xs
xsm
sm
md
lg

เบรกสร้างทางระบายน้ำ “2.5 พันล.” พุทธมณฑล สาย 4-5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(13 มี.ค.55) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและ อุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) นัดแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาว (กยน.) เสนอจัดทำโครงการป้องกันน้ำท่วม 246 โครงการ งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า กนอช.ได้อนุมัติโครงการของกระทรวงคมนาคมที่ผ่านการอนุมัติของ กบอ. 24,828.82 ล้านบาท จำนวน 296 โครงการ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในวันที่13 มี.ค. เชื่อว่าโครงการส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปีนี้ และภาพรวมของการดำเนินการจะทันการรับมือฤดูฝนที่จะถึงนี้
ยังมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปดูพื้นที่จริง ทำความเข้าใจกับประชาชนโดยตรง จะใช้พื้นที่รับน้ำเท่าไรก็สุดแล้วแต่ความจริง โดยยึดหลักจะต้องมีพื้นที่รับน้ำได้ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร และไม่ติดกับพื้นที่กทม. โดยจะต้องใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ได้แบ่งงานของคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งกยอ. และกยน. ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งแผนหลายอย่างยังไม่เสร็จ โดยอีก2 สัปดาห์จะมีการประชุมอีกครั้ง
ส่วนหลักเกณฑ์ที่ต้องจ่ายเงินให้กับประชาชนในพื้นที่รับน้ำ โดยเฉพาะกระแสข่าวที่ว่าจะจ่ายให้พื้นที่รับน้ำไร่ละ 600-5,000 บาท ตนเองไม่ทราบ
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ กบอ. กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นกับชาวบ้านแต่ละพื้นที่รองรับน้ำโดยจะดูระดับดับพื้นที่ ที่ยังไม่สมบูรณ์ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ข้อมูลความสูงภูมิประเทศที่ยังไม่สมบูรณ์ ที่ยังทำให้การคำนวณเกี่ยวกับปริมาณน้ำคลาดเคลื่อน
สำหรับแนวคันกั้นน้ำรอบนอกที่มีกระแสว่ามีการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนกันนั้น นายอานนท์กล่าวว่า ตนไม่ แน่ว่าที่ซ้ำซ้อนหมายความว่าอย่างไร เพราะเท่าที่ตนดูในที่เสนอเข้ามาตามกรอบยังไม่เห็นว่าซ้ำซ้อนตรงไหน ซึ่งตนดูในส่วนที่เข้ามาพิจารณางบประมาณในส่วนนี้ แต่ว่าในทางปฏิบัติแล้ว หากมีการสร้างโดยหน่วยงานอื่น โดยใช้งบประมาณที่อยู่นอกกรอบที่เรารับผิดชอบ ก็ต้องประสานไปอีกที
นายกิจจา ผลภาษี ที่ปรึกษา กนอช. กล่าวว่า ได้มีการหารือกันถึงพื้นที่รับน้ำระยะยาวตามเป้าหมายของรัฐบาลจำนวน 2 ล้านไร่ แต่ขณะนี้มีการเสนอพื้นที่เข้ามาเกินกว่าเป้าหมายคือ จำนวน 3 ล้านไร่ จึงต้องมีการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมให้ได้ 2 ล้านไร่ จากนั้นจะต้องทำรายละเอียดเป็นแผนที่ที่ชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ ได้หารือถึงเงินชดเชยผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับน้ำ เช่น กรณีน้ำท่วมใน ขณะที่ กำลังทำการ เพาะปลูก ตรงนี้อาจจะได้รับเงินชดเชยมากกว่าพื้นที่ที่เพาะปลูกเสร็จแล้วและไม่ได้ทำประโยชน์อะไรต่อ เช่น พื้นที่ที่กำลังทำการเพาะปลูกอยู่อาจได้รับเงินชดเชยประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อไร่ ส่วนกรณีที่เพาะปลูกเสร็จแล้วอาจจะได้รับลดหลั่นกันไป ประมาณ 600-800 บาทต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการคาดว่าปีนี้น้ำไม่ น่าจะท่วมมากจนต้องใช้พื้นที่รับน้ำถึง 2 ล้านไร่ ซึ่งก่อนจะถึงฤดูฝนและน้ำจะมา เราจะทำการพูดคุยกับประชาชน และประกาศก่อนว่าจะใช้พื้นที่ใดบ้าง
นายกิจจา กล่าวว่า ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมขอใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน สร้างทางระบายน้ำ พุทธมณฑล สาย 4-5 วงเงิน 2.5 พันล้าน และทางระดับถนนบรมราชชนนี นั้นยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในแผนระยะเร่งด่วนและระยะยาว ถึงแม้จะผ่านความเห็นชอบจากครม.มาแล้วก็ตาม ซึ่งทางคณะกรรมการกนอช.จะต้องเอาไปตรวจสอบ เพราะอาจต้องใช้ระยะเวลานานมาก 3 ปี โดยไม่แน่ว่าจะแล้วเสร็จหรือไม่
ดังนั้น ทางคณะกรรมการกนอช.อาจจะอนุมัติเงินให้แค่ทำการสำรวจหรือทำการศึกษาเท่านั้น
“ทั้ง 3 โครงการดังกล่าว ไม่มีอยู่ในแผนของระยะยาว แต่โครงการนี้มีการเพิ่มเข้า ซึ่งมีการถกเถียงกันในที่ประชุมโดยนายกฯก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร เพียงแต่บอกว่าในเมื่อมันไม่อยู่ในแผนระยะเร่งด่วนหรือระยะยาว ก็เอาไปดูว่าจะเพิ่มหรือไม่ แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆจะมาใส่ลงไป โดยฝากผม นายปิติพงษ์ และคณะกรรมการกบอ.กลับไปตรวจสอบดู” นายกิจจา ระบุ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นจำนวนเงิน ชดเชย ว่า ประเด็นในเรื่องนี้อยู่ที่ความโปร่งใส และตนของความชัดเจน 3 เรื่อง คือ 1. พื้นที่ดังกล่าวอยู่ที่ไหน 2. เลือกพื้นที่เหล่านั้นเพราะเหตุใด 3. อัตราดังกล่าวที่บอกว่าเป็นธรรมนั้น เป็นธรรมกับผู้รับเงิน และเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีอย่างไรบ้าง
ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี หารือว่า กังวลใจในเรื่องการป้องกันน้ำท่วมของโรงงานอุตสาหกรรมของรัฐบาล หลังจากออกพ.ร.ก.4 ฉบับแล้วรัฐบาลยังได้ ออก พ.ร.ก.ที่ว่าด้วยการที่ให้โรงงานอุตสาหกรรม หรือนิคมอุตสาหกรรมกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างเขื่อน หรือพนังกั้นน้ำในเขตจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ทั้งๆที่รัฐบาลกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อป้องกันน้ำแล้วทำไมถึงมีพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวซ้ำซ้อนให้เอกชนกู้เงินป้องกันน้ำท่วมอีก
"อยากถามว่าได้ประโยชน์และป้องกันน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ เพราะโรงงานจะสร้างกำแพงก็ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะป้องกันน้ำได้หรือไม่ นอกจากนี้รัฐบาลเคยถามชาวบ้านที่อยู่รอบๆนิคมหรือไม่ว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง และแม้จะป้องกันน้ำท่วมได้แต่โรงงานที่อยู่ติดริมแม่น้ำการขนส่งสินค้า การคมนาคม จะติดต่อภายนอกอย่างไร จึง ฝากไปถึงรัฐบาลและรมว.คลังว่าน่าจะวางแผนในการแก้ไขปัญหาระยะยาวมากกว่าแก้ผ้าเอาหน้ารอดอย่างนี้" น.ส.สุมล กล่าว
อีกด้านชาวบ้านหมู่บ้านพฤกษา 4 และหมู่บ้านพฤกษา 31 กว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายนิมิต จันทน์วิมล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมขอให้ชี้แจงเรื่องเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เนื่องจากมีข้อสงสัยในกรอบพิจารณาให้ความช่วยเหลือ เพราะได้รับการเยียวในค่าเสียหายที่แตกต่างกัน และบางรายถูกตัดลดเงินโดยไม่ได้รับการชี้แจ้งจากทางจังหวัด
ทั้งนี้ ชาวบ้านหมู่ 3 ต.มหาสวัสดิ์ บางรายได้รับการช่วยเหลือเยียวยา 20,000 บาท ตามเอกสารที่ให้เซ็นรับรองและรับเงิน แต่ได้รับเงินสดเพียง 17,000 บาท โดยถูกหักไป 3,000 บาท ซึ่งไม่มีคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าหักไป 3,000 บาทเป็นค่าอะไร
อีกด้านนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.....ซึ่งแก้ไขปรับปรุงจากพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วและเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ทำให้ร่างกฎหมายต้องตกไปในที่สุดโดยจะเสนอ รัฐมนตรีอีกครั้ง
โดยมีประเด็นการขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้แก่ลูกจ้างประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น น้ำท่วม ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างเลยในช่วงที่หยุดงานจากปัญหาน้ำท่วม
วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบและหารือกับคณะนักธุรกิจสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐ ฯ (USABC) ในโอกาสเดินทางมาเยือนไทย โดยมีบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ อาทิ ธุรกิจการเงิน การธนาคารและประกันภัย (Citibank, GE, ACE Group) อุตสาหกรรมอาหารและยา (Mead Johnson Nutrition, Pifzer) พลังงาน โทรคมนาคมและบันเทิง ( Chevron, AT&T, Google Qualcomn , TimeWarner) และอุตสาหกรรมก่อสร้างและยานยนต์ (Caterpillar, Ford) เป็นต้น
ตอนหนึ่งของการหารือ นายกฯระบุว่า มั่นใจอย่างยิ่งว่า ด้วยการดำเนินนโยบายส่งเสริมการค้า-การลงทุนจากต่างประเทศ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูประเทศและป้องกันอุทกภัย จะเป็นการปัจจัยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง ร้องละ 5.5-6.5 และสนับสนุนการลงทุนในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14
อีกด้าน นาย Liqun Jin ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และชื่นชมที่สามารถจัดการปัญหา และฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำท่วม ได้อย่างดี แม้ว่าจีนจะมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาอุทกภัยในตอนแรก แต่ขณะนี้เชื่อมั่นว่ารัฐบาล โดยกองทุนความมั่นคงแห่งชาติของจีนประสงค์ที่จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ.
กำลังโหลดความคิดเห็น