“ภริยาร่มเกล้า” พร้อมครอบครัว 5 ทหารสละชีพคาม็อบแดง บุก ทบ. จี้ “ประยุทธ์” ตามสอบคดีเผาเมือง แฉ “ประชา” อ้างหาตัวคนฆ่าไม่ได้ ข้องใจดีเอสไอเงียบฉี่ ชี้เกณฑ์เยียวยาต้องระบุให้ชัด ยันยังไม่ไปรับ 7.75 ล้าน ซัดรัฐแจกเงินทั้งที่เหตุยังไม่กระจ่าง
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 13 มี.ค. นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม พร้อมด้วยครอบครัวนายทหารอีก 5 นาย ที่เสียชีวิตจากการปฎิบัติหน้าที่เหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าคดีและค้นหาความจริง รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี พล.อ.อรุณ สมตน ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก เป็นผู้รับหนังสือ ทั้งนี้ พล.อ.อรุณกล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมอำนวยความสะดวกและติดตามความคืบหน้าคดีของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุมก็ถูกเร่งรัดมาตลอด ซึ่งเราก็ไม่ได้นิ่งเฉย แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องของหน่วยงานภายนอกด้วยเราไม่สามารถไปบังคับเขาได้ ยังไงก็ขอให้สบายใจเราจะดำเนินการให้ดีที่สุด ทั้งนี้ ผบ.ทบ.ได้มอบเงินเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางให้ครอบครัวของทหารผู้เสียชีวิตด้วย
ด้าน นางนิชากล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้รับการแจ้งถึงความคืบหน้าของคดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับในส่วนของตนเอง ได้เคยสอบถามความคืบหน้าของคดีจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งก็ได้รับเอกสาร ในสำนวนระบุว่าไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษเคยแถลงข่าวว่า พล.อ.ร่มเกล้า อยู่ในกลุ่มคดีที่ 1 เสียชีวิตจากการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม และมีการจับตัวผู้ต้องสงสัยและปล่อยตัวไป เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ปรากฏว่าความคืบหน้ากลายเป็นว่าไม่สามารถระบุตัวผู้ทำความผิดได้ และในเนื้อหาก็ไม่ได้ระบุถึงสิ่งที่เคยแถลงไว้ ก็ข้องใจและขอความกระจ่าง ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจะมั่นใจได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนหลักฐาน การรวบรวมหลักฐานจากหน่วยงานต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่ วิธีการที่ดีที่สุดควรมีการรวบรวมหลักฐานจากหลายๆ ที่เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ถูกกระทำว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักฐาน ส่วนจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้นต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่ขณะนี้มั่นใจในการทำงานของกองทัพบก
“สำหรับกรณีที่รัฐบาลให้เงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทนั้นก็ได้ติดตามข่าว ก็ไม่มีใครติดต่อเข้ามาแจ้งมาเป็นทางการ คิดว่าหลักเกณฑ์ต่างๆ ต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน เพราะในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนท้ายระบุว่า ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ใช่ผู้ที่ทำความผิด แต่ในกรณีของเจ้าหน้าที่ทหารที่ออกไปปฎิบัติหน้าที่คงไม่อยู่ในข่ายผู้ทำความผิด แต่เรายังสับสนกับมาตรการที่เกิดขึ้น ต้องมีการดำเนินการที่รอบคอบ สำหรับกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ของรัฐบาลนั้น ต้องทำควบคู่กันไปกับการค้นหาข้อเท็จจริง และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมาพูดคุยว่าจะเยียวยาชดเชยอย่างไร หรือจะลงโทษ ให้อภัยโทษแต่ขณะนี้ตนค่อนข้างสับสนต่อกระบวนการที่เกิดขึ้นเพราะการเยียวยาเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เห็นการค้นหาข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ” นางนิชาระบุ
ขณะที่ นางกาญจนา เมืองอำพัน อายุ 56 ปี รับราชการครูที่ จ.นครนายก มารดาของ ส.ท.อนุพงษ์ เมืองอำพัน ทหารสังกัด ร.12 พัน.2 รอ. กล่าวด้วยน้ำเสียงเครือว่า ทางแพทย์ระบุว่าลูกชายถูกยิง และมีอาการหัวใจบอบช้ำ ฉีกขาด ทำให้เห็นว่าลูกชายถูกทำร้ายร่างกาย อยากให้กองทัพบกตรวจสอบคดีนี้ให้ชัดเจนด้วย