xs
xsm
sm
md
lg

พลิกคดีฆ่า‘ร่มเกล้า’ ภรรยาทวงถามเหตุผลดีเอสไอ ‘ยงยุทธ’อ้างเสธ.แดงไม่ผิด!รับเงินได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ภรรยา “พล.อ.ร่มเกล้า ”งง ดีเอสไอเคยสรุปสามีเสียชีวิตเพราะ นปช. แต่ล่าสุด “ธาริต” เปลี่ยนสี! กลับอ้างยังไม่มีหลักฐาน แถมเปลี่ยนกลุ่มผู้ทำผิดจากกลุ่ม นปช.เป็นกลุ่มไม่ใช่ผู้ชุมนุม ชี้เยียวยา-นิรโทษกรรมปรองดองยาก หายังไม่ค้นหาความจริง ด้าน “ดีเอสไอ”เตรียมรื้อคดี91ศพกำหนดแนวทางสอบสวนใหม่ “ยงยุทธ” เผย เม.ย.นี้ เสื้อแดงได้เงินเยียวยาแน่

นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม เขียนข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว ถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาระบุว่า คดีการเสียชีวิตของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรรม ไม่มีความคืบหน้า และดีเอสไอ ได้จัดให้การเสียชีวิต ของ พล.อ.ร่มเกล้า อยู่ในกลุ่มของการเสียชีวิตที่น่าเชื่อว่ามาจากการกระทำของผู้ที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม คือ กลุ่มชายชุดดำ ว่า ก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้ออกมาระบุว่า การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของกลุ่มฮาร์ดคอร์ ที่เป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้าย

ตลอด 2 ปีหลังจากพล.อ.ร่มเกล้าเสียชีวิต ตนไม่ได้ทวงถามความคืบหน้าของคดีเพราะเชื่อมั่นในการทำคดีของดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะให้ความยุติธรรมได้ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองในวันนี้อยู่ในสภาวะไม่ปกติ มีอุปสรรคขัดขวางที่ทำให้ความยุติธรรม เราจึงต้องเป็นฝ่ายเดินเข้ามาทวงถามหาความยุติธรรม แม้ว่าเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมาจะได้เอกสารสรุปข้อเท็จจริงคดีพิเศษที่ 61/2553 จากพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของพล.อ.ร่มเกล้า สั้นๆ ว่า คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะทราบตัวคนร้ายในคดี

"ต้นปี 2554 ดีเอสไอ สรุปว่าคดี พล.อ.ร่มเกล้าอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ เสียชีวิตจากการกระทำของ นปช. แต่พอถึงต้นปี 2555กลับบอกว่ายังไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่จะทราบตัวคนร้ายในคดีนี้ จึงรู้สึกงงมาก และพอเห็นข่าวยิ่งเศร้าใจ เพราะมีการเปลี่ยนตัวผู้กระทำผิดว่าไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุมแต่เป็นชายชุดดำไปแล้ว ไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการจัดกลุ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมทิศทางคดีจึงเปลี่ยนแปลงได้มากขนาดนี้ จึงอยากให้ดีเอสไอ และท่านผู้เกี่ยวข้องได้ทบทวนอ่านสิ่งที่เคยแถลงไว้เอง และช่วยอธิบายแก่สังคมด้วย"นางนิชาระบุ

วันเดียวกัน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการสอบสวนคดีการเสียชีวิต 91 ศพ จากการชุมนุมทางการเมืองช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.53 กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำหนดแนวทางการสอบสวนคดีใหม่ จากเดิมที่มุ่งการสอบสวนคดีการเสียชีวิตเป็นรายบุคคล ทำให้คดีไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจึงได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของเหตุการณ์ว่า แต่ละฝ่ายทั้งตำรวจ ทหาร ผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง เบื้องต้นจะเน้นที่ 2 เหตุการณ์สำคัญคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 53 และวันที่ 19 พ.ค. 53 จากนั้นจะนำมาลำดับเหตุการณ์ให้เป็นเรื่องเดียวกันเพื่อพิจารณาหาหลักฐานในจุดที่ยังไม่สมบูรณ์ โดยจะประสานขอเอกสารลำดับคำสั่งปฏิบัติการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้มองว่าการรวบรวมพยานหลักฐานให้เห็นภาพเหตุการณ์อย่างละเอียดจะทำให้การทำงานมีความคืบหน้ามากขึ้นกว่ามุ่งตามหาผู้กระทำความผิดแต่ละคดีทำให้คดีขาดความเชื่อมโยงกัน

รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องยากที่การสอบสวนจะสามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ทุกคดี เนื่องจากเป็นเหตุชุลมุน การจะตามหาคนยิง หรือระบุว่ามาจากอาวุธปืนกระบอกใด จำเป็นต้องใช้เวลาในการหาพยานหลักฐาน โดยเฉพาะผู้บาดเจ็บที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งจะสามารถให้ข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้แต่ที่ผ่านมายังไม่กล้าเข้ามาให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐ ดังนั้นจากนี้ดีเอสไอจะต้องประกาศขอความร่วมมือจากคนเหล่านี้ให้เข้ามาให้ข้อมูลมากขึ้น

"ถ้าไปตามหาคนร้ายแต่ละคดีจะขาดความเชื่อมโยง ในเหตุจลาจลการจะระบุว่ายิงมาจากกลุ่มใด คนไหน กระสุนและปืนกระบอกใด จำเป็นต้องไล่ลำดับเหตุการณ์ภาพใหญ่ประกอบไปด้วย เหมือนกรณีเด็กนักเรียน 2 โรงเรียนยกพวกตีกัน เราก็ต้องรู้ก่อนว่าวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง การไปหาคนกระทำความผิดเป็นรายบุคคลโดยไม่ทราบภาพรวมเป็นเรื่องยาก" พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง ว่า ขณะนี้มีประชาชนมารับเงินเยียวยาแล้ว 1,900 รายเศษ และคาดว่าจะสามารถทยอยจ่ายให้ทุกคนได้ช่างปลายเดือนเม.ย.นี้

เมื่อถามว่า มีญาติของทหารที่เสียชีวิตในช่วงสลายการชุมนุมของนปช.แต่ไม่ยอมไปแจ้งข้อมูล แต่กลับมาทวงถามความคืบหน้าของคดีจะมีการดำเนินการอย่างไร นางยงยุทธ กล่าวว่า หากมีความชัดเจนอย่าง ภริยาของพ.ท.ร่มเกล้า ธุวธรรมและนายทหารคนอื่นๆนั้นก็ทราบกันดีว่าเสียชีวิตในช่วงเวลานั้น ก็มาแจ้งได้ถึงแม้ว่าจะได้รับเงินจากเงินตรงนี้และเงินจากกองทัพแล้ว ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านคัดค้านการจ่ายเงินกรณี พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล นั้นจะจ่ายเงินให้ได้เลยเพราะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำผิด

นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า สำหรับการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบในเหตุความไม่สงบทางภาคใต้ ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ จ่าย7.5ล้าน บาท โดยจะเริ่มได้ในไม่ช้า ภายหลังตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจาณา ทั้งนี้วงเงินที่จะใช้ยังไม่มีวงเงินที่ชัดเจน ซึ่งต้องรอขออนุมัติจากสำนักงบประมาณ ทั้งนี้การจ่ายเงิน 7.5 ล้านบาท จะจ่ายเป็นเงินสด3 ล้านบาท ส่วน 4.5 ล้านบาทนั้นจะให้เลือกว่าจะรับเป็นสลากออมสินหรือพันธบัตร รัฐบาล.
กำลังโหลดความคิดเห็น