xs
xsm
sm
md
lg

"สุธาชัย"ชี้ขั้วอำนาจกองทัพ เครื่องมือการเมือง"อำมาตย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เวทีเสวนา กองทัพไทยกับประชาธิปไตย "สุธาชัย" ร่ายยาวย้อนอดีตบิ๊กสีเขียว เชื่อกองทัพยังมีอำนาจในมือ และเป็นกลไกหนึ่งของกลุ่มอำมาตย์ ด้าน เสธ.ทหาร ยกสังคมไทยเป็นแค่เด็กทารก เปลี่ยนแปลงยากต้องฟังผู้ใหญ่ "วาสนา" เปรยไม่มั่นใจยุคนี้ไร้ปฏิวัติ-รัฐประหาร

เมื่อเวลา 13.30 น.วานนี้ (18 มี.ค.) ที่ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดเสวนา "กองทัพไทยกับประชาธิปไตย" โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วยนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง นักวิชาการด้านความมั่นคง

นายสุธาชัย กล่าวว่า รากฐานของกองทัพไทยตั้งแต่ในสมัยรัชการที่ 5 มีหน้าที่ประจำการ หน้าที่ก็เพียงปกป้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร ทหารส่วนใหญ่ได้เดินทางไปศึกษากับชาติตะวันตก แล้วกลับมาประเทศ มีแนวคิดต้องการให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตย เรียกเขาเหล่านี้ว่าพวกกลุ่มหัวก้าวหน้า หรือ ชาตินิยม ขณะเดียวกันยังมีทหารอีกกลุ่มที่เป็นพวกแนวอนุรักษ์นิยมแล้วตีความว่า กลุ่มนี้จะยกอำนาจให้กษัตริย์ ตรงข้ามกับทหารที่เป็นประชาธิปไตย เขาจะยกเอาอำนาจส่วนใหญ่เป็นของประชาชน

"ตั้งแต่ปี 2490 ประเทศไทยมีการก่อรัฐประหารมาแล้ว 9 ครั้ง ถือว่ามากที่สุดกว่าประเทศในแถบลาตินอเมริกา ที่มีการรัฐประหารแล้วก็ไม่มีระบบรัฐสภา หากมีทหารก็เข้าไปดูแล หรือในปี 2494 มีเหล่าทัพ บก เรือ และอากาศ ได้ทำการรัฐประหาร กลุ่มนี้คัดค้านการล้มเจ้า แล้วไปปราบปรามอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ บอกว่า มีลักษณะเป็นสังคมนิยม แล้วสร้างทำให้กองทัพบกมีอำนาจสูงสุด พวกพ้องส่วนมาก เข้าไปดูแลครอบครองโภคทรัพย์ทางเศรษฐกิจนายทหารส่วนใหญ่จึงมีความร่ำรวยในอันดับต้นๆ"

ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายทหารที่หนุนเจ้าอย่างเต็มตัว ได้มีการก่อตั้งระบบอบ แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิด แล้วสหรัฐอเมริกาก็ออกโรงหนุนอย่างดี กระทั่งมีการออกมาจัดตั้งฐานทัพในไทย ยุคนั้นเรียกได้ว่า มีระบบขุนศึก รวมไปถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร ก็เป็นกลุ่มเดียวกัน เมื่อยุคขุนศึกเสื่อมถอยได้เกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาฯ แล้วก่อให้เกิดระบบนายทุน พ่อค้า ขึ้นมาแทนที่ในที่สุด

การทำรัฐประหารในปี 2534 ของคณะรสช. ที่เข้ายึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ทำให้นายทหารรุ่น 5 มีอำนาจขึ้นมากเท่าเทียมยุคจอมพลสฤษดิ์ และได้คิดว่าเป็นยุคสุดท้ายที่ขุนศึกพังจบลงไป หลังจากนั้นปี 2535 กองทัพก็ลดบทบาทลง

ต่อมาในปี 2549 มีการรัฐประหารขึ้นมาอีก จากการดำเนินการของคนแค่ 7 คน ที่ไปพูดคุยกินข้าว แล้วสั่งการให้ทหารไปทำรัฐประหาร

" ปัจจุบัน กองทัพยังมีอำนาจ กำลัง สามารถคุกคามประชาธิปไตยได้แล้วเป็นกลไกหนึ่งของ อำมาตย์ ที่สั่งการอยู่ข้าง หลังคอยครอบงำกองทัพที่ไม่มีความคิดเลื่อมใสต่อระบบประชาธิปไตย ส่วนตัวคิดว่าการรัฐประหารไม่น่าเกิดขึ้นอีกแล้ว เขาไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ถ้าเข้ามาเล่นการเมืองเกี่ยวข้องแบบตรงไปตรงมา ก็สง่างาม ได้มากกว่าได้ เช่นกัน ในส่วนข้ออ้างการรัฐประหาร หลายอย่างก็ไม่น่าฟังขึ้น อย่างข้อหาทุจริต คอร์รัปชั่น ละเมิดเบื้องสูงหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ในการรัฐประหาร ก็ยกมาอ้างใช้ทุกครั้ง หรือชนชั้นนำของเราส่วนใหญ่เป็นพวกที่คับแคบ ทำเป็นแค่ชอบไล่ฆ่าคนอื่น" นายสุธาชัย ระบุ

ด้านพ.อ.ดร.ธีรนันท์ กล่าวว่า "หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้เกิดรธน.ปี 40 ทหาร ได้ถอยออกมาจากการเมืองอย่างชัดเจนในปี 49 ทหารไม่ถอยออกจากการเมือง สาเหตุใหญ่มองได้ว่า เกิดการทำงานสื่อสารของสื่อมวลชน วันนี้มองไทยยังมีน้ำแข็งห่อหุ้มอยู่ สังคมยังถูกครอบงำจากอดีตเป็น เบบี้ บลอมเมอร์ การเปลี่ยนแปลงสังคมของไทยคงเป็นไปได้ยาก เพราะเรายังมีระบบอาวุโส ดังนั้นการที่คนไทยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด คงยากแน่ๆ” นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าว

ขณะที่ น.ส.วาสนา กล่าวว่า "วันนี้เรายังไม่กล้ายืนยันว่า รัฐประหาร 19 กันยาฯ จะเป็นครั้งสุดท้าย ถ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาล ก็ยังไม่ชัดเจนต่อกันมากนัก แต่ก็คิดว่าโอกาสในการปฏิวัติครั้งต่อไป คงเกิดได้ยาก โอกาสที่จะเป็นกบฏ มีได้มากกว่ากัน หากมองกองทัพ กับประชาธิปไตย และการปฏิวัติรัฐประหารแล้ว กองทัพบกจะมีบทบาทมากสุด ดังนั้นจึงมีการติดตามจับตามองบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.มาตลอด แม้จะมีภาพอยู่หลังนายกรัฐมนตรีออกมา แต่คงไปตัดสินกันไม่ได้ เพราะกองทัพบกมีอำนาจ คิดวางแผนเอง ครั้นทำสำเร็จค่อยไปเชิญเพื่อนๆ เข้ามาร่วมกับคณะย่อมทำได้" นักข่าวสายทหาร กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น