xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันพุ่งลามค่าขนส่ง-ของแพง “ปู” เอาไม่อยู่-กบง.รีดเบนซินเพิ่มอีก 1 บ./ลิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ถก กบง.วันนี้ (15 มี.ค.) รีดเงินคนใช้เบนซิน 91-95 เพิ่มอีกลิตรละ 1 บาท ส่งผลเบนซิน 91 จ่อแตะ 43 บาทต่อลิตร ด้าน “เจ๊เกียว” บุกทวงขอขึ้น 6 สต./กม. ก่อนกลับลำยอมรอคณะกรรมการขนส่งกลางไฟเขียว ส่วน “เรือด่วนเจ้าพระยา” ประกาศหยุดบริการเส้นทางท่าน้ำสาทร-ราษฎร์บูรณะ ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.นี้ ด้านแท็กซี่เสนอ 3แนวทางปรับราคาค่าโดยสาร “วอยซ์ทีวี” โต้ของไม่แพง-น้ำมันขึ้นตามกลไกตลาด “ปลื้ม” โวยคนคิดไปเอง ชวนแก้ รธน. และกม.อาญาม.112 ดีกว่า

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 15 มี.ค. ที่มีนายอารักษ์ ชลร์ธารนนท์ รมว.พลังงานเป็นประธาน กบง.จะพิจารณาปรับอัตราการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน 91 และเบนซิน 95 เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกลิตรละ 1 บาท จากขณะนี้เก็บอยู่ 2 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันจะปรับลดอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ส่วนของดีเซลลงอีก 30-40 สตางค์ต่อลิตร จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ 60 สตางค์ต่อลิตรเพื่อเบรกราคาดีเซลไม่ให้เกินไปกว่าระดับ 32 บาทต่อลิตร จากขณะนี้ราคาดีเซลอยู่ที่ระดับ 32.33 บาทต่อลิตร โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. - 15 เม.ย.55

“การเก็บเงินครั้งนี้ เป็นการเรียกเก็บครั้งที่ 3 โดยราคาขายปลีกเบนซิน 95 และ 91 จะปรับขึ้นทันที 16 มี.ค. 55 ในอัตราลิตรละ 1 บาท ซึ่งจะส่งผลให้เบนซิน 91 ไปแตะระดับ 42.55 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลนั้นก็จะถือเป็นราคาที่ลดลงมาครั้งแรกในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่ กบง.มีการจัดเก็บเงินในส่วนดีเซลเมื่อวันที่ 16 ม.ค.55 ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้ยังเป็นการถ่างราคาระหว่างเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ เพื่อจูงใจใช้พลังงานทดแทน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้า กบง.ได้เห็นชอบแนวทางการปรับเพิ่มขึ้นของแอลพีจี และเอ็นจีวีไปแล้ว แต่จะมีผลในวันที่ 16 มี.ค. ดังนั้น นอกเหนือจากกลุ่มเบนซินจะปรับราคาขึ้น 1.07 บาทต่อลิตร เมื่อรวมภาษีแล้วแอลพีจีก็จะปรับขึ้นเป็น 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม และเอ็นจีวีปรับขึ้น 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการหารือนอกรอบ ระหว่างผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน โดยกระทรวงการคลังระบุว่า หากไม่จัดเก็บเพิ่มในส่วนของเบนซิน ก็จะทำให้ภาระกองทุนน้ำมันสูงขึ้น ส่วนกระทรวงพาณิชย์ แสดงความวิตกกังวลว่า หากราคาน้ำมันในประเทศ โดยเฉพาะราคาดีเซลปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและค่าขนส่งสินค้าได้ เพราะน้ำมันดีเซลเป็นหัวใจหลักในการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ ขณะที่กระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงว่า จำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บเงิน ในส่วนของน้ำมันเบนซิน เพื่อนำเงินรายได้สำรองไว้ชดเชยราคาเอ็นจีวี ก๊าซหุงต้ม แก๊สโซฮอล์ และก็ต้องลดเก็บเงินในส่วนของน้ำมันดีเซล เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มไปกว่านี้

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุม กบง.วันที่ 15 มี.ค.นี้ จะพิจารณาแนวทางการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งยอมรับว่าราคาน้ำมันที่แพงขึ้นในขณะนี้เป็นเพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังศึกษาหาทางลดผลกระทบราคาแพงตามนโยบายนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องยอมรับว่าคงไม่สามารถเข้าไปตรึงราคาได้ เพราะหากไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ก็จะทำให้เกิดการไม่ประหยัด

“แนวทางที่มีการศึกษา ได้แก่ แผนการรณรงค์ประหยัดพลังงาน รวมทั้งการพิจาณาบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และจะมีการเสนอแผนทั้งหมดรวมทั้งการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ พีดีพี เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.ในช่วงสัปดาห์หน้า” นายอารักษ์กล่าว

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านคัดค้านการยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้เหตุผลว่าจะไม่มีเครื่องมือในการตรึงราคาพลังงาน นายอารักษ์กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ มีการเข้าไปตรึงราคาพลังงานมากเกินไป โดยเฉพาะก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ที่ทำให้กองทุนฯขาดทุนไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท และยังมีการลักลอบไปใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับหากเมื่อข้อตกลงเปิดเสรีประชาคมอาเซียน หรือเออีซี มีผลบังคับใช้ในปี 2558 หากไทยยังตรึงราคาแอลพีจีด้วยการใช้กองทุนน้ำมันฯเช่นเดิม ก็จะยิ่งทำให้คนไทยไปอุดหนุนเพื่อนบ้านในเออีซีทั้ง 10 ประเทศ โดยแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการ คือ ปรับบทบาทกองทุนน้ำมันไปเป็นกองทุนสำรองน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะมีหน้าที่ในการเข้าไปซื้อน้ำมันมาเก็บทั้งเพื่อความมั่นคงและช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาได้ด้วย

“เจ๊เกียว” ขอขึ้นค่าโดยสาร 6 สต./กม.

วานนี้ (14 มี.ค.) เวลา 11.00 น. นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร ได้เดินทางมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อรอพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อทวงถามความชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าโดยสารรถร่วมบริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งได้เคยยื่นหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมไปแล้ว โดยขอปรับค่าโดยสารขึ้นอีก 6 สตางค์ต่อกิโลเมตร โดยระบุว่าผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่มีธุรกิจอื่นรองรับ

ทั้งนี้ ยืนยันว่า การขอปรับขึ้นค่าโดยสาร 6 สตางค์ต่อกิโลเมตร จะไม่กระทบกับผู้โดยสารหรือทำให้เดือดร้อนมากนัก ตัวอย่าง ค่าโดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ปัจจุบันอัตรา 198 บาท หากปรับขึ้น 6 สตางค์ต่อกิโลเมตร จะจ่ายเพิ่มอีก 28 บาทเท่านั้น ซึ่งอัตราดังกล่าว ได้เสนอโดยคำนวณที่ระดับราคาน้ำมัน 30 กว่าบาทต่อลิตรแล้ว หรือปรับค่าโดยสารเพิ่ม 1 สตางค์ต่อกิโลเมตร เมื่อราคาน้ำมันขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อลิตร

ส่วนการปรับปรุงบริการนั้น นางสุจินดากล่าวว่า ปัจจุบันในแต่ละจังหวัดผู้ประกอบการ 4-5 รายซึ่งต้องปรับบริการเพื่อแข่งขันกันอยู่แล้วถ้าบริการแย่ไม่ปรับปรุงก็อยู่ไม่ได้

เวลาประมาณ 12.50 น. นายจารุพงศ์ได้ออกจากห้องทำงานเพื่อไปปฏิบัติภารกิจโดยไม่ได้หยุดพบกับนางสุจินดาซึ่งนั่งรออยู่หน้าห้องแต่อย่างใด โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนขึ้นรถว่า เรื่องการปรับค่าโดยสารรถสาธารณะ กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เป็นผู้พิจารณา มาถามตนเพื่ออะไร ให้ไปถามคณะกรรมการฯที่มีหน้าที่โดยตรง ซึ่งจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ ต้องดูข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งเรื่องของเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น มีรายละเอียดมาก ยอมรับว่ามีผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าไม่ขึ้นผู้ประกอบการก็กระทบ ขึ้นแล้วประชาชนก็กระทบ ซึ่งผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯออกมาอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า นางสุจินดาบอกว่าจะปรับขึ้นค่าโดยสารในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เพราะแบกต้นทุนไม่ไหว นายจารุพงศ์กล่าวว่า ก็กังวล แต่คงพูดอะไรไม่ได้ ต้องให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน ขณะที่นางสุจินดา กล่าวในภายหลังว่า ในวันที่ 1 เม.ย.จะยังไม่ปรับขึ้นค่าโดยสาร ตามที่พุดไปก่อนหน้านี้ เพราะต้องรอประชุมร่วมกับคณะกรรมการของสมาคมให้ชัดเจนก่อน ซึ่งที่ต้องการให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะไม่ได้รับการพิจารณาให้ปรับขึ้นค่าโดยสารมา ตั้งแต่เดือน ก.พ.แล้ว

ด้าน นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธาน คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกล่าวว่า ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ คณะกรรมการฯ จะประชุมเพื่อพิจารณาการปรับอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ หลังจากมีการตั้งกรรมการครบแล้ว

แนะทางให้แท็กซี่ขึ้นราคา

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงวงคมนาคมกล่าวถึงกรณีที่แท็กซี่ขอปรับค่ามิเตอร์ หลังราคาก๊าซ NGV จะปรับขึ้นเป็น 10.50 บ.ต่อกิโลกรัมว่า จากการคำนวณพบว่า จะทำให้แท็กซี่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 70 บาทต่อกะ หรือจากที่มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 400 บาทต่อกะ จะเหลือ 330 บาท หรือไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ถือว่าอยู่ลำบาก ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแนวการปรับมิเตอร์ 3 ทางเลือก คือ 1. ปรับเพิ่มค่าโดยสารแรกเข้า จาก 35 บาท เป็น 40 บาท 2. ค่าโดยสารแรกเข้า 35 บาทตามเดิม แต่ปรับเพิ่มค่าโดยสารตามช่วงระยะทางเพิ่มขึ้น เช่น จากเดิมเก็บระยะทางกิโลเมตรที่ 2-12 เก็บ 5 บาท อาจปรับเพิ่มเป็น 5.50 บาท หรือ 3. ค่าแรกเข้า 35 บาท ตามเดิม ใช้บันไดค่าโดยสารเดิมแต่ปรับลดระยะทางลง เช่น เดิมระยะทางกิโลเมตรที่ 2-12 5 บาทอาจปรับเป็น กิโลเมตร ที่ 2-4เก็บ 5 บาท เป็นต้น โดยเห็นว่า แนวทางที่ 1 อาจจะกระทบต่อประชาชนมาก อีกทั้งนโยบายต้องการให้แท็กซี่เป็นฟีดเดอร์วิ่งเส้นทางสั้นๆ เชื่อมกับรถไฟฟ้า ซึ่งจะมีการปรับขึ้นหรือไม่นั้น จะต้องรอการพิจารณาตัวเลขอื่นๆ ประกอบด้วย

ดีเซลแพง เรือด่วนหยุดวิ่ง

นาวาโท ปริญญา รักวาทิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2555 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะยกเลิกการให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา ในเส้นทางส่วนต่อขยายจากท่าน้ำสาทรไปถึงท่าน้ำราษฎร์บูรณะ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ทะลุระดับ 32 บาทต่อลิตร ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือไม่ถึง 600 คนต่อวัน จากเดิมที่มี 2,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการรถเมล์ฟรี ทำให้ผู้ใช้บริการเรือด่วนลดลง

ทั้งนี้ เรือด่วนเจ้าพระยา ประเภทไม่มีธง จอดทุกท่าเรือ, เรือด่วนพิเศษธงส้ม, เรือด่วนพิเศษธงเขียว และเรือด่วนพิเศษธงเหลือง ยังคงให้บริการตามปกติ โดยในวันนี้ (15 มี.ค.) จะเสนอรายงานต้นทุนการประกอบธุรกิจ ต่อกรมเจ้าท่า (จท.) เพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา 2 บาท ต่อระยะทาง ซึ่งหากกระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่ายังให้ชะลอการขึ้นค่าโดยสารออกไปจะต้องมีเหตุผลเพียงพอที่เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่สูงมาก จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งการขอขึ้นค่าโดยสารอีก 2 บาทต่อระยะทางนั้น คำนวณจากาคาน้ำมันดีเซลที่ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร แต่หากราคาขึ้นไปสูงกว่า 35 บาทต่อลิตร ต้องของปรับขึ้นอีก

ครม.เงา จี้ รบ.รับความจริง

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.ในฐาะนะโฆษก ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงหลังการประชุม ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องว่า รัฐบาลควรยอมรับความจริงว่าบริหารนโยบานยด้านพลังงานของชาติผิดพลาด และต้องปรับปรุงใหม่ ยิ่งเมื่อรัฐบาลกำลังจะประกาศลอยตัวพลังงาน ทั้งราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีจะทำให้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมถึงการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันมีราคาสูงขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้จัดทำโปรโมชัน 4 เดือนเศษที่ไม่เก็บเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมัน เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง แต่กลับเป็นการสร้างหนี้เขาสู่กองทุนหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลซึ่งอาจจะต้องมีราคาเพิ่มขึ้นไปอีกลิตรละ 5.30 บาท

นายอรรถวิชช์กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าวที่มาประดังกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเม.ย.นี้ จะยิ่งทำให้ภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกฯ เป็นประธานไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน ไม่ยอมรับว่าบริหารผิดพลาดก็จะยิ่งเสียหาย ดังนั้น เมื่อรู้แล้วว่าผิดก็อย่าดันทุรังทำต่อ ขอให้เร่งรีบปรับปรุงแก้ไข โดยการทำตามที่พรรคประชาธปัตย์ทำมาคือ การอุ้มราคาก๊าซและน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนของการผลิต หากยังดันทุรังต่อจะเห็นราคาสินค้าตั้งแต่เดือนนี้และ เม.ย.-พ.ค.เข้าสู่ภาวะของแพงทั้งแผ่นดินจริงๆ

คลังเล็งยืดเวลางดภาษีดีเซล

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดมาตรการในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อช่วยลดปัญหาค่าครองชีพสูงแก่ประชาชน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าการปรับขึ้นของราคาจะไม่ได้ทะยานขึ้นอย่างรุนแรงก็ตาม โดยยอมรับว่าประเด็นเรื่องราคาน้ำมันแพงเป็นสิ่งที่รัฐบาลหนักใจ เพราะจะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มี 2 หน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ คือ กระทรวงพลังงาน และกรมสรรพสามิต โดยในส่วนของกระทรวงพลังงาน ซึ่งรับผิดชอบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะนี้สถานะของกองทุนฯ อยู่ในระดับที่ติดลบ เพราะได้เข้าไปพยุงราคาพลังงานแอลพีจีและเอ็นจีวี ทำให้ต้องปรับขึ้นอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ กรมสรรพสามิตจึงยังไม่สามารถปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลได้

“กระทรวงการคลังคงต้องต่อมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปก่อน เพราะสภาพประชาชนในขณะนี้ ถือว่าอยู่ในภาวะของการฟื้นไข้จากปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นก็ไม่ใช่ช่วงที่จะต้องเข้าไปซ้ำเติม ส่วนระยะกลางนั้น ก็อาจเป็นไปได้หากราคาน้ำมันลดลงและพอที่จะขยับการจัดเก็บภาษีได้บ้าง ก็เป็นเรื่องที่สมควรดำเนินการ เพราะปัจจุบันรายได้จากภาษีน้ำมันนั้น มีสัดส่วนถึง 30% ของรายได้กรมสรรพสามิต” รมช.คลังกล่าว

“เจี๊ยบ” โต้สมัย ปชป.ของแพงกว่า

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อกล่าวหาของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เงา และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่สนใจแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน และได้อ้างว่า สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะวัตถุดิบในการประกอบอาหารในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีราคาแพงกว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไม่เป็นความจริง ตรงกันข้าม สินค้าจำเป็นหลายรายการ มีราคาถูกลง

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี และ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับทุกนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะนโยบายเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งให้พรรคทราบว่าขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังจะรีแบรนด์ โครงการ 1 ร้านธงฟ้า 1 ชุมชน โดยคาดว่าจะเสนอแบรนด์ใหม่ ภายใต้ชื่อ “1 ร้านค้า 1 ชุมชน” คาดว่าจะเสนอ ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ในวันที่ 20 มีค นี้

โครงการดังกล่าวจะเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนในการซื้อสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช และน้ำตาล ในราคาต่ำกว่าทุน เนื่องจากใช้หลักการเดียวกับห้างแมคโคร คือ กระทรวงพาณิชย์จะเจรจาซื้อสินค้าล็อตใหญ่ เพื่อเป็นการลดต้นทุน ซึ่งจะทำให้ร้านค้าในโครงการสามารถขายสินค้าต่อให้ประชาชนได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาดเช่นกัน โดย นาย บุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้า จัดตั้งร้านค้าในสัดส่วน 1 ร้านค้า ต่อ 1 หมู่บ้าน ให้ครอบคลุม 6 หมื่นกว่าหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังมีแนวคิดจะเสนอให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ไมโครไฟแนนซ์ ในวงเงิน 50,000-100,000 บาท แก่เจ้าของร้านที่ร่วมโครงการ เพื่อให้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อสินค้ามาจำหน่ายอีกด้วย โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทยจะรับผิดชอบเรื่องการขนส่งสินค้าทั้งหมด นอกจากนี้ โครงการ 1 ร้านค้า 1 ชุมชน จะเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลในการเป็นช่องทางระบายสินค้า โดยเฉพาะข้าวที่ล้นสต็อกจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล หรือในการจำหน่ายสินค้าที่มีราคาตกต่ำ เช่น หอม หรือ กระเทียม เป็นต้น โดยร้านค้าที่สนใจสามารถสมัครได้ที่กรมการค้าภายในแต่ละจังหวัด หลังจากที่โครงการดังกล่าวผ่าน มติ ครม.

วอยซ์ทีวี ตะแบงแทนนาย

วันนี้ (14 มี.ค.) รายการ Wake up Thailand ทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ซึ่งมี ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท เป็นผู้ดำเนินรายการได้ออกมาโต้กระแสข่าวข้าวของแพงในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยระบุว่าประชาชนคิดไปเอง และเป็นการสร้างกระแสดิสเครดิตรัฐบาล โดยได้กล่าวถึงหัวข้อ “ของแพงที่ไหน? ตลาด ห้าง หรือริมถนน”

ม.ล.ณัฏฐกรณ์เริ่มต้นกล่าวว่า ตอนแรกคนเรียกรัฐบาลชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าเป็น “รัฐบาลแดงทั้งแผ่นดิน” แต่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดย นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ให้ฉายาว่า เป็น “รัฐบาลแพงทั้งแผ่นดิน” ซึ่งตนไม่เห็นด้วย และคิดว่า เป็นการสร้างประเด็นทางการเมืองที่ต้องการจะเบี่ยงกระแสไปจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทำลายชื่อเสียของรัฐบาลมากกว่า

“ถ้าต้นทุนไม่สูงขึ้นเนี่ย ผู้ประกอบการก็ไม่ควรที่จะไปขึ้นราคาสำหรับผู้บริโภค ยกเว้นเสียว่าถ้าคุณมีเหตุผลจริงๆ แต่ผมมีมุมที่ต่างกว่านั้นอีก คือ ผมคิดว่ามันไม่ได้แพงขึ้นเลยไง คือ ผมคิดว่า ข้าวแกง ผัก จากปีที่แล้วถึงปีนี้ ไม่ได้แพงขึ้นฮะ ผมก็กินอยู่ ผมว่ามันไม่ได้แพงขึ้น” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล กล่าว

ขณะที่ นายชูวัส ก็กล่าวสนับสนุนว่า ตนเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าของแพงขึ้นเช่นกัน แต่คนรอบข้างกลับบ่นว่าของแพงขึ้น ดังนั้น ตนจึงฟันธงว่าการจุดกระแสเรื่องของแพงขึ้นมานี้เป็นเรื่องการเมือง มิใช่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ

“ถูกต้องฮะ ก๋วยเตี๋ยวก็ไม่ได้แพงขึ้น เพราะฉะนั้นกลับไปยุ่งเรื่องอุดมการณ์ต่อดีกว่าฮะ เรื่อง 112 รัฐธรรมนูญ นั่นแหละเรื่องสำคัญ เพราะข้าวไม่ได้แพง” ม.ล.ณัฏฐกรณ์กล่าวเสริม

ขณะที่ นายพิชญ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอ้างว่า ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การที่ของราคาขึ้นอาจหมายความว่าประชาชนมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น คนมีรายได้มากขึ้น จึงกล้าจับจ่ายมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าข้าวยากหมากแพงเสมอไป

นอกจากนี้ ผู้ดำเนินรายการทั้ง 3 คนยังยกรายละเอียดของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น โพสต์ทูเดย์ บางกอกโพสต์ ขึ้นมา โดยระบุว่า ข้อมูล เช่น ราคาข้าวแกง 20-30 บาทในปีที่แล้ว ขึ้นมาเป็น 35-40 บาทในปีนี้ ขณะที่ก๋วยเตี๋ยวก็ขึ้นจาก 20-30 บาท เป็น 35-40 บาท โดยระบุว่า ข้อมูลเหล่านี้ขัดแย้งกับราคาวัตถุดิบที่ถูกลง เช่น ราคาเนื้อไก่ ราคาไข่ไก่ ราคาเนื้อหมู ราคากุ้ง ผักคะน้า กะหล่ำปลี ฯลฯ

“ถ้าถูกลงก็ไปกินกุ้งกันสิฮะ” นายพิชญ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงขบขัน

จากนั้น ม.ล.ณัฏฐกรณ์จึงกล่าวต่อว่า เรื่องราคาน้ำมันนั้นเป็นเรื่องของกลไกตลาดที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นอยู่แล้ว โดย นายพิชญ์ เสริมด้วยว่า ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปลิตรละเพียง 3 บาท แต่เหตุใดราคาข้าวแกงจึงขึ้นไปจานละ 5-10 บาท

“ข้าวแกง จากน้ำมันดีเซลขึ้นไปลิตรละ 3 บาท มันทำให้ข้าวแกงขึ้นไปตั้ง 5 บาท ถึง 10 บาท ได้ยังไง คุณเอาน้ำมันใส่ลงไปในข้าวแกงหรือไง?” นายพิชญ์ พูดพลางหัวเราะหึๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น