xs
xsm
sm
md
lg

ไม่การันตี “รบ.ปู” ปลอดปฏิวัติ-ต้องจับตาบทบาท “ประยุทธ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจากแฟ้ม)
นักวิชาการแดงเพ้อ กองทัพยังคุกคามประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือของอำมาตย์ อ้างยึดอำนาจ 19 ก.ย.ไร้เหตุผล “พ.อ.ธีรนันท์” ชี้ทหารไทยเปลี่ยนตามกระแสโลก แต่จะให้เปลี่ยนแบบทันทีคงยาก ด้าน “วาสนา” ยังไม่กล้ายืนยันรัฐประหาร 49 จะเป็นครั้งสุดท้าย ชี้แม้ “ประยุทธ์” เดินตามหลังนายกฯ ตลอด แต่ยังเอามาตัดสินอะไรไม่ได้

วันนี้ (18 มี.ค.) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดเสวนา “กองทัพไทยกับประชาธิปไตย” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง นักวิชาการด้านความมั่นคง นักศึกษาและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง

นายสุธาชัย ซึ่งเป็นนักวิชาการคนเสื้อแดงและเคยยื่นประกันตัวนางดารนี ชาญเชิงศิลปกุล (ดา ตอร์ปิโด) ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กล่าวว่า ความเป็นมารากฐานของกองทัพไทยตั้งแต่แรกเริ่ม กองทัพในระบบดั้งเดิมยังไม่มีการประจำการไม่มีหน้าที่ปกป้องอริราชศัตรูแล้ว ยังไม่มีการสู้รบกับต่างชาติจึงมีเพียงแต่การเจรจาทางการทูตเป็นหลัก ต่อมามีการก่อตั้งทหารในสมัยรัชการที่ 5 มี หน้าที่ประจำการหน้าที่ก็เพียงปกป้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร ทหารส่วนใหญ่ได้เดินทางไปศึกษากับชาติตะวันตกแล้ว กลับมาประเทศมีแนวคิดต้องการให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตย เรียกเขาเหล่านี้ว่าพวกกลุ่มหัวก้าวหน้าหรือชาตินิยม ขณะเดียวกันยังมีทหารอีกกลุ่มที่เป็นพวกแนวอนุรักษนิยมสุดขั้วแล้วตีความว่ากลุ่มนี้จะยกอำนาจให้กษัตริย์ ตรงข้ามกับทหารที่เป็นประชาธิปไตยเขาจะยกเอาอำนาจส่วนใหญ่เป็นของประชาชน

“ผมมองอดีตตั้งแต่ปี 2490 ประเทศไทยมีการก่อรัฐประหารมาแล้ว 9 ครั้ง ถือว่ามากที่สุดกว่าประเทศในแถบละตินอเมริกาที่มีการรัฐประหารแล้วก็ไม่มีระบบรัฐสภา หากมีทหารก็เข้าไปดูแล หรือในปี 2494 มี เหล่าทัพบก เรือ และอากาศได้ทำการรัฐประหารกลุ่มนี้คัดค้านการล้มเจ้าแล้วไปปราบปรามอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ บอกว่ามีลักษณะเป็นสังคมนิยมแล้วสร้างทำให้กองทัพบกมีอำนาจสูงสุด พวกพ้องส่วนมากเข้าไปดูแลครอบครองโภคทรัพย์ทางเศรษฐกิจ นายทหารส่วนใหญ่จึงมีความร่ำรวยในอันดับต้นๆ” อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์จุฬาฯ กล่าว

นอกจากนี้ นายสุธาชัยยังบอกอีกว่า ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายทหารที่หนุนเจ้าอย่างเต็มตัว ได้มีการก่อตั้งระบบอบแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดแล้วสหรัฐอเมริกาก็ออกโรง หนุนอย่างดี กระทั่งมีการออกมาจัดตั้งฐานทัพในไทยยุคนั้น เรียกได้ว่ามีระบบขุนศึก รวมไปถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร หรือจอมพลประภาส จารุเสถียร ก็เป็นกลุ่มเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคขุนศึกเสื่อมถอยได้เกิดขึ้นตามมาในวันที่ 14 ตุลาแล้วก่อให้เกิดระบบนายทุน พ่อค้าขึ้นมาแทนที่ในที่สุด

นายสุธาชัยกล่าวต่อว่า การทำรัฐประหารในปี 2534 ของคณะ รสช.ที่เข้ายึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นการรัฐประหารที่แปลกมาก ทำให้นายทหารรุ่น 5 มีอำนาจขึ้นมากเท่าเทียมยุคจอมพลสฤษดิ์ และได้คิดว่าเป็นยุคสุดท้ายที่ขุนศึกพังจบลงไป หลังจากนั้นปี 2535 กองทัพก็ลดบทบาทลง ต่อมาเหตุการณ์ที่หลายฝ่ายแทบไม่เชื่อเกิดขึ้นอีกในปี 2549 ในโลกนี้เขาไม่ทำกันเลยมีอยู่แค่ 5 ประเทศรวมไทยที่ทำอยู่ได้มีการรัฐประหารขึ้นมาอีกที่มีการดำเนินการของคนแค่ 7 คนที่ไปพูดคุยกินข้าวแล้วสั่งการให้ทหารไปทำรัฐประหาร

“ปัจจุบันกองทัพยังมีอำนาจกำลังสามารถคุกคามประชาธิปไตยได้ แล้วเป็นกลไกหนึ่งของอำมาตย์ที่สั่งการอยู่ข้างหลังคอยครอบงำกองทัพที่ไม่มีความคิดเลื่อมใสต่อระบบประชาธิปไตย ส่วนตัวคิดว่าการรัฐประหารไม่น่าเกิดขึ้นอีกแล้ว เขาไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ถ้าเข้ามาเล่นการเมืองเกี่ยวข้องแบบตรงไปตรงมาก็สง่างามได้มากกว่าได้เช่นกัน ในส่วนข้ออ้างการรัฐประหารหลายอย่างก็ไม่น่าฟังขึ้นอย่างข้อหาทุจริต คอร์รัปชัน ละเมิดเบื้องสูงหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ในการรัฐประหารก็ยกมาอ้างใช้ทุกครั้ง หรือชนชั้นนำของเราส่วนใหญ่เป็นพวกที่คับแคบทำเป็นแค่ชอบไล่ฆ่าคนอื่น” นายสุธาชัยกล่าวอ้าง

ด้าน พ.อ.ดร.ธีรนันท์กล่าวว่า บทบาททหารในระบอบประชาธิปไตย หากมองเป็นในแบบของชาวตะวันตกภาพจะออกมาเป็นแบบอิงแอบข้างประชาชนแล้วเรียกกันว่าทหารอาชีพ แล้วมองสิ่งที่เกิดกับทหารไทยในอดีตส่วนใหญ่มาเป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมักเกิดจากกระแสของโลก อาทิ การเกิดสงครามโลกแล้วไทยถูกครอบงำจากอเมริกาแล้วมีการส่งแนวคิดอาวุธมาให้ กับไทยจึงได้รับอิทธิพลเข้ามาแบบเต็มๆ

“เราพบว่าหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 40 ทหารได้ถอยออกมาจากการเมืองอย่างชัดเจน ในปี 49 ทหารไม่ถอยออกจากการเมือง สาเหตุใหญ่มองได้ว่า เกิดจากการทำงานของสื่อมวลชน วันนี้มองไทยยังมีน้ำแข็งห่อหุ้มอยู่ สังคมยังถูกครอบงำจากอดีต การเปลี่ยนแปลงสังคมของไทยคงเป็นไปได้ยาก เพราะเรายังมีระบบอาวุโส ดังนั้น การที่คนไทยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใดคงยากแน่ๆ” พ.อ.ธีรนันท์กล่าว

ขณะที่ น.ส.วาสนากล่าวว่า เมื่ออายุ 21 ปี ขณะเป็นนักศึกษายอมรับว่ามีปัญหาไม่พอใจทหารที่ไปทำการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือฆ่าประชาชนตลอดมา พอสำเร็จการศึกษาจึงเข้าทำงานเพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของทหาร กระทั่งเริ่มเข้าใจทางกองทัพ แต่ไม่ใช่เป็นพวกเดียวกัน

“วันนี้เรายังไม่กล้ายืนยันว่า รัฐประหาร 19 กันยา 49 จะเป็นครั้งสุดท้าย ถ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจนต่อกันมากนัก แต่ก็คิดว่าโอกาสในการปฏิวัติครั้งต่อไปคงเกิดได้ยาก ไม่มีง่ายๆ เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา โอกาสที่จะเป็นกบฏมีได้มากกว่ากัน หากมองกองทัพกับประชาธิปไตยและการปฏิวัติรัฐประหารแล้วกองทัพบกจะมีบทบาทมากสุด ดังนั้นจึงมีการติดตามจับตามองบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกมาตลอด แม้จะมีภาพอยู่หลังนายกรัฐมนตรีออกมา แต่คงไปตัดสินกันไม่ได้ เพราะกองทัพบกมีอำนาจคิดวางแผนเอง ครั้นทำสำเร็จค่อยไปเชิญเพื่อนๆ เข้ามาร่วมกับคณะย่อมทำได้” นักข่าวสาวสายทหารกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น