ASTVผู้จัดการรายวัน-ภรรยา "พ.อ.ร่มเกล้า" นำครอบครัวทหารบุกทบ. ยื่นหนังสือถึง"ประยุทธ์"เร่งรัดคดีช่วงแดงเผาเมือง หลังไม่มีความคืบหน้า ข้องใจหาตัวคนยิงสามีไม่ได้ หวั่นหลักฐานถูกเปลี่ยน ยันเงินเยียวยา 7.75 ล้าน คนได้รับต้องไม่ใช่ผู้กระทำผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น.วานนี้ (13 มี.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม พร้อมด้วยครอบครัวนายทหาร อีก 5 นาย ที่เสียชีวิตจากการปฎิบัติหน้าที่เหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าคดีและค้นหาความจริง รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีพล.อ.อรุณ สมตน ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก เป็นผู้รับหนังสือ
พล.อ.อรุณ กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมอำนวยความสะดวกและติดตามความคืบหน้าคดีของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุม ก็ถูกเร่งรัดมาตลอด ซึ่งก็ไม่ได้นิ่งเฉย แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องของหน่วยงานภายนอกด้วย ไม่สามารถไปบังคับเขาได้ ยังไงก็ขอให้สบายใจ จะดำเนินการให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ ผบ.ทบ.ได้มอบเงินเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางให้ครอบครัวของทหารผู้เสียชีวิตด้วย
นางนิชากล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่ได้รับการแจ้งถึงความคืบหน้าของคดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของตนได้เคยสอบถามความคืบหน้าของคดีจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ซึ่งได้รับเอกสารในสำนวนระบุว่า ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยแถลงข่าวว่า พล.อ.ร่มเกล้า อยู่ในกลุ่มคดีที่ 1 เสียชีวิตจากการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม และมีการจับตัวผู้ต้องสงสัย และปล่อยตัวไป
"เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ปรากฏว่า ความคืบหน้ากลายเป็นว่า ไม่สามารถระบุตัวผู้ทำความผิดได้ และในเนื้อหาก็ไม่ได้ระบุถึงสิ่งที่เคยแถลงไว้ ก็ข้องใจ และขอความกระจ่าง ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจะมั่นใจได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนหลักฐาน การรวบรวมหลักฐานจากหน่วยงานต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่ วิธีการที่ดีที่สุด ควรมีการรวบรวมหลักฐานจากหลายๆ ที่ เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ถูกกระทำว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักฐาน ส่วนจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่ขณะนี้มั่นใจในการทำงานของกองทัพบก"นางนิชากล่าว
สำหรับกรณีที่รัฐบาลให้เงินเยียวยา 7.75 ล้านบาทนั้น ก็ได้ติดตามข่าว แต่ไม่มีใครติดต่อเข้ามาแจ้งมาเป็นทางการ คิดว่าหลักเกณฑ์ต่างๆ ต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน เพราะในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนท้ายระบุว่า ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ไม่ใช่ผู้ที่ทำความผิด แต่ในกรณีของเจ้าหน้าที่ทหารที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ คงไม่อยู่ในข่ายผู้ทำความผิด แต่ยังสับสนกับมาตรการที่เกิดขึ้น ต้องมีการดำเนินการที่รอบคอบ
ส่วนกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ของรัฐบาลนั้น ต้องทำควบคู่กันไปกับการค้นหาข้อเท็จจริง และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมาพูดคุยว่า จะเยียวยาชดเชยอย่างไร หรือจะลงโทษ ให้อภัยโทษ แต่ขณะนี้ค่อนข้างสับสนต่อกระบวนการที่เกิดขึ้น เพราะการเยียวยาเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เห็นการค้นหาข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ
ทางด้านนางกาญจนา เมืองอำพัน อายุ 56 ปี รับราชการครูที่ จ.นครนายก มารดาของ ส.ท.อนุพงษ์ เมืองอำพัน ทหารสังกัด ร.12 พัน 2 รอ. กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ทางแพทย์ระบุว่าลูกชายถูกยิง และมีอาการหัวใจบอบช้ำ ฉีกขาด ทำให้เห็นว่าลูกชายถูกทำร้ายร่างกาย อยากให้กองทัพบกตรวจสอบคดีนี้ให้ชัดเจนด้วย