“พลังงาน” เผย ยอดใช้น้ำมันเดือน ม.ค.ลดลง หลังราคาเบนซินสูงขึ้น 4-5 บาท และดีเซลทะลุ 30 บาท ขณะที่ยอดใช้ LPG-NGV เพิ่มสูงขึ้น
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมพลังงานในประเทศเดือนมกราคม 2555 พบว่า มีปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 960,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 23% จากเดือนธันวาคม 2554 คิดเป็นมูลค่า 105,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ จำนวน 915,000 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันสำเร็จรูปจำนวน 45,000 บาร์เรลต่อวัน
โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นในประเทศหลายแห่งได้ปิดซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี ประกอบกับความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังวิกฤตอุทกภัยและอยู่ในช่วงเทศกาลทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ด้านปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 189,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 8% โดยมีมูลค่า 22,166 ล้านบาท ลดลง 3%
สำหรับปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมการคม 2555 อยู่ที่ 20.4 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 4% จากเดือนธันวาคม 2554 หรือคิดเป็นประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน โดยเป็นการปรับลดลงของน้ำมันทุกชนิด ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 โดยมีสาเหตุมาจากราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับรัฐบาลได้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 1 บาทต่อลิตรในวันที่ 16 มกราคม 2555 ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ประมาณ 4-5 บาทต่อลิตร
ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ตั้งแต่วันที่ 1-18 กุมภาพันธ์ 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21.3 ล้านลิตรต่อวัน แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มอีก 1 บาทต่อลิตร ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555
ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ 54.6 ล้านลิตรต่อวัน ปรับลดลง 5% จากเดือนธันวาคม 2554 หรือคิดเป็นประมาณ 3 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก และจากการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 60 สตางค์ต่อลิตร ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นถึง 31.13 บาทต่อลิตร ส่วนการใช้น้ำมันตั้งแต่วันที่ 1-18 กุมภาพันธ์ 2555 ก็ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2555 ประมาณ 3% หรือมีการใช้อยู่ที่ประมาณ 57.9 ล้านลิตรต่อวัน
ส่วนปริมาณการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ในเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ 590,000 ตันต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ประมาณ 6% โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของภาคปิโตรเคมี 18% เนื่องจากบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCG ในส่วนของปิโตรเคมี ได้กลับมาดำเนินการตามปกติ ภายหลังจากหยุดซ่อมฉุกเฉินในเดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา
ส่วนในภาคขนส่งปรับเพิ่มขึ้น 6% เนื่องจากราคาแอลพีจียังมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมัน ขณะที่การใช้ในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยภาคอุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีการใช้อยู่ที่ประมาณ 50,000 ตันต่อเดือน เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับเพิ่มราคาแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เดือนกกกฎาคม 2554
สำหรับการนำแอลพีจีในเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ 113,000 ตันต่อดือน และต้องมีภาระการจ่ายชดเชยเพิ่มขึ้นเป็น 2,223 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2555 คาดว่า จะมีการนำเข้าประมาณ 160,000 ตันต่อเดือน และคาดว่าจะต้องจ่ายเงินชดเชยประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงที่ 6 มีการหยุดซ่อมบำรุงในช่วงวันที่ 4-29 กุมภาพันธ์ 2555 ส่วนเดือนมีนาคม 2555 คาดว่า จะมีการนำเข้าประมาณ 180,000 ตันต่อเดือน
ด้านการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ เอ็นจีวี ในเดือนมกราคม 2555 มีการใช้อยู่ที่ 7.4 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้น 10% จากเดือนธันวาคม 2554 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะเพิ่มขึ้น 29% เนื่องจากมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมัน
นายวีระพล ยังกล่าวคาดการณ์ว่า ราคาน้ำดิบในตลาดโลกปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในประทศอิหร่าน ความตึงเตรียดในตะวันออกกลาง รวมถึงเศรษฐกิจในประทศยุโรปและอเมริกา ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบยังคงมีความผันผวน ขณะอีไอเอ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล