xs
xsm
sm
md
lg

วิวาทะ “คอร์เนล” การเมืองไทย : ภายใต้ปีกพญาอินทรี (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

“การคิดแบบ” ของชาวระบบโลก

ในช่วงที่มีกระแสวิพากษ์แนววิเคราะห์ของผม มีนักวิชาการสาย Post Modern บางท่านร่วมวิพากษ์ผมด้วย โดยเสนอว่า

แนวที่ผมใช้วิเคราะห์(แบบระบบโลก) คือ การคิดแบบ Grand Narrative ถ้าแปลเป็นไทยน่าจะหมายถึง การเล่าเรื่องเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งท่านคิดว่า “อันตรายอย่างยิ่ง” เพราะเชื่อว่า การเล่าเรื่องแบบนี้สามารถกดทับการเล่าเรื่องระดับท้องถิ่นต่างๆ จนไม่สามารถแสดงความหมายเป็นอย่างอื่นๆ ได้

ผมเห็นว่า บทวิพากษ์นี้มีเหตุผลพอสมควร แต่คงต้องระวังนิดหนึ่ง เพราะ บรรดานักวิชาการที่เรียนวิชาระบบโลก ซึ่งเป็นวิชาที่เสนอภาพใหญ่ ก็ตระหนักถึง “ความจำกัด” เรื่องนี้อยู่เสมอเช่นกัน

ผู้ให้กำเนิด วิชาระบบโลก คืออาจารย์ Fernand Braudel ท่านเองตระหนักรู้ ว่าการคิดแบบกว้างๆ มีข้อจำกัด อย่างมาก ท่านจึงเสนอ “วิถีคิดแบบหลายระดับ” ขึ้น กล่าวคือ การคิดระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับพื้นที่

อาจารย์ Braudel ให้ความสำคัญของการเรียนระดับพื้นที่อย่างมาก และถือว่าสำคัญสูงสุด จนท่านเสนอ “แบบการเรียนรู้” ว่า ผู้เรียนต้องไม่เรียนแบบนักวิชาการทั่วไป แต่ต้องเรียนแบบรู้จริง อย่างเช่น ท่านเสนอว่า ถ้าจะศึกษาชีวิตของโสเภณีที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ผู้ศึกษาต้องไปใช้ชีวิต “เป็น” โสเภณีจริงๆ สัก 2 ถึง 3 ปี

อาจารย์ Petras ถึงกับเสนอว่า จะเข้าใจโลกกว้าง หรือ ระบบโลก ผู้ศึกษาต้องมีชีวิตต่อสู้ทางการเมืองระดับพื้นที่ก่อน อย่างน้อยก็เป็นเวลาหลายๆ ปี

การค้นคิด และ การวิเคราะห์ ก็ต้องเริ่มจากประสบการณ์จริงในการต่อสู้ ในแต่ละพื้นที่ และค่อยๆ ขยายภาพไปถึงภาพระบบโลกขนาดใหญ่

ฐานของวิชาระบบโลกจึงให้ความสำคัญ “ฐานที่เป็นพื้นถิ่น” และ “การต่อสู้ที่เป็นจริง” มากที่สุด และเชื่อว่า “ความรับรู้ในระดับโลกจะมีค่าหรือไม่ ขึ้นกับว่า สามารถนำมาปรับใช้ หรือรับใช้การต่อสู้ที่เป็นจริงในแต่ละพื้นที่ได้หรือไม่”

ดังนั้น “ความจริงระดับพื้นที่” จึงมีความสำคัญเหนือกว่า “ความจริงระดับโลก” และสามารถกำหนด “เหนือ” ความจริงในระดับโลกได้ด้วย

เพื่อให้เข้าใจการศึกษาแบบระบบโลกอย่างชัดๆ ผมขอยกตัวอย่างเรื่องราวของผมเอง

ผมสมัครไปเรียนที่นี่ (สถาบันระบบโลก) ไม่ใช่เพราะผมอยากจะไปเรียนต่อ ที่จริงแล้ว ผมเพียงต้องการหลบหนีภัยทางการเมือง

ผมไม่คิดว่าทางสถาบันระบบโลกจะรับผมเป็นนักศึกษา

ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า “ทำไมรับผมเป็นนักศึกษา”

วันหนึ่งเมื่อมีโอกาส ผมถามอาจารย์ Hopkins ว่า

“ภาษาอังกฤษ ผมแย่มากๆ พูดก็มั่วๆ เขียนก็ผิดๆ ถูกๆ สอบภาษาก็ไม่ได้ ทำไมถึงรับผมเป็นนักศึกษา”

อาจารย์บอกผมทำนองว่า

ไม่ต้องห่วงเรื่องภาษาอังกฤษ ทางสถาบันฯ รับผมเป็นนักศึกษาเพราะมีประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองโดยตรง ในระดับพื้นถิ่น ที่หายากมาก

การคิดแบบระบบโลก จะใช้การคิด 2 ทางประสานกัน คือ เคลื่อนจากภาพเล็กๆ หรือการต่อสู้ที่เป็นจริง สู่ระดับโลก และถือว่า ฐานการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือ การต่อสู้จริงๆในระดับพื้นถิ่น

ผมจะขอวิจารณ์นักคิดสาย Post Modern บ้างนะครับ

พวก Post Modern ส่วนใหญ่จะกลัวการคิดแบบ Grand Narrative จนเกินเหตุ และมุ่งสนใจการคิดระดับพื้นถิ่นมากๆ แต่การคิดแบบพื้นถิ่นส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงแค่ “คิดฝันบนหอคอยงาช้าง” แบบนักวิชาการทั่วไป เท่านั้น

ผมเองคิดแบบระบบโลก แต่ผมมีชีวิต “จม” อยู่กับการต่อสู้ที่เป็นจริงกับภาคประชาชนมากว่า 40 ปี

แม้แต่ นามปากกาที่ผมใช้ “ยุค ศรีอาริยะ” ก็เกิดจากการประกาศสงครามการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนสามารถสร้างวิกฤตศรัทธาต่อแนวทางการปฏิวัติของชาวนาที่ยืนหยัดว่า “ต้องทำสงครามชาวนาในชนบท”

นอกจากนี้ ชาวระบบโลกจะใช้แนววิเคราะห์แบบที่สอง คือ “การสร้างภาพสเกตช์” ก่อนการเขียนงานตัวจริง เพราะการเข้าใจโลกที่ซับซ้อน และใหญ่มากๆ หนีไม่พ้นต้องสร้าง “ภาพสเกตช์”

การสร้างภาพสเกตช์นี้ คล้ายกับการสร้างสมมติฐาน แต่เป็นสมมติฐานที่เป็นระบบกว่าสมมติฐานโดยทั่วไป

เราก็สเกตช์ภาพทางทฤษฎีขึ้นชุดหนึ่ง และสเกตช์ภาพทางประวัติศาสตร์ขึ้นอีกชุดหนึ่ง

แต่ชาวระบบโลกจะถือว่า “นี่คือ ภาพสเกตช์เท่านั้น” ไม่ใช่ภาพจริง เราจะต้องลงรายละเอียดหรือทำวิจัย และต้องผลิตผลงานออกมาเป็นหนังสือเล่มใหญ่

ดังนั้น การเขียนหนังสือ หรือการเขียนงานวิทยานิพนธ์ คือการทำลายภาพสเกตช์ เพราะเรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้น ต้องละเอียด ซับซ้อน และลึกกว่ามากๆ

แต่ถึงอย่างไร การคิดแบบภาพสเกตช์มีประโยชน์มาก ผมมักชอบใช้เวลาเขียนบทความแบบสั้นๆ อย่างเช่นบทความชิ้นนี้ หรือใช้เวลาพูดทางทีวี เพราะต้องพูดแบบสั้นและกระชับมากๆ

ที่น่าคิดมาก อาจารย์เกษียรวิจารณ์ผมได้ดีที่สุด เพราะท่านบอกว่า นอกจากแนวคิดผมเป็นแบบ Grand Narrative ที่ใช้ไม่ได้แล้ว ผมยังคิดแบบ Conspiracy ด้วย จึงยิ่งน่าเวทนามากๆ

ผมยอมรับว่า ท่านวิจารณ์ “เรื่องนี้” ได้ตรงเป้าที่สุด และถูกใจผมอย่างมากๆ

แต่ผู้อ่านคงต้องให้อภัยท่านด้วย เพราะท่านเป็นถึงด็อกเตอร์ ดร.ที่จบจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล จึงต้องใช้คำภาษาอังกฤษมาช่วยในการวิพากษ์และวิจารณ์ผม

Conspiracy หมายถึง เรื่องลับๆ ที่มีการคบคิดกัน หรือมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง

ผมยอมรับว่า การวิเคราะห์ทางการเมืองของผม ได้ผสมการคิดแบบนี้จริงๆ เพราะจากประสบการณ์ทางการเมืองของผม สอนผมว่า “การเมือง คือเรื่องราวที่เป็น Conspiracy”


การวิเคราะห์ทางการเมืองจึงหนีไม่พ้นการคิดแบบนี้ เพราะเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองต้องมีการวางแผน และมีเรื่องเบื้องหน้าเบื้องหลังเสมอ

อย่างเช่นกรณีเรื่อง เครื่องบินบินชนตึก World Trade ที่สหรัฐอเมริกา ค.ศ.2001 การวิเคราะห์แบบทั่วไปก็จะเสนอภาพว่า “นี่คือ การกระทำของกลุ่มผู้ก่อการร้าย”

แต่ผมกลับชอบวิเคราะห์แบบ Conspiracy โดยเสนอว่า นี่เป็นแผนของทาง CIA และจักรวรรดิอเมริกา ซึ่งต้องการอ้างเรื่องดังกล่าวก่อสงครามยึดครองตะวันออกกลาง และยึดครองแหล่งน้ำมันของโลก

เวลาที่ผมสอนหนังสือ ผมบอกนักเรียนว่า “อย่าเชื่อที่อาจารย์สอนเป็นอันขาด เพราะผมชอบวิเคราะห์แบบ Conspiracy ซึ่งมีจุดอ่อนมากๆ เพราะขาดข้อมูลและหลักฐานยืนยันว่า จริง”

แต่การคิดวิเคราะห์แบบนี้ “มีค่า” เช่นกัน เพราะช่วยให้ผู้คนสามารถ “คิดต่าง” จากแนวคิดแบบกระแสหลักได้

ปัจจุบัน “การคิดต่าง” มีความสำคัญมาก เพราะช่วยทำให้เกิดการตั้งประเด็นขึ้นถกเถียงโต้แย้ง เพราะโลกแห่งความจริงนั้นซับซ้อน และมีมุมลึก และลึก... เกินกว่าที่เราคิดเสมอ

ผมจึงไม่เคยบอกว่า “ที่ผมคิดวิเคราะห์ คือ ความจริง” และ “ต้องเชื่อตามสิ่งที่ผมคิดวิเคราะห์” และที่สำคัญมาก ผมจะเคารพบรรดานักคิดที่ “คิดต่าง” จากผมเสมอ

“จุดอ่อน” ของแนวคิดระบบโลก


เพื่อนๆ บางคน อาจจะสงสัยว่า “แล้วการคิดสายระบบโลกมีจุดอ่อนตรงไหน”

ความจริงแล้ว นักวิชาการที่รู้ว่าแนวคิดระบบโลกมีจุดอ่อนตรงไหน ก็คือ บรรดาอาจารย์ผู้สอนวิชานี้เอง

อาจารย์ Hopkins มีฐานะเป็นคณบดีของสถาบันระบบโลก ท่านตระหนักรู้ว่า วิชาระบบโลกมีจุดอ่อนที่สำคัญ

หลังจากที่ผมเรียนจบปริญญาเอก ผมได้พบอาจารย์ Hopkins ท่านกล่าวย้ำกับผมว่า

วิชาระบบโลก ก็เป็นเพียงผลผลิตอย่างหนึ่งของการคิดแบบตะวันตก เช่นกัน

ท่านเองก็มองเห็นข้ออ่อนเรื่องนี้ แต่ท่านไม่สามารถก้าวผ่านกรอบคิดแบบตะวันตกได้ เพราะท่านเติบโตในสายวัฒนธรรมตะวันตก และคิดวิเคราะห์บนฐานคิดที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์”

ท่านหวังว่า ผมซึ่งเป็นคนตะวันออก น่าจะก้าวผ่านความเป็นตะวันตกได้ เพราะสายคิดแบบตะวันออกโบราณนั้นอุดมไปด้วย “ปรัชญา” และแนวคิดที่มี “ค่า” มากมาย


อาจารย์ Wallerstein เองก็พยายามดิ้นออกจากการคิดแบบเป็นระบบ ซึ่งค่อนข้างแข็งมากๆ ท่านจึงหันมาสนใจทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า “ทฤษฎี Chaos”

ท่านเริ่มคิดว่า โลกอนาคตจะปั่นป่วน Chaos อย่างมากๆ จนทำให้แนวคิดที่เป็นระบบไม่สามารถอธิบายได้

ผมคิดว่า สภาพวิกฤตใหญ่และซับซ้อนมาก จะนำสู่ “ความเป็นไปได้” ที่หลากหลายมาก จนยากที่จะอธิบายหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ และจะเป็นที่มาของ “ความตาย” ของฐานคิดที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ รวมทั้ง “ความอหังการ” ของมนุษย์ที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถเข้าใจหรืออธิบายทุกๆ เรื่องราวได้

พอผมกลับมาเมืองไทย ผมจึงหันไปสนใจทฤษฎี Chaos และเริ่มตระหนักถึงความจำกัดของปรัชญาวิทยาศาสตร์ และปรัชญามนุษย์นิยมแบบตะวันตก

ในเวลาเดียวกัน ผมหันมาศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทางสายตะวันออก (ทางอินเดีย อาหรับ และจีน รวมทั้งสยาม) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมหันกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์สยาม และสนใจเรียนรู้ปรัชญาพุทธ และเต๋า อย่างจริงจัง

ที่แปลกคือ ถ้าจะเข้าถึงความเป็นพุทธ และเต๋า คุณจะเรียนแบบนักวิชาการ (แบบ Post Modern) ไม่ได้เช่นกัน และไม่ได้เรียนรู้ด้วยการใช้สมอง แต่เรียนได้ด้วยใจ

ถ้า จิตใจของคุณ “ไม่งาม และไม่สงบ” คุณจะเข้าถึง “ความเป็นพุทธ” และ “เต๋า” ไม่ได้

นี่คือ วิถีการเรียนรู้แบบตะวันออก ซึ่งลึกกว่าการเรียนรู้แบบตะวันตกมาก

ถ้าเพื่อนๆ สนใจแนวคิดและแนววิเคราะห์โลกแบบตะวันออก ผมกำลังออกผลงานชิ้นใหม่ เรื่อง “ประวัติศาสตร์อนัตตา” ซึ่งเป็นงานเล่าถึงกำเนิดวัฒนธรรมสายตะวันออก ที่อินเดีย และจีน และที่สำคัญยังจะกล่าวถึงการก่อตัวของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสยามด้วย

บทสรุป


ผู้อ่านคงต้องระวังสักนิด ผมไม่ได้บอกว่า วัฒนธรรมตะวันตกเลว หรือ ตะวันออกดี ผมไม่ได้มองโลกแบบขาว หรือดำ ผมเพียงแต่บอกว่า “อะไรคือ วัฒนธรรมตะวันตก” และผมมีความเชื่อว่า “ทุกสายวัฒนธรรมมีทั้งข้อดี และมีข้อด้อย”

ความคิดเรื่อง “ออก” และ “ตก” ก็ไม่ใช่เรื่อง “ทิศทาง” ที่แตกต่างกัน ถ้าจะเข้าใจวิธีคิดแบบนี้ ต้องอ่านงานเรื่อง “เต๋าแห่งสังคมศาสตร์” ที่ผมได้เขียนขึ้น

วัฒนธรรมตะวันตก ถือว่าเป็นสายวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่มาก และคนไทยทุกคนต้องเรียนรู้ ศึกษา และต้องศึกษาให้เห็นทั้งข้อดีและข้ออ่อน

ที่สำคัญ ปัจจุบันเราต้องสามารถก้าวผ่านความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งกำลังมีอิทธิพลครอบโลกให้ได้

ผมเชื่อว่า เรากำลังยืนอยู่ ณ จุดที่นักวิชาการเรียกว่า “โลกหลังยุคตะวันตก” วันนี้ ระบบสังคมนิยมพังพินาศลงไปแล้ว และทุนนิยมก็กำลังทำลายตัวเอง

การพังทลายของทั้ง 2 ระบบ และสภาวะหลังยุคตะวันตก นำสู่สภาวะที่ผมเรียกว่า Chaos ใหญ่ สภาวะนี้เองจะนำสู่การตั้งคำถาม และการค้นหาทางออกใหม่

การรื้อถอนฐานของภูมิปัญญาโลกครั้งใหม่ซึ่งเดิมทีถูกครอบด้วยวัฒนธรรมตะวันตกจึงมีความสำคัญยิ่ง

ผมเองยังตอบไม่ได้ชัดๆ ว่า “อะไรคือ ฐานภูมิปัญญาของโลกใหม่”

เท่าที่ผมคิดได้

1.ปรัชญามนุษย์นิยม กำลังถูกแทนที่ด้วย ปรัชญาธรรมชาตินิยม

2.ปรัชญาสงคราม และผู้ชายนิยม กำลังถูกแทนที่ด้วย ความเชื่อเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และหันกลับมาให้ค่าความเป็นผู้หญิง

3.ปรัชญาวัตถุนิยม กำลังถูกแทนที่ด้วย ปรัชญาแบบจิตนิยม (ใหม่) ที่ให้ค่าการสร้าง “ใจ” ที่งดงาม

ทุกวันนี้ นักวิชาการกำลังหันไปเห็น “ค่า” ความงดงามทางด้านจิตใจมากกว่าความเจริญทางวัตถุ ศาสนาพุทธจึงกลายเป็นศาสนาที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก

4.ปรัชญาแบบปัจเจกนิยม กำลังถูกแทนที่ด้วย ปรัชญาแบบองค์รวม หรือ การคิดแบบบูรณาการ

5.ปรัชญาวิวัฒนาการจากป่าเถื่อนสู่...อารยธรรม กำลังถูกตั้งคำถาม ถ้าเราใช้ความเจริญทางด้านจิตใจเป็นฐานในการมองโลก “ในเชิงอารยะ” อดีต หรือโลกตะวันออก ที่ที่ผู้คนอยู่ในโลกศาสนา อาจจะมีอารยะกว่าคนในโลกตะวันตกปัจจุบัน

6.อารยธรรมการสร้างเมืองขนาดใหญ่ ชีวิตต้องเร่งรีบ ต่อสู้ช่วงชิง กำลังถูกตั้งคำถามด้วยคำว่า “Small is Beautiful” หรือ “เล็กๆ แต่งดงาม” และแบบชีวิตที่เรียบง่ายๆ อยู่อย่าง “ช้าๆ และงดงาม”

ที่สำคัญ ผู้คนเริ่มมองเห็น “ค่า” ของความเป็นชนบท และความเป็นชุมชน

ชีวิตแบบเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ การอยู่กับความเอื้ออาทรต่อกันและกัน กำลังกลายเป็น “ความฝันใหม่” ของคนทั่วโลก

แต่ผมก็ตอบไม่ได้ว่า “นี่คือ อนาคตของมนุษยชาติ” หรือไม่ เพราะผมเชื่อว่า “เส้นทางสู่อนาคต” มีความเป็นไปได้ที่หลากหลายมาก มากกว่าที่ผมคิดเสมอ

เมื่อระบบโลก ก้าวสู่ช่วง Chaos ใหญ่ ในช่วงนี้จะเกิดการปฏิวัติฐานคิดใหม่

สุดท้าย ขอฝากเตือนว่า ในช่วง Chaos นั้น จะทำอะไร... ต้องระวังมาก เพราะ สิ่งเล็กๆ หรือน้ำผึ้งแค่หยดเดียว ก็สามารถพลิกผันกลายเป็น “เรื่องใหญ่” ได้

ผมคงจบด้วยคำ “ขอโทษ” ต่อท่านอาจารย์ชาญวิทย์ อาจารย์เกษียร และอาจารย์วรเจตน์ รวมถึงบรรดานักคิดและนักวิชาการเสื้อแดงอีกครั้ง ที่บังอาจทำให้ท่าน “เคือง” และถึงอย่างไร ผมก็ยังคงเคารพรักและนับถือทุกท่านเสมอ

ด้วยความเคารพรักอย่างสูง
ยุค ศรีอาริยะ

กำลังโหลดความคิดเห็น