xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าแผนสู้น้ำท่วม “ฉบับปู-แม้ว” ขายผ้าเอาหน้ารอด ไม่เห็นหัวคนจน ญี่ปุ่นก็ไม่เชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นของ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี กำลังเป็นที่จับตาและเป็นที่คาดหวังอยู่ไม่น้อยถึงผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติภารกิจที่หลายคนมองว่า เกินกว่ากำลังและความสามารถของนายกฯ นกแก้วจะทำได้

ทั้งนี้ เนื่องจากวาระสำคัญในการเดินทางไปโรดโชว์ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ก็คือการเสนอมาตรการในการป้องกันน้ำท่วม ทั้งแผนเฉพาะหน้าระยะสั้น และแผนระยะยาว รวมถึงการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมและมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประเทศไทยให้กลับคืนมา และหยุดยั้งการทิ้งประเทศไทยของบรรดานักลงทุนญี่ปุ่นให้ได้

แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลหุ่นเชิดคาดหวังเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความวิตกกังวลขององค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization : JETRO) ดังที่ นาย Hiroyuki Ishigi ประธาน JETRO ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ว่า “ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหา ค่าเงินเยนแข็งค่า ทำให้นักธุรกิจสนใจการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย แต่ยังมีความกังวลเรื่องอุทกภัย ทั้งนี้ JETRO ขอเสนอข้อคิดเห็นให้รัฐบาลให้ความชัดเจนด้านมาตรการป้องกันน้ำท่วม การบริหารจัดการข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็ว และเรื่องการประกันภัย”

แปลความอย่างสั้นๆ ง่ายๆ และได้ใจความคือ JETRO กำลังจะบอกให้โลกได้รับรู้อย่างสุภาพตามมารยาทว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงไม่มั่นใจว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์จะ “เอาอยู่” หรือสามารถรับมือกับมหาอุทกภัยครั้งใหม่ที่กำลังจะมาเยือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า แผนการของรัฐบาลนั้น มุ่งเน้นไปที่การปกป้องภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่มีความชัดเจนแล้วว่าจะมีการเพิ่มความสูงของพนังกั้นน้ำในนิคมอุตสาหกรรม/เขตประกอบการและสวนอุตสาหกรรม 11 แห่ง โดยมิได้สนใจใยดีกับประชาชนตาดำๆ ที่อยู่รอบๆ นิคมอุตสาหกรรมแต่ประการใด

แน่นอน นางสาวยิ่งลักษณ์ให้เหตุผลเอาไว้สวยหรูว่า “ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปอธิบายมาตรการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนบริเวณนั้นด้วย เพราะถ้าความมั่นใจของภาคธุรกิจโดยเฉพาะต่างชาติไม่มีความมั่นใจ แล้วถอนการลงทุนไป สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือ ไม่มีการจ้างงานคนในบริเวณนั้น ดังนั้น เป็นวิธีที่เรามีความจำเป็นต้องเลือกวิธีนี้”

ขณะที่แผนปกป้องนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวก็ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง กระทั่งทำให้นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนประกาศต่อต้านและนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์)

เช่นเดียวกับคำถามดังๆ ที่ตามมาว่า แล้วเมื่อสร้างเขื่อนกั้นรอบนิคมอุตสาหกรรมเสร็จสมอารมณ์หมายแล้วจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้ตัวนิคมอุตสาหกรรมจะรอดจากน้ำท่วมได้ก็จริง แต่พื้นที่รอบข้าง ตลอดรวมถึงเส้นทางคมนาคมต่างๆ มิอาจรอดพ้นได้ แล้วการขนส่งสินค้าจากโรงงานจะกระทำได้อย่างไร

ดังเช่นที่ “นายคมสัน โอภาสสถาวร” รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมของคณะกรรมการร่วมกัน 3 สถาบันภาคเอกชน(กกร.) ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกว่า “มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมนั้น เป็นแค่การแก้ปัญหาระยะสั้น ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนป้องกั้นนิคมฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากมีน้ำเข้ามามากกลับจะทำให้นิคมฯ ต่างๆ กลายสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้า หรือเคลื่อนย้ายคนงานได้ สุดท้ายผู้ประกอบการก็ต้องปิดโรงงานและขาดทุนอยู่ดี”

ทั้งนี้ นายคมสันยังกล่าวด้วยว่า สมาคมฯ เห็นว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐไม่มีความชัดเจน ไม่เอื้อประโยชน์อย่างจริงจัง หากยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างได้ การย้ายโรงงานก็จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศได้ ดังนั้น รัฐควรวางแผนและศึกษาหาพื้นที่แห่งใหม่สร้างนิคมฯ ในอนาคต โดยวางมาตรการการบริหารจัดการด้านการตลาดควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจในระยะยาว

ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบแนวคิดจากนายกรัฐมนตรีตัวจริงชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อสู้กับมหาอุทกภัยที่กำลังจะมาเยือนก็จะพบทิศทางที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก

คือปกปกนายทุน ทอดทิ้งประชาชน

นช.ทักษิณประกาศโมเดลสู้น้ำท่วมที่กลั่นออกมาจากมันสมองแต่อ้างเป็นโครงการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เอาไว้อย่างชัดเจนว่า.....

“น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเตรียมการจะสร้างแฟลตแสนยูนิตใน กทม.และปริมณฑล เพื่อรองรับการอพยพคนจนที่อยู่ตามริมคลองให้มาอยู่อาศัยทดแทนที่อยู่เดิม ซึ่งจะถูกเคลียร์พื้นที่เพื่อเปิดทางระบายน้ำให้สะดวกยิ่งขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องอุทกภัยและประชาชนจะมีที่อยู่อาศัยที่ถาวรขึ้นด้วย ไม่ใช่อยู่ฟรี ต้องมีค่าใช้จ่ายบ้าง แต่จะได้อยู่ใกล้ที่ทำมาหากินของเขา อาจสร้างในที่ราชการส่วนหนึ่ง หรือที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าที่ให้เดินทางทำมาหากินสะดวก คณะกรรมการ กยน.และต่างประเทศกำลังออกแบบจำลองในมิติต่างๆ เพื่อดูว่าอะไรดีที่สุด ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็จะดูแล บางที่ก็รอนสิทธิ เช่นเวลาน้ำท่วมให้ค่าเช่า น้ำไม่ท่วมก็ทำนา”

แน่นอน คนจนเหล่านั้นอาจเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า มีนิคมอุตสาหกรรมแทบทุกแห่งก็ตั้งอยู่ในพื้นที่รับน้ำเช่นกัน

ดังนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์และ นช.ทักษิณต้องไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับบรรดานิคมอุตสาหกรรมหรือบ้านเรือนของผู้มีอันจะกินที่ขวางทางน้ำ และรุกล้ำแม่น้ำ ไม่ใช่ไล่แต่ชาวบ้านที่ขวางทางน้ำ แต่กลับปกป้องนิคมอุตสาหกรรมและบ้านของเศรษฐีที่ขวางทางน้ำ

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ นอกจากจะไล่คนที่อยู่ริมคลองแล้ว นช.ทักษิณขวัญใจคนเสื้อแดงก็ยังคงตอกย้ำความคิดอันเพริศแพร้วในการถมทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

“เมื่อสร้างกำแพงกั้นน้ำในจุดที่ต้องทำแล้ว ต้องถมในส่วนที่ต้องถม ต้องดึงแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีนและบางปะกงลงไปกลางทะเล ตรงกำแพงจะเป็นถนนชมวิวได้ มีมารีนา ตั้งฟาร์ลมเพราะอยู่กลางทะเล การดำเนินโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยมีที่ดินงอกเพิ่มขึ้นอีก 300 ตารางกิโลเมตร จากจุดที่เสื่อมโทรมแล้ว 3.5 แสนไร่ และทำได้ไม่ยากเพราะจะให้ผู้ลงทุนออกเงินไปก่อน เมื่อทำเสร็จรัฐบาลก็ขายที่ที่พัฒนาแล้วไปส่วนหนึ่ แล้วเอาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ผ่อนชำระ ซึ่งญี่ปุ่นและเกาหลีก็สนใจโครงการนี้”

“สมมติค่าใช้จ่ายไร่ละ 1.2 ล้านบาท ทำ 3 แสนไร่ ต้นทุนก็ตก 3.6 แสนล้านบาท ใช้ครึ่งหนึ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนของรัฐบาลอีกครึ่งหนึ่งขายออก ขายได้ 1.5 แสนไร่ ถ้าขายได้ไร่ละ 10 ล้านบาท เหลือ 7.6 ล้านบาท 7.6 คูณ 1.5 แสนไร่ ได้เงินเหลือ 1.1 ล้านบาท เอามาใช้เป็นค่าแก้น้ำท่วม น้ำแล้ง อีกส่วนไปจ่ายค่ารถไฟความเร็วสูง จำเป็นที่จะต้องทำโครงการนี้ เพราะ กทม.สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.6 เมตร ขณะที่ต้องเผชิญภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นและแผ่นดินทรุดลง ถ้าไม่ทำอะไรภายใน 10 ปี เชื่อว่า กทม.จะจมน้ำแน่”

ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ นช.ทักษิณได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะออกมาประกาศว่าเกาหลีสนใจแนวคิดของเขา

และที่ต้องขีดเส้นใต้อีกเช่นกันคือ นช.ทักษิณประกาศเอาไว้ล่วงหน้าว่า ประเทศญี่ปุ่นสนใจโครงการนี้ก่อนหน้าที่นางสาวยิ่งลักษณ์ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพียงแค่ 1-2 วันในจุดที่ต้องทำแล้ว ต้องถมในส่วนที่ต้องถม ต้องดึงแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีนและบางปะกงลงไปกลางทะเล ตรงกำแพงจะเป็นถนนชมวิวไ

กระนั้นก็ดี คำถามที่ค้างคาใจของประชาชนเกี่ยวกับพื้นที่รับน้ำ พื้นที่ฟลัดเวย์และแผนการรับมือน้ำท่วมที่เป็นรูปธรรมก็ได้ปรากฏให้เห็นครั้งแรกจากการพิจารณาและอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอจัดทำโครงการป้องกันน้ำท่วมจำนวน 246 โครงการ โดยใช้งบประมาณ 24,828 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อมูลว่า โครงการสำคัญที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติประกอบไปด้วย การขยับแนวคันกั้นน้ำบริเวณกรุงเทพฯฝั่งเหนือ ให้ไปอยู่คลองรังสิต ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯฝั่งเหนือโดยเฉพาะสนามบินดอนเมืองไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีโครงการต่อทางยกระดับเพิ่มจากถนนบรมราชชนนีไปจังหวัดนครปฐม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการคมนาคมลงใต้ถูกตัดขาดกรณีเกิดน้ำท่วม ใช้งบ 12,500 ล้านบาท รวมทั้งยกระดับถนนพุทธมณฑลสาย 4 และ 5 ให้สูงขึ้น โดยจะมีการสร้างคลองขนานไป ใช้งบ 4 พันล้านบาท เพื่อช่วยให้เส้นทางน้ำที่ไหลผ่านจากเหนือลงสู่ใต้ได้เร็วขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางการระบายน้ำ จากปัจจุบันที่มีเฉพาะคลองทวีวัฒนา รวมถึงการขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณ 3 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน นายปลอดประสพยังประกาศเสียงดังฟังชัดด้วยว่า จะไม่มีการใช้พื้นที่ กทม.และปริมณฑลเป็นพื้นที่ในการรับน้ำอย่างแน่นอน โดยพื้นที่รับน้ำจะอยู่เหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นไป

แต่คำถามที่ตามมาคือ แล้วใครจะตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลว่าจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่กู้มานับแสนล้านบาทหรือไม่

ดังที่ อาจารย์เสรี ศุภราทิตย์ แห่งศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ให้แง่คิดเอาไว้ว่า “คณะกรรมการ 2 ชุดที่ตั้งมาใหม่ ทั้งกนอช.(คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ) และกบอ.(คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย) มีกรรมการที่มาจากหน่วยงานราชการที่เป็นฝ่ายปฏิบัติทั้งสิ้น เมื่อเป็นอย่างนี้คงต้องถามว่า ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบหน่วยงานที่รับงานจาก กยน.ไปแล้ว เพราะมันผิดหลักการตรวจสอบ ที่ตั้งคนทำงานมาตรวจสอบการทำงานของตัวเอง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เสนอความคิดนี้ให้แก่นายกฯ ซึ่งสิ่งที่น่าห่วงคืองบประมาณรัฐที่มอบให้หน่วยงานไปแล้ว เพราะไม่มีคณะทำงานกลางติดตามการทำงาน ดังนั้น จึงไม่มีใครตอบได้ว่าหากปีนี้น้ำมาจะป้องกันน้ำท่วมได้จริงหรือ”
กำลังโหลดความคิดเห็น