาลได้ศึกษาผลกระทบ และมาตรการป้องกันแก้ไข หรือชดเชยในภาพรวมของประเทศและเฉพาะกลุ่มอย่างไร
5. รัฐบาลมีนโยบายด้านพลังงานเพื่อลดการนำเข้า การส่งเสริมพลังงานทดแทน การใช้พังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์พลังงานอย่างไร

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า ขณะนี้ราคาพลังงาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยรัฐบาลพยายามทำให้เหมาะสม และเป็นธรรมกับประชาชน และเป็นการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งรัฐบาลพยายามลดภาระของกองทุนน้ำมัน และลดภาระให้กับประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือน รัฐบาลได้ตรึงราคาไว้จนถึงสิ้นปีแล้ว

ส่วนการลดภาษีน้ำมันดีเซล ได้มีการปรับลดไปแล้ว 4 ครั้ง ทางกระทรวงการคลังได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะมีการดูราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น รัฐบาลได้มีการเตรียมการมาโดยตลอด หากราคาน้ำตลาดโลกไม่เกินร้อยละ 40 ถือว่ายังสามารถรับมือและควบคุมราคาได้

นอกจากนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการส่งเสริมและวิจัยพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับ และขอความร่วมมือจากภาครัฐทั้งหมดในการประหยัดพลังงานลง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางเริ่มต้นในการประหยัดพลังงาน

นายสุรเดช ได้หารือต่อที่ประชุมอีกว่า เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการพลังงานฯ ได้ลงพื้นที่ จ.สระแก้ว และประเทศกัมพูชา โดยได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย ถึงปัญหาและอุปสรรคของพลังงาน ซึ่งพบว่ามีการลักลอบขายสินค้าตามแนวชายแดนโดยเฉพาะแก็สแอลพีจี เป็นจำนวนมาก เนื่องจากไทยมีการตรึงราคาที่กิโลกรัมละ 18 บาท แต่กัมพูชา กิโลกรัมละ 34 บาท มีส่วนต่างเป็นเงินถึงเท่าตัว ซึ่งประเทศไทยต้องใช้เงินอุดหนุนแก๊สแอลพีจี เดือนละ 4 พันล้านบาท จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระดับจังหวัดที่ยังไม่มีมาตรการจัดการชัดเจนให้เข้มงวดการลักลอบนำเข้า และส่งสินค้าโดยเฉพาะแก๊ส ที่เราสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานราคาถูก แต่เรากลับต้องนำส่วนต่างนี้ไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่ากัมพูชา ลาว พม่า

***“มาร์ค” จี้ทบทวนนโยบายพลังงาน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวถึงกรณีที่นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงานจะแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงด้วยการถอดสูทประชุมเพื่อประหยัดพลังงานว่า เรื่องการประหยัดพลังงานเป็นสิ่งที่ควรทำแต่ไม่ตรงกับโจทย์ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเกิดจากการทีรัฐบาลไม่เข้าไปบริหารจัดการกองทุนน้ำมันว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อสินค้าหลัก เช่น เอ็นจีวี แอลพีจี และ ดีเซล แต่กลับเบี่ยงเบนประเด็นว่าการติดลบของกองทุนน้ำมันเกิดจากการอุ้มแอลพีจี ทั้ง ๆที่กองทุนน้ำมันติดลบเกิดจากการที่รัฐบาลมีนโยบายในช่วงแรกยกเลิกการจัดเก็บเงินจากน้ำมันเบนซินและดีเซลทันที จนทำให้กองทุนน้ำมันขาดรายได้และติดลบในที่สุด จึงอยากให้รัฐบาลตั้งหลักและกำหนดหลักคิดให้ชัดเจนในการแก้ปัญหา ไม่ใช่กำหนดแนวทางด้วยการผลักภาระให้ประชาชนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นรัฐบาลต้องกลับมาวางเป้าหมายว่าจะให้กองทุนน้ำมันทำอะไรบ้าง และจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้เกิดความสมดุลย์ โดยเริ่มจากน้ำมันดีเซล พลังงานทดแทน และก๊าซธรรมชาติ

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวด้วยว่า การที่คนในรัฐบาลพยายามชี้แจงว่าราคาพลังงานไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้สินค้าราคาแพง ก็ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าสินค้าแพงเพราะอะไร แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์แนะนำรัฐบาลเกี่ยวกับการทบทวนนโยบายพลังงานมาโดยตลอดเพราะเห็นว่า หากไม่มีการทบทวนจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้นในอนาคตเพราะราคาพลังงานมีความเชื่อมโยงกับต้นทุนสินค้า และสถานการณ์จะลุกลามจนเลวร้ายลงเรื่อยๆ ถ้ายังไม่มีการทบทวนนโยบายพลังงานที่ผิดพลาด

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ครม.อนุมัติให้ขึ้นราคาปุ๋ยว่า เป็นเพราะรัฐบาลขาดแนวทางที่ชัดเจนในการกำหนดประเภทสินค้าที่จำเป็นในการช่วยเหลือประชาชน และแปลกใจว่าในขณะที่รัฐบาลนำเงินภาษีไปส่งเสริมเรื่องรถยนต์คันแรกแต่กลับไม่อุดหนุนเรื่องแก๊สหุงต้มในครัวเรือนเพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่นเดียวกับการปล่อยให้ขึ้นราคาปุ๋ย รัฐบาลก็ควรจะได้พิจารณาว่าเป็นต้นทุนพื้นฐานที่กระทบต่อเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลควรจะเข้าไปช่วยดูแล

***“ปชป.” ตั้ง “ศปพ.” ปราบของแพง

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคว่า พรรคจะมีการจัดตั้งศูนย์ปราบของแพง (ศปพ.) เพื่อดูแลประชาชนในเรื่องราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ที่แพงขึ้น เพราะเห็นว่านอกจากนรัฐบาลจะไม่มีท่าทีเข้ามาดูแลปัญหาดังกล่าว ยังปล่อยให้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าของไม่แพง และยังให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งรัฐบาลไม่มีความจริงใจและปราศจากแผนงานที่จะดูแลประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถโทรศัพท์เข้ามาแจ้งข้อมูลกับศปพ.ได้ที่เบอร์ 02-3571156

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ทีมพาณิชย์เงาของพรรคยังได้มีการจับตาการงุบงิบขึ้นราคาปุ๋ยเคมี ซึ่งปัญหาต่างๆ ทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่จริงใจพยายามสะกดจิตประชาชนว่าราคาสินค้าไม่แพง และไม่มีความสามารถที่จะบริหารหรือทำกลไกให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลงได้ในระยะอันใกล้ พรรคจึงตัดสินใจตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนชี้แจงข้อมูลเข้ามายังพรรค โดยทางศูนย์ศปพ.จะทำงานร่วมกับทีมพาณิชย์เงาและทีมงานโฆษกของพรรค เพื่อติดตามราคาสินค้าทุกอย่างอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเฟสบุ๊คชื่อ “แพงทั้งแผ่นดิน” ซึ่งเป็นช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ข้อมูลว่าพื้นที่จุดใดมีสินค้าราคาแพง หรือสินค้าขาดตลาด หรือบางพื้นที่ราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ ก็สามารถแจ้งมายังเฟสบุ๊คนี้เพื่อส่งต่อมายังพรรคนำไปวิจัยและเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยทีมพาณิชย์เงาจะเป็นฝ่ายวิเคราะห์และเสนอแนะสินค้าบางรายการต่อรัฐบาล โดยจะดูถึงข้อบกพร่อง จุดโหว่และช่องว่างของสินค้าแต่ละประเภทว่าทำไมถึงมีราคาแพงขึ้น หรือสินค้าการเกษตรราคาตกต่ำลง เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลเป็นระยะๆ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประเมิน 2 สัปดาห์ต่อครั้ง อย่างไรก็ตาม หากบางข้อมูลพรรคสามารถปฏิบัติได้ทันทีก็จะดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอไปยังรัฐบาล.
กำลังโหลดความคิดเห็น