xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นค่าแรง-ของแพงทั้งแผ่นดิน ประชานิยมออกฤทธิ์ น็อก"ปูแดง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมครม.เศรษฐกิจ ถกปัญหาสินค้าราคาแพงที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 55
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ประชานิยมออกฤทธิ์ กระชากค่าครองชีพพุ่ง รัฐบาลปูแดง “เอาไม่อยู่” สินค้าพลังงานทยอยปรับราคาหลังหมดโปรโมชั่นยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน คาดเบนซินทะลุลิตรละ 48 บาท ดีเซลเจอดีเดย์รีดคืนภาษีสรรพสามิตถึง 38 บาทแน่ ส่วนแอลพีจีขึ้นอีกกก.ละ 4-7 บาท หวั่นเมษาฯ โกลาหลแคมเปญค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลนายจ้าง-ลูกจ้าง-รัฐบาลซัดกันนัว เจ๊งระนาว

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจถกด่วนเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มี.ค. 55 เท่ากับเป็นการยอมรับถึงปัญหาปากท้องของประชาชนว่าตกอยู่ในสถานการณ์เดือดร้อนแสนสาหัส หลังจากที่ปล่อยให้บรรดาลิ่วล้อออกมาตีฝีปากว่า ราคาสินค้าข้าวของไม่ได้แพงว่าที่คิด รัฐบาลดูแลได้

แต่ถึงกระนั้น ในวงประชุมครม.ดังกล่าว นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ยังรายงานว่า จากการสำรวจตลาดขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ หลายแห่งเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าสินค้าหลายรายการลดลง โดยเฉพาะเนื้อหมู ไก่ ผักบุ้ง มะระขาว มะระจีน มะขามเปียก แตงกวา ผักกวางตุ้ง ราคาลดลง 1-40 % แต่ยอมรับว่าไข่ไก่ยังมีราคาสูง ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า 10 รายการของสินค้าภาคการเกษตรราคาถูกลงจากปี 2554 รวมทั้งราคาอาหารสดก็ลดลงและยังไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กลับรายงานว่า ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นถึง 12% เครื่องปรุงอาหารราคาเพิ่ม 11% อาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้านราคาเพิ่มขึ้น 12.4% บริโภคนอกบ้านเพิ่ม 5.3% ชี้ว่ากินในบ้านแพงกว่ากินนอกบ้านเนื่องจากอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ราคาเพิ่มขึ้นสูงมาก ส่วนสินค้าด้านการเกษตรราคาลดลง

ข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์และสภาพัฒน์ ตรงกันประการหนึ่งว่า สินค้าด้านการเกษตร เช่น ผัก ราคาลดลง แต่ราคาเนื้อสัตว์กลับมีข้อมูลขัดแย้งกัน พาณิชย์บอกถูกลง สภาพัฒน์บอกแพงขึ้น หนำซ้ำสภาพัฒน์ ยังบอกว่าต้นทุนการบริโภคอาหารในบ้านแพงกว่านอกบ้าน ลบล้างความเชื่อที่บอกสอนกันมานมนานว่ากินอาหารที่บ้านประหยัดกว่าสิ้นเชิง

ผลสรุปจาการเรียกประชุมด่วน จึงไม่มีรูปธรรมการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนแต่อย่างใด มีแต่การสร้างความพิศวงงงวยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่ให้พาณิชย์ กลับไปดูต้นทุนสินค้าตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ไม่ใช่จะมาบอกว่าดูแค่ปลายทางเท่านั้น ส่วนสภาพัฒน์ ให้กลับไปดูต้นทุนราคาเนื้อสัตว์และการบริโภคอาหารในบ้านกับนอกบ้าน ที่มีต้นทุนแตกต่างกันมากกว่าเท่าตัวเสียใหม่

นี่ยังไม่นับ ข้อมูลการรายงานต่อประชาชนของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ “รมว.พาณิชย์เงา” ที่กล่าวถึงสถานการณ์ของแพงหลังราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันดีเซล ก๊าซเอ็นจีวี ก๊าซแอลพีจี ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า พรรคฯ ได้สำรวจราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 10 จังหวัดจากทั่วประเทศ พบว่า มีสินค้า 3 ชนิด ได้แก่ ไข่ไก่ ผักคะน้า และมะนาว มีแนวโน้มแพงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหมูเนื้อแดง ที่รัฐบาลกำหนดราคาอ้างอิงไว้กิโลกรัมละ 100-105 บาท ปรากฏว่าขายถึงกิโลกรัมละ 120-130 บาท ข้าวแกงที่กำหนดไว้จานละ 20-25 บาท เพิ่มไข่ดาวฟองละ 5 บาท ปรากฏว่ามีการขายจานละ 30-35 บาท เพิ่มไข่ดาวฟองละ 7-10 บาท ขณะที่สินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ทั้ง 42 รายการ พบว่า มีถึง 3 หมวดที่ปรับราคาสูงขึ้น ทั้งอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคและปัจจัยการผลิตทางเกษตร

ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นจากการปรับราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ประชาชนทั่วไปสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ฯลฯ ที่ทยอยปรับขึ้นเรื่อยๆ จาก 30-35-40-45 บาท และไม่มีทางที่รัฐบาลจะเข้าไปควบคุมราคาได้แม้จะออกมาตรการต่างๆ มาจัดการก็ตามนั้น ปัจจัยสำคัญที่เป็นพื้นฐานหลักก็คือ ราคาสินค้าพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง ถึงเวลาปรับราคาขึ้นหลังจากหมดแคมเปญโปรโมชั่นยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและงดเก็บภาษีสรรพสามิตชั่วคราวสิ้นสุดลง การปรับขึ้นราคาก๊าซฯ แอลพีจี ก๊าซเอ็นจีวี เบนซิน และจะตามมาด้วยดีเซล ขณะนี้อันที่จริงเป็นแต่เพียงการเผาหลอก การเผาจริงจะเริ่มเห็นชัดขึ้นหลังจาก เม.ย.นี้เป็นต้นไป
ประชุมครม.เศรษฐกิจ ถกแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง วันที่ 16 มี.ค. 55
หากยังจำกันได้ แคมเปญประชานิยมเรียกคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยในสมัยเลือกตั้งหลังสุด คือ การยกเลิกกองทุนน้ำมัน เพราะเป็นภาระประชาชนและไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันเบนซินที่ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนแล้วรัฐบาลนำเงินกองทุนน้ำมันไปใช้อุดหนุนราคาพลังงานอื่นๆ ทั้งดีเซลและก๊าซฯ ให้มีราคาถูกลง แต่พอถึงบทเข้ามาเป็นรัฐบาลจริง ใจกลับไม่กล้าเลิกเพราะกองทุนน้ำมันกลายเป็นกองทุนการเมืองที่รัฐบาลสามารถเอาเงินประชาชนผู้ใช้น้ำมันที่ถูกรีดเงินเข้ากองทุนไปใช้หาเสียงกับผู้ใช้พลังงานกลุ่มต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รัฐบาลจึงแก้เก้อด้วยการ “เลิกเก็บชั่วคราว” ทำให้ราคาน้ำมันถูกลงทันที 5-7 บาท เงินกองทุนน้ำมันก็หร่อยหรอลงทันที กระทั่งมียอดติดลบสะสมประมาณสองหมื่นล้านในขณะนี้

แต่ชาวประชาดีใจได้เพียงชั่วครู่ จากนั้นเมื่อแคมเปญเลิกเก็บชั่วคราวจบลง ราคาน้ำมันก็เริ่มปรับขึ้น เริ่มจากเบนซิน 91 และ 95 ที่ปรับขึ้น 1 บาท ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลเบนซิน 91 พุ่งขึ้น อยู่ที่ลิตรละ 42.58 บาท เบนซิน 95 ลิตรละ 46.46 บาท โดยยังตรึงราคาดีเซลและแก๊สโซฮอลล์ เอาไว้ก่อน

อย่าลืมว่า นี่เป็นตัวเลขราคาปรับขั้นเริ่มต้นโดยที่ยังไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เพราะไม่เพียงแต่ต้องทยอยปรับขึ้นเรื่อยๆ ให้ถึง 5 -7 บาทเช่นก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนชั่วคราวสำหรับเบนซิน ซึ่งหากตัวเลขดังกล่าวเป็นหลักหมาย เบนซิน 91 มีโอกาสขึ้นไปถึงลิตรละ 48 บาท และ เบนซิน 95 ลิตรละ 51 บาทแล้ว ยังมีเงื่อนไขสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มขาขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง การเปิดฉากสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสรเอลที่มีสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังอีกต่างหาก

ส่วนดีเซลนั้น นอกจากจะถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 3 บาทเหมือนเดิมแล้ว ยังขึ้นอยู่กับว่ากระทรวงการคลัง จะเริ่มรีดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ลดไปก่อนหน้านี้ 5.30 บาท หลังสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวในสิ้นเดือนมี.ค. 55 นี้ หรือว่าจะยืดเวลาออกไปถึงสิ้นสุดเม.ย. 55 แทน นั่นหมายความว่า หากเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตบวกกับเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ราคาดีเซล จะสูงถึงลิตรละ 38 บาท ขณะที่ ราคาก๊าซแอลพีจี และก๊าซเอ็นจีวี นั้น จะมีการทยอยปรับราคาตามมติครม. จนกระทั่งราคาก๊าซแอลพีจี อยู่ที่กก.ละ 27 บาท และก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 14.50 บาท

ต้นทุนค่าครองชีพที่กระชากสูงขึ้น ไม่ได้เป็นผลจากราคาสินค้าพลังงานที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น การปรับเงินเดือนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ต้นปี 55 และการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท หรือเพิ่มขึ้น 40% ใน 7 จังหวัดนำร่อง ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 เม.ย. 55 ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้นไว้รอท่าล่วงหน้าแล้ว

การปรับขึ้นเงินเดือน ค่าแรง ตามสัญญาประชานิยมเพื่อระดับการครองชีพของประชาชน แม้ถือเป็นเรื่องดีสำหรับบรรดามนุษย์เงินเดือนและผู้ใช้แรงงาน แต่ค่าจ้างที่ไล่หลังค่าครองชีพอาจไม่ได้ตอบคำถามเรื่องการอยู่ดีกินดีหรือสุขสบายขึ้นแต่อย่างใด ไม่นับว่าเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ เพราะอีกด้านหนึ่งของการปรับขึ้นค่าแรงทำให้การผลิตสินค้ามีต้นทุนเพิ่มขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดต่ำลง โดยเฉพาะกิจการที่ยังย่ำอยู่กับข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนค่าแรงถูก หรือกิจการขนาดเล็กที่แบกรับต้นทุนที่ปรับขึ้นทุกด้านไม่ไหว เช่น กิจการโรงแรมขนาดเล็ก บริษัททัวร์ ที่ออกมาบอกว่าเตรียมเจ๊งระนาวกว่าพันราย

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ยังจะนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง และรัฐบาล หากนายจ้างไม่ยอมปรับค่าแรงตามประกาศของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการ 42 บริษัท ทำตัวเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน ยื่นฟ้องศาลปกครอง กล่าวหาคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่มีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ออกประกาศปรับขึ้นค่าแรงไม่ชอบกฎหมาย โดยเฉพาะมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ทั่วประเทศ โดยนำร่อง 7 จังหวัดในวันที่ 1 เม.ย.นี้ โดยขอศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไว้ก่อน ขณะที่ฝ่ายแรงงาน โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ก็พร้อมออกมาเคลื่อนไหว ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทางแรงงานก็เตรียมยื่นอุทธรณ์ขอศาลยกเลิก เพราะการปรับขึ้นค่าแรงรัฐบาลได้ประกาศและมีผลทางกฎหมายแล้ว อีกทั้งค่าครองชีพสูงขึ้นจนแรงงานอยู่กันอย่างลำบากยากเข็ญ

ดูท่าเมษาฯ โกลาหล ทั้งค่าครองชีพ ค่าแรง ราคาพลังงงาน ที่ผสมปนเปไปกับกระแสต้านแก้รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม อาจน็อกรัฐบาลปูแดงโดยไม่คาดฝัน เว้นแต่ชาวประชาส่วนใหญ่เสพติดประชานิยมหลอกๆ จนกว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นกบที่ต้มสุกไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น