xs
xsm
sm
md
lg

วิวาทะ “คอร์เนล” การเมืองไทย : ภายใต้ปีกพญาอินทรี (ตอน 6)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

อะไรคือ รากที่มาของพลังอำนาจแบบอ่อนๆ

เพื่อนบางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมซ้ายสุดขั้ว อย่างพวกแดง กับพวกประชาธิปไตยสุดตัว จึงกลายเป็นพันธมิตรของกันและกัน

ผมเชื่อว่า ทั้งความเชื่อเรื่อง “ประชาธิปไตย” และ “ความเชื่อแบบแดงสุดขั้ว” มีฐานกำเนิดและที่มาที่เดียวกัน หรือมีแม่คนเดียวกัน นั่นคือสิ่งที่ผมเรียกว่า “วัฒนธรรมตะวันตก”

หรือกล่าวแบบง่ายๆ “วัฒนธรรมตะวันตก” คือแม่ที่มีนม 2 เต้า ข้างหนึ่งเรียกว่า “ทุนนิยม และประชาธิปไตย” อีกข้างหนึ่งเรียกว่า “สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์”

บางครั้งที่ผมต้องไปสอนวิชาว่าด้วย “รัฐ” ผมเริ่มต้นการสอนด้วยการบอกนักศึกษาว่า

“ถ้าอยากจะเข้าใจว่า อะไร คือ รัฐ ต้องโยนความคิดหรือบรรดาทฤษฎีว่าด้วยรัฐในโลกตะวันตกทิ้งทั้งหมดก่อน และเริ่มใหม่จากคำว่า ระบบจักรวรรดิ

แต่ถ้าจะเข้าใจว่า อะไร คือ Empire ก็ต้องเข้าใจ กำเนิดของ Empire หรือต้องใช้ “เวลา” ทางประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างยาวมากๆ

หรือกล่าวว่า จะเข้าใจว่า อะไร คือ Empires ทั้งแบบทุนนิยม และสังคมนิยม ต้องย้อนไปตั้งแต่เริ่มต้นก่อนกำเนิดทุนนิยม เริ่มในยุคที่เกิดพ่อค้า และเมืองการค้า ที่ขยายตัวขึ้นในยุโรป ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 14 ถึง 15

ระบบการค้าโลกนี้ได้ขยายตัวขึ้นไปเรื่อยๆ นำสู่การปฏิวัติทางภูมิปัญญาครั้งประวัติศาสตร์ ในช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเรียกว่า “ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา” ของชาวยุโรป หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Enlightenment ถ้าแปลความง่ายๆ ก็คือ การตรัสรู้ของชาวตะวันตก

การสร้าง “ฐานภูมิปัญญา” นี้ จึงกลายเป็นพลังทางปัญญา และเป็นที่มาของชุดความรู้และวิชาการ และเป็นที่มาของการสร้างระบบ Empires ที่มั่นคงในช่วงต่อมา

โดยทั่วไป เราจะเรียกฐานทางภูมิปัญญานี้ว่า “วัฒนธรรมตะวันตก” เพื่อชี้ว่า ฐานกำเนิดของภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์ชุดนี้ มีรากเหง้าที่ลึกมาก มีวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบที่ก่อตัวในโลกตะวันตกเป็นฐาน

อะไรคือ วัฒนธรรมตะวันตก

เดิมที วัฒนธรรมตะวันตกก่อตัวขึ้นในพื้นที่แถบที่ค่อนข้างหนาว เริ่มกำเนิดเป็นวัฒนธรรมแบบชนเผ่าที่เคลื่อนย้ายไปมา

การที่มีชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดการต่อสู้ช่วงชิงกัน หรือเกิดสงครามระหว่างเผ่าต่างๆ วัฒนธรรมชุดนี้จึงมีฐานอยู่บนความเชื่อเรื่องสงคราม และการเอาชนะด้วยการใช้กำลัง คนตะวันตกจึงชื่นชม “การปฏิวัติ” ชอบสงครามที่รุนแรง และมักจะเชื่อกันว่า “ประวัติศาสตร์ เคลื่อนตัวไปได้ด้วยสงครามหรือการปฏิวัติที่รุนแรง”

ความไม่พอเพียงเรื่องอาหารการกิน และอากาศที่หนาว ทำให้คนตะวันตกเชื่อว่า “ต้องคิดเอาชนะและควบคุมธรรมชาติ”

สงคราม ได้กลายเป็นที่มาของลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่ เพราะผู้ชายคือนักรบ วัฒนธรรมตะวันตกจึงให้ “ค่า” ต่อความเป็นชายมาก

สงคราม คือที่มาของการผลิตอาวุธ อาวุธและการค้นพบเทคโนโลยีการผลิต จึงถูกถือว่าคือ “พลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่” ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้

ในเมื่อคนตะวันตกอยู่ในโลกของสงคราม คนตะวันตกจึงมีชีวิตแบบกองทัพ จึงเชื่อใน “ระบบ” และ “ระเบียบ” อย่างมาก พวกเขาจึงเชื่อผู้นำ และใช้ชีวิตภายใต้กฎระเบียบ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “รัฐธรรมนูญ” หรือ “การปกครองโดยกฎหมาย”

ระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจพื้นฐานของคนตะวันตกจะต่างจากคนตะวันออก กล่าวคือ เป็นระบบครอบครัวเดียว (ขนาดเล็ก) และมีระบบกรรมสิทธิ์เอกชนเป็นฐาน จึงเน้นความเป็นปัจเจกสูงมาก ในขณะที่คนตะวันออกจะเป็นครอบครัวใหญ่และใช้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

เดิมทีชาวตะวันตกจะนับถือพระเจ้าแห่งสงคราม (หลายองค์) ต่อมา ได้หันมานับถือ “คริสต์ศาสนา” เพราะชาวยุโรปเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจของโรมันเอ็มไพร์ ซึ่งหันไปใช้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาแห่งชาติ

ย้อนไปในอดีตช่วงประมาณ ค.ศ. 1000 โรมันเอ็มไพร์ได้ประกาศสงครามศาสนากับโลกอาหรับ ที่เรียกว่า “สงครามครูเสด”

ในช่วงนั้น ชาวยุโรป ถือว่าคือ กำลังรบที่สำคัญที่สุดของโรมันเอ็มไพร์ แต่สงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ การพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ได้พลิกผันความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า

ต่อมาเกิดวิกฤตศรัทธาต่อพระเจ้าซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกิดโรคระบาดใหญ่มาก จนทำให้ชาวยุโรปเกือบ 1 ใน 3 เสียชีวิต

ในเวลาใกล้กัน วิกฤตศรัทธาต่อพระเจ้าได้นำสู่การพยายามที่จะปฏิรูปศาสนาใหม่ และเกิดสงครามศาสนาขึ้นทั่วยุโรป

ในที่สุด วิกฤตศรัทธาและความเชื่อ รวมทั้งสงครามศาสนา ได้นำสู่การพยายามสร้างชุดภูมิปัญญาใหม่ หรือสิ่งที่เรียกว่า Enlightenment ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1600 ถึง 1700

การสร้างฐานภูมิปัญญานี้ จึงเป็นผลผลิต 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ การผลิตซ้ำวัฒนธรรมเดิมแบบยุโรป และในเวลาเดียวกัน การปฏิวัติความเชื่อเรื่องพระเจ้าใหม่ เพื่อลดอำนาจของพระเจ้าเหนือมนุษย์ลงไป

นักคิดบางคนจึงกล่าวว่า “นี่คือ ยุคที่พระเจ้าตายไปแล้ว”

กล่าวอย่างง่ายๆ ชาวตะวันตกจะเชื่อว่า พระเจ้าสร้างโลก และสร้างมนุษย์ แต่ได้ยกโลกธรรมชาติให้มนุษย์เป็นผู้ปกครองและดูแล

นี่คือ การผลิตซ้ำวัฒนธรรมเดิม ที่เชื่อว่า “มนุษย์ต้องต่อสู้ และเอาชนะธรรมชาติ”

เพื่อจะอ้างเรื่อง “ความยิ่งใหญ่” ของมนุษย์ จึงต้องผลิตความเชื่อเรื่อง “กฎแห่งเหตุและผล” หรืออ้างว่า “มนุษย์มีสมองเหนือสัตว์ทั้งปวง” และด้วยความสามารถทางสมองนี้เอง ที่สุดแล้ว มนุษย์ก็จะสามารถเข้าถึง “กฎ” ของธรรมชาติทุกอย่าง และสามารถ “ควบคุม” ธรรมชาติ และ “สร้าง” โลกอารยธรรมของมนุษย์ขึ้น

เพื่อสร้าง “ระบบคิดแบบเหตุและผล” นักวิชาการตะวันตก ได้หันกลับไปศึกษาแนวคิดโบราณในยุคกรีกที่สำคัญ คือ แนวคิดของโสเครติส เพลโต้ และอริสโตเติล

โสเครติส คือ ผู้ที่ยอมตาย และไม่ยอมก้มหัวให้กับลัทธิพระเจ้า

เพลโต้ คือ ผู้นำเสนอปรัชญาเหตุและผล และกฎแห่งความขัดแย้ง (หรือ Dialectic)

อริสโตเติล ผู้เสนอแนวทางพื้นฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการค้นคว้า และการวิจัยแยกแยะหน่วยธรรมชาติต่างๆ

เมื่อมนุษย์รู้จักวิธีการค้นคว้าและวิจัย มนุษย์ก็พบพลังทางปัญญา และการพัฒนาสมอง

การค้นคว้าและวิจัย คือ ที่มาของคำว่า “วิทยาศาสตร์”

นอกจากนี้ บรรดาชนชั้นพ่อค้าในยุคยุโรปต้องการระบบการปกครองใหม่ ที่สามารถตอบสนองกับความต้องการของชนชั้นพ่อค้าได้ จึงได้นำความเชื่อเรื่อง “รัฐประชาธิปไตย” ของกรีกมาใช้ด้วย

นักวิชาการอ้างว่า “การปกครองกรีก คือ ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่ระบอบการเมืองของกรีกในยุคนั้นคือ ระบบรวมศูนย์อำนาจของชนชั้นนำ ซึ่งมีระบบสภาและการเลือกตั้ง และประชาชนกรีกเองก็หาได้มีสิทธิหรือมีอำนาจในการปกครองไม่

จึงไม่แปลกที่ “ประชาธิปไตยตะวันตก ก็คือ ประชาธิปไตยของชนชั้นนำเท่านั้น”

และที่แย่กว่านี้ ปัจจุบัน กลุ่มประชาชนอเมริกาที่เรียกว่า “พวกต้าน Wall Street” ได้ออกมาเปิดโปงว่า ที่แท้แล้ว ระบบประชาธิปไตยอเมริกาซึ่งมีการเลือกตั้งและสภา ก็เป็นประชาธิปไตยเพื่อคนเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์

คนทั่วไปมักจะหลงคิดว่า ลัทธิประชาธิปไตย ทุนนิยมกับลัทธิสังคมนิยม คือศัตรูกัน แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์โลกแบบค่อนข้างยาวแล้ว ก็จะพบว่า ทั้ง 2 ลัทธิเป็นผลผลิตทางวิชาการมาจากยุค Enlightenment ทั้งคู่

ลัทธิประชาธิปไตยทุนนิยม ก็เพียงแค่ “ผู้ลงทุนคือ เอกชน” ลัทธิสังคมนิยม “ผู้ลงทุนสำคัญคือ รัฐ” และทั้ง 2 ลัทธิก็สามารถสร้างระบบรัฐสวัสดิการได้ทั้งคู่

ที่สำคัญ ระบอบการเมืองทั้งสองก็เป็นระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมโดยชนชั้นนำทั้งคู่เช่นกัน

ปรัชญาพื้นฐานก็คือปรัชญาเดียวกัน คือ กฎแห่งเหตุและผล และกฎ Dialectic (หรือกฎแห่งความขัดแย้ง) ทั้ง 2 ลัทธิก็เชื่อการปฏิวัติ ชอบใช้ความรุนแรง และชอบทำสงคราม ไม่ต่างกัน

ถ้าเป็นแบบทุนนิยมก็ต้อง “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ถ้าเป็นอีกแบบหนึ่งก็คือ “การปฏิวัติสังคมนิยม”

เป้าหมายของทั้ง 2 ลัทธิ ก็คือ การสร้างความมั่งคั่งทางวัตถุ ไม่แตกต่างกัน ต่างก็ยกย่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ต่างกัน

ทฤษฎีพื้นฐาน ก็คือ ทฤษฎีวิวัฒนาการของ Charles Darwin ไม่ต่างกัน จนเกิดแนวคิดเรื่องขั้นตอนพัฒนาการเป็นขั้นๆ จากป่าเถื่อนสู่อารยธรรม

อย่างเช่น ทฤษฎีลัทธิสังคมนิยม ก็จะเชื่อว่า ระบบโลกจะเคลื่อนจากระบบที่ป่าเถื่อนที่สุด เรียกว่า “สังคมทาส” สู่ระบบศักดินา สู่ทุนนิยม และสู่สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ในที่สุด

ทุกอย่างในอดีต คือ ล้าหลัง และต้องถูกทำลายล้าง

ลัทธิแดง จึงจงเกลียดจงชังระบบและสถาบันในอดีต ที่เรียกว่า “ระบบอำมาตย์” หรือ “ศักดินา” เอามากๆ

เกลียดชังกันอย่างมากๆ มากจนต้อง “ยอมตาย” เพื่อทำลายล้างสิ่งที่เชื่อว่า “ป่าเถื่อน ล้าหลัง และขัดขวางพัฒนาการ” ให้สิ้นไป

ที่สำคัญ ลัทธิสังคมนิยม คือผลผลิตของระบบทุนนิยมเอง ดูราวว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่ต่อต้านทุนนิยม แต่ที่แท้แล้ว แนวคิดสังคมนิยมช่วยต่อชีวิตให้แก่ทุนนิยม เพราะการปฏิวัติสังคมนิยมในยุโรปทำให้เกิดการปฏิรูประบบทุนนิยมให้ดูดีขึ้น จนเกิดระบบทุนนิยมแบบรัฐสวัดิการขึ้น

ดังนั้น แนวคิดแบบสังคมนิยมจึงมีค่ามาก และมีประโยชน์อย่างสูง รวมทั้งนำมาซึ่งการปฏิวัติระบบทุนนิยม ช่วยทำให้ทุนนิยม “น่ารัก” สำหรับชาวอเมริกันและชาวยุโรป

นี่คือ สาเหตุที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กสนับสนุนการตั้งสถาบันระบบโลก เพื่อให้การศึกษาแบบสังคมนิยมแก่นักศึกษาทั่วโลก

ทั้งหมดที่กล่าว คือ บทโต้แย้งความเห็นอาจารย์เกษียร และยืนยันแนวคิดที่ผมกล่าวในรายการโทรทัศน์ว่า

“บรรดามหาวิทยาลัยในโลกตะวันตก รวมทั้งมหาวิทยาลัยคอร์เนล และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก และสถาบันระบบโลก (ที่ผมศึกษา) ได้ทำหน้าที่เป็น Soft Power ของจักรวรรดิอเมริกาโดยตรง

แต่ที่สำคัญ ไม่ใช่ “จักรวรรดิอเมริกา” เท่านั้นที่ผลิต Soft Power แบบนี้ สถาบันการศึกษาในโลกทางยุโรปทั้งหมดก็ผลิต Soft Power ที่คล้ายกัน (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น