xs
xsm
sm
md
lg

ทรงแนะแก้น้ำท่วมเพิ่มโทษคนตัดไม้ทำลายป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ในหลวงทรงรับสั่งหาวิธีระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มโทษคนตัด ไม่ทำลายป่า ปลูกไม้เนื้อแข็งผสมไม้เนื้ออ่อน แก้ปัญหาน้ำท่วม ป้องกันดินถล่ม “นายกฯปู” ระบุแผนการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เชื่องานไม่สะดุดหลังเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมชลฯ “ยงยุทธ”ล้อมคอกงบฟื้นฟู ป้องกันน้ำท่วม ขู่มีกลิ่นทุจริตเด้งทันที ผวจ. ไม่รอฤดูโยกย้ายเม.ย. ปลัดมท.ขันน็อต 11 จ.ภาคกลางเตรียมมือน้ำท่วม ย้ำให้ใช้จ.ลพบุรีเป็นฐานใหญ่พื้นที่ซ้อมเผชิญเหตุ

วันนี้ (24 ก.พ.) เวลา 17.49 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานเรื่องการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการวางแผนเพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ รัฐบาลจึงได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2554 และแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมาดำเนินการ
       
       ขณะเดียวกัน จากวิกฤตภัยธรรมชาตินี้ รัฐบาลต้องการสร้างความเชื่อมั่น ฟื้นความน่าเชื่อถือ และสร้างความมั่งคั่งมั่นคงแก่ประเทศ ให้กลับฟื้นคืนมาในระยะยาวอย่างยั่งยืน จึงเห็นสมควรกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ด้วยการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2554 และแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ขึ้นมาดำเนินการเช่นเดียวกัน
       
       โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำรัสว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้นต้องหาวิธีระบายน้ำ ให้น้ำไหลได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยังมีเรื่องดินและเรื่องป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ด้วยการเพิ่มบทลงโทษ ขณะเดียวกัน ต้องเร่งปลูกต้นไม้ขึ้นมาทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลาย โดยปลูกทั้งไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อนผสมกัน เพราะไม้เนื้ออ่อนโตเร็ว แต่รากไม่ยึดดินเท่ากับไม้เนื้อแข็งที่โตช้ากว่า แต่หยั่งรากลึก ช่วยป้องกันดินถล่มได้
       
       ".. ก็ยากที่จะพูด แต่ว่าข้อสำคัญเป็นการไหลของน้ำ หากให้สามารถ ให้น้ำมันไหลสม่ำเสมอ อย่างที่เห็นมา ในปีที่ผ่านมา น้ำลงมาพรวดพราด แล้วก็ไม่ลง ไม่ยอมลงที่มีปัญหาสำคัญก็เรื่องของป่าไม้ เรื่องต้นไม้ ตลอดตั้งแต่ภาคเหนือ มาถึงภาคกลาง แล้วในภาคใต้ก็มีปัญหาเป็นแห่งๆ ที่แสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยและในต่างประเทศเห็นว่า เพราะว่าป่าไม้ถูกทำลาย
       
       ป่าไม้มีหลายชนิด โดยเฉพาะ 2 ชนิด ป่าไม้ที่ขึ้นเร็ว โตเร็ว และทำลายเร็ว และมีต้นไม้ที่ขึ้นช้า และถูกทำลาย ก็เลยทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ไขต้นไม้ที่โตเร็ว ทำลายเร็ว ก็ทำให้มีดินถล่มทุกแห่ง จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ทางภาคเหนือก็มีมาก แต่ก่อนนี้ไม่มี ก่อนนี้มีแต่ภาคใต้ ที่มีเพราะว่า มีต้นไม้ที่โตเร็ว ก็ทำลายเร็ว ความเร็ว และก็มีอันตรายมาก มาเดี๋ยวนี้ไปถึงภาคเหนือเกือบทุกแห่ง มีการทำลาย ทลายของดิน ของภูเขา อันนี้ก็อันตรายมาก และแก้ไขยาก ก็ต้องหาวิธีที่จะแก้ไขเรื่องป่าไม้เป็นสำคัญ ที่ลำบากเพราะว่า ความโลภของคน ต้นไม้ที่ชอบ ที่ถูกทำลายคือต้นที่มีคุณภาพ ต้นไม้แข็ง ก็หมายความว่าเป็นต้นไม้ที่ถูกทำลายแล้วขึ้นช้า แล้วจะทำอย่างไร เพราะว่า ความโลภของคน ความโลภของ โดยเฉพาะเราตำหนิข้าราชการที่โลภและก็อยากได้เงิน แต่อันนี้ลำบาก ต้นไม้ที่ช่วยในเรื่องของน้ำท่วมนี่ ก็จะขึ้นช้า ปลูกยาก แต่หลักการที่จะต้องทำก็คือ จะต้องปลูกต้นไม้ขึ้นเร็วผสมกับต้นไม้ที่ขึ้นช้า และก็ช่วยในการป้องกันน้ำท่วม ก็ต้องปลูกต้นไม้ที่เรียกว่า หาไม้แข็ง และขึ้นช้า แต่ว่าเมื่อขึ้นช้าก็ป้องกันยากที่จะไม่ถูกทำลาย พอถูกทำลาย ปลูกแทนมันยาก และก็ต้นไม้ที่ไม้แข็งย่อมขึ้นช้า อันนี้จะต้องหาวิธีที่จะป้องกันไม่ให้มีการทำลาย และก็ให้มีการลงโทษหนัก เพื่อจะไม่ให้ถูกทำลาย การปลูกก็ควรจะปลูกต้นไม้ที่ขึ้นช้า ที่เป็นไม้แข็ง ไม้รากลึก ทำให้ป้องกันการดินถล่ม อันนี้ก็เป็นปัญหายากมาก วิธีจะทำก็ต้องปลูกผสมพวกต้นไม้ ไม้อ่อนและขึ้นเร็วกับไม้แข็งที่ขึ้นช้า
       
       เพราะฉะนั้น จะต้องหาวิธีที่จะป้องกันการทำลาย เพราะว่า ต้นไม้ไม้แข็งเมื่อถูกทำลายแล้วก็กว่าจะแทนที่ได้ ก็กินเวลานาน อย่างที่กรุงเทพฯ ได้ปลูกต้นไม้แข็ง เช่น ไม้สัก และไม้ยาง ไม้สักก็กินเวลาหลายสิบปีกว่าจะโตและแกร่ง ไม้ยางขึ้นได้เร็วกว่า แต่อย่างไรก็กินเวลานาน 60 ปี กว่าจะใช้ได้ หมายความว่า เป็นงานหนักและการปลูกต้นไม้ที่จะช่วยให้เป็นไม้ที่จะช่วยในเรื่องของที่เรา ปัญหาที่เราทำคือน้ำท่วม ดินถล่ม ต้องใช้เวลาเป็นแรมปีถึงจะดีขึ้นได้
       
       วิธีทำก็หลีกปัญหา ก็จะต้องปลูกต้นไม้ที่ขึ้นเร็ว หมายความว่าประมาณ 10 ปี ก็โตแล้ว ใช้การได้ แล้วก็ผสมกับต้นไม้ที่ต้องใช้เวลานาน กว่าจะใช้งานได้ ก็ใช้งานทั้งในฐานะเป็นไม้และในฐานะเป็นต้นไม้ที่จะป้องกันน้ำท่วม เป็นเวลาหลายสิบปี ก็ความคิดที่จะทำก็คือปลูกต้นไม้ที่เกิด ที่ขึ้นเร็ว ที่จะใช้งานได้ ขายได้ ได้รายได้ ส่วนหนึ่ง แล้วก็ไม้แข็ง ไม้ที่มีคุณภาพ ไม้ที่แพง ไม้ที่คนชอบไปตัดแล้วไปขาย ก็ต้องพยายามที่จะทำป่าที่ปลูกต้นไม้หลายชนิด

***”ปู”แจงแผนบริหารจัดการน้ำ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเข้าประชุมสภาถึงแผนบริหารการจัดการน้ำที่จะกราบบังคมทูลถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในช่วงเย็นว่า เป็นแผน บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แบบระยะเร่งด่วน และระยะยั่งยืน โดยระยะเร่งด่วนได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดในการลงพื้นที่ศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจ ร่วมกับกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะการยกระดับพื้นถนนให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ แนวทางจะยึดหลักแผนบริหารจัดการน้ำของ กยน. โดยจะบูรณาการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ขณะที่แผนเร่งด่วนจะต้องดูแลพื้นที่ต้นน้ำ เร่งปลูกป่าตั้งแต่วันนี้ ส่วนการทำ
ฟลัดเวย์ และพื้นที่รับน้ำ ได้มอบหมายให้ตัวแทนจาก กยน.เป็นผู้ดูแล ยืนยันว่าเส้นทางน้ำไหลต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นปีแห่งบูรณาการแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมชลประทานจะไม่กระทบต่อการแก้ไขปัญหาน้ำ เนื่องจากไม่ว่าบุคคลใดเป็น อธิบดีก็ต้องดำเนินการตามแผนเดิมที่วางไว้ อีกทั้งอธิบดีกรมชลประทานคนเดิมเข้ามาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะต้องดูแลแนวทางตามธรรมชาติ พร้อมทั้งปฏิเสธข่าว การจัดตั้งกระทรวงน้ำ เพื่อแก้ไขการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ขณะที่ นายกิจจา ผลภาษี หนึ่งในกยน. กล่าวว่า ในวาระเร่งด่วน กยน.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้หน่วงน้ำช่วงบน หาพื้นที่รองรับน้ำทำ แก้มลิง คันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชน

***"ยงยุทธ"ลั่น 3 เงื่อนไขสั่งเด้งผวจ.-ขรก.

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อสำรวจการจัดการน้ำ ว่า ไม่มีสิ่งใดออกมาเป็นรูปธรรม ว่า เป็นสิทธิการแสดงความคิดเห็นของเขา แต่ตนคิดว่าจากการสอบถามประชาชนหลายภาคส่วน ก็เห็นว่าทุกคนมีความสบายใจและมั่นใจมากขึ้นที่ได้เห็นรัฐบาลทำเช่นนั้น สำหรับกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างก็ต้องมีอยู่ในสังคม แต่ตนคิดว่ามีน้อยลง ส่วนการลงพื้นที่ของรัฐบาลก็เป็นการไปสร้างความหวังและเพิ่มความสุขของ ประชาชน ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าได้ผล

เมื่อถามว่าจะทำให้การดำเนินโครงการเร่งด่วนเฉพาะหน้าซึ่งจะเริ่มทำพร้อมใน พื้นที่ต่างๆ มีความโปร่งใสได้อย่างไร นายยงยุทธ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับเรื่องนี้ในที่ประชุม ครม.อยู่เป็นประจำ และกระทรวงมหาดไทยในฐานะที่เป็นเจ้าภาพในแต่ละจังหวัด จะมีเงื่อนไขการให้คุณให้โทษ 3 เรื่อง คือ 1.ต้องทำให้ยาเสพติดลดลง 2.ต้องมีความโปร่งใสในการดำเนินโครงการต่างๆของรัฐบาล 3.การฟื้นฟูเยียวยาประชาชนต้องทำอย่างรวดเร็ว

“ ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นหลักในการพิจารณาโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการ ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตนมีอำนาจทางการบริหารในการสั่งโยกย้ายคนนั้นทันที ไม่ต้องรอให้ถึงช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีในเดือน เม.ย.”

***ขันน็อต11จ.ภาคกลางรับมือน้ำ

ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการประชุมเพื่อพิจารณาแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทยกำกับดูแลกรมป้องกันฯเป็นประธานการประชุม ร่วมกับ 11 กลุ่มจังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง ประกอบด้วย จ.ชัยนาท ,ลพบุรี ,สิงห์บุรี ,อ่างทอง ,พระนครศรีอยุธยา ,ปทุมธานี ,นนทบุรี ,สมุทรปราการ ,สุพรรณบุรี ,นครปฐม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพฯ

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทุกจังหวัดต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการเตรียมรับมือแผนเผชิญเหตุเช่น จำลองสถานการณ์ ว่าจะเข้าสู่พื้นที่อุทกภัยอย่างไร ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างไร และจะอพยพประชาชนไปสู่ศูนย์พักพิงด้วยวิธีใดโดยนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยี่ยมชมการซ้อมแผนงานของจังหวัดตัวอย่างด้วยตนเองทุกจังหวัดต้องประเมินความเสี่ยงขั้นสูงสุด และอย่าประเมินสถานการณ์ภายในจังหวัดของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประสานงานกับจังหวัดข้างเคียงด้วย เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาระหว่างมวลชน 2 พื้นที่ อย่างที่เคยเกิดขึ้น โดยอาจเลือกใช้พื้นที่จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่ซ้อมแผนเผชิญเหตุ เนื่องจากมีค่ายทหาร และมีกำลังพลสำหรับซ้อมรับมือจำนวนมาก รวมถึงมีประสบการณ์ในการรับมือน้ำท่วมเป็นอย่างดี

ด้านนายทวี นริศศิริกุล รองผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ใช้ยุทธศาสตร์แบ่งพื้นที่พิจารณาเป็นสี่ลุ่มน้ำ คือ แม่น้ำ เจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสักโดย เตรียมความพร้อมผันน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ให้มากขึ้น เพื่อให้แบ่งน้ำ จาก แม่น้ำป่าสักไปได้ นอกจากนี้ ได้เสริมคันกั้นน้ำนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 5 นิคมฯ ให้มีความสูงกว่าระดับน้ำอีก 50 ซม. ส่วนเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยานั้น จะมีการสร้างคันกั้นน้ำโดยรอบ ถ้าเราป้องกันได้ก็จะป้องกันได้หมดเลย

**มท.ทุ่มกว่าหมื่นล.เร่งเยียวยาจังหวัดน้ำท่วม

นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึงภาพรวมของแผนฟื้นฟูเยียวยาจากอุทกภัย ว่า ในส่วนที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ ตามข้อมูลเมื่อวันที่ 23 ก.พ. มี 62 จังหวัดทั่วประเทศ และได้อนุมัติ โครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 15,157.3721 ล้านบาท จัดสรรไปแล้ว 11,243.0634 ล้านบาท ยังเหลืออยู่ที่สำนักงบประมาณ 3,140.2776 ล้านบาท ส่วนเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนต่างจังหวัดไม่เกิน 30 วันก็จะเรียบร้อยหมด พื้นที่ภูมิภาคตอนนี้จ่ายไปแล้วกว่า 90% ทุกจังหวัด เพราะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมารับรองว่าในพื้นที่นี้น้ำท่วมจริง เมื่อนายอำเภอเห็นรายชื่อก็อนุมัติได้เลย และถ้ามีปัญหา กำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องรับผิดชอบ

“ในส่วนกทม.น่าหนักใจ เพราะมีประชากรมากและไม่มีคนรับรอง ผู้อำนวยการเขตก็ไม่กล้าจ่าย เขาจึงส่งเจ้าหน้าที่เขตไปดูพื้นที่ มันก็เลยช้า ถ้าประธานชุมชนในกทม. ให้การรับรองเหมือน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน งานก็จะเร็ว”

***กนอ.มั่นใจปี55พื้นที่นิคมฯพ้นภัยน้ำท่วม

นายประสบศิลป์ โชติมงคล รองผู้ว่าการ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวความคืบหน้าของแผนป้องกันน้ำท่วมของแต่ละนิคมอุตสาหกรรมว่า นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จะดำเนินการเสริมเขื่อนดิน ให้สูงขึ้นจากระดับน้ำทะเล เป็นระยะทาง 4 กม. เสริมพนังคอนกรีต ระยะทาง 5 กม. และจะมีการเสริมคันกั้นน้ำเพิ่มสูงประมาณ 60 ม. เพื่อรับมือกับมวลน้ำที่อาจมาปริมาณมาก ซึ่งงบประมาณการลงทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 90.82 ล้านบาท ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนโรงงาน 225 แห่ง และจำนวนแรงงานกว่า 45,000 คน

นิคมอุตสาหกรรมบางชัน จะดำเนินการสร้างแนวป้องกันด้วยการเสริมแผ่นเหล็ก บริเวณรอบๆ พื้นที่ยาว 2,600 เมตร และเสริมเนินกั้นน้ำเพิ่มจำนวน 18 แห่ง นอกจากนั้น จะสร้างสถานีสูบน้ำ เพิ่มอีก 2 สถานี ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 260.84 ล้านบาท พื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนโรงงาน 92 แห่ง และแรงงาน 19,848 คน

นิคมอุตสาหกรรมบางปู จะดำเนินการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ประกอบด้วย พนังกั้นน้ำคอนกรีต ยาวกว่า 1 กม. เสริมคันดินเพิ่มอีกอยู่ที่ระดับ 60 ซม.เป็นระยะทางยาวถึง 6 กม. เสริมเนินกั้นน้ำเพิ่มอีกจำนวน 1 จุด ใช้งบลงทุน 50 ล้านบาท โดยมีโรงงานทั้งหมด 420 โรงงาน แรงงาน 65,000 คน

นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จะเสริมดินลูกรังเพิ่มจากระดับถนนเดิมอีก 40 ซม. ยาวกว่า 1 กม. ใช้งบ 4 ล้านบาท, แผนป้องกันน้ำท่วมในนิคมฯ สมุทรสาคร จะเสริมเขื่อนดินเพิ่มจากระดับเดิมอีก 60 ซม. เป็นระยะทาง 1 กม. สร้างเขื่อนดินความสูง 2 เมตร เป็นระยะทางยาวกว่า 1 กม. ลงทุน 88 ล้านบาท

**"มาร์ค" ซัดแผนจัดการน้ำแม่ชัดเจน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์รายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel กล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่า เป็นการพูดแบบรายวันไม่มีรายละเอียดไม่มีใครได้เห็นแผนจริง ๆ เช่นเรื่องเงินชดเชยพื้นที่รับน้ำ จะทำระเบียบกติกาอะไรออกมาให้เข้าใจตรงกัน ขณะที่กระบวนการกำหนดพื้นที่รับน้ำนั้นจะทำด้วยกฎหมาย ด้วยกระบวนการอะไรที่ประชาชนมีส่วนร่วมนั้นได้เมื่อไหร่ จะทันหรือไม่ แล้วก็เงินที่จะใช้จ่ายในแต่ละเรื่องนั้น ตกลงแล้วงบกลางที่รัฐบาลยังเหลืออยู่เกือบแสนล้าน กับที่จะต้องไปกู้หนี้ ยืมสินมาอีก 3 แสน 5 นั้น มีหลักการในการแบ่งในการที่จะทำกรอบเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งยังไม่มีคำตอบ หรือที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ เราก็ยังไม่รู้ว่า 2 ล้านไร่ ฟลัดเวย์อยู่ที่ไหน แล้วเราก็ไม่แน่ใจว่าอีกวันหนึ่งแล้วจะพูดเปลี่ยนแปลงไปอีกหรือไม่

***กทม.ขีดเส้นพ.ค.-มิ.ย.ขุดคลองพันแห่งเสร็จ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวหลังจากลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำคลองบางเขนใหม่ พร้อมทั้งดูการขุด คลองใหม่ และตรวจสถานีสูบน้ำในพื้นที่ของสำนักการระบายน้ำ(สนน.) กทม.ว่า การขุดลอกคลอง ถือว่าจุดนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการรับน้ำจากคลองสอง และคลองบาง บัง เพื่อระบายต่อไปยังคลองบางเขนใหม่ลงแม่น้ำเจ้าพระยา และบางส่วนก็ไหลต่อไปยังคลองลาดพร้าว ไปถึงสถานีสูบน้ำพระ โขนง ลงอุโมงค์ยักษ์ไหลออกแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน โดยการขุดลอกคลองบางเขนเป็นเรื่องสำคัญที่กทม.ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งได้เร่งปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำของสถานีสูบน้ำบางเขน คาดจะแล้วเสร็จพ.ค.นี้ เช่นเดียวกับแผนขุดลองคลองทั้งหมด

ด้านนายสัญญา ชินิมิต ผอ.สำนักการระบายน้ำ(สนน.) กล่าวว่า สนน.ได้เร่งขุดลอกคลองบางเขนให้ลึกอีก 1-1.50 เมตร หากแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำในพื้นที่ได้อย่างดี ส่วนคลองอื่นที่เป็นจุดคอขวด จะมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม ขณะที่การปรับปรุง สถานีสูบน้ำคลองขางเขนขาเข้าฝั่งเหนือนั้น ก่อนหน้านี้สถานีสูบน้ำดังกล่าวมีกำลังสูบ 3 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปัจจุบันมีการปรับปรุงขนาดอัตราการสูบเพิ่มขึ้นเป็น 7 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำที่ท่วมขังในถนนวิภาวดี พื้นที่เขตหลักสี่และบริเวณใกล้เคียงได้ อย่างไรก็ตามแผนขุดลอกคลองที่สำนักการระบายน้ำรับผิดชอบตั้งเป้าจะให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

***อธิบดีชนประทานคนใหม่มั่นใจรับมือได้

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว แสดงความมั่นใจว่าจะรับมือสถานการณ์น้ำในปี นี้ได้ โดยจะสานต่อแผนงานต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว และให้ความสำคัญกับแผนงานเร่งด่วนรองรับอุทกภัย ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยเฉพาะการซ่อมแซมประตูระบายน้ำและระบบชลประทานที่เสียหาย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยเตรียมจะลงพื้นที่ติดตามโครงการเร่งด่วนในการซ่อมแซมประตูระบายน้ำ และระบบชลประทานให้เสร็จทันฤดูฝน

***ส.ต่อต้านโลกร้อนเล็งฟ้องรอบ3

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า จากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ รัฐบาลที่ผ่านมา ประกอบกับการมีข้อมูลจาก กยน. ว่า ได้กำหนดให้มีแนวพื้นที่ฟลัดเวย์ขึ้นทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ทั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่ทราบเรื่อง เปรียบเสมือนการมัดมือชก ที่สำคัญโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวเป็นโครงการประเภทรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งต้องมีการทำอีเอชไอเอ เสียก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ

"ทางสมาคมฯ จึงได้ร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีสัมมนาเรื่อง มหาอุทกภัยอยุธยา : ทางออก ผลกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ขึ้นในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา และจะตั้งโต๊ะรับมอบอำนาจฟ้องคดีรอบที่ 3 เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยให้ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เพื่อนำไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อระงับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวในช่วงต้นเดือน มี.ค.ต่อไปด้วย" นายศรีสุวรรณ กล่าว.

**ใช้งบ 6 หมื่นล.ทำพื้นที่รับน้ำ2ล้านไร่

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการหลังจากที่ พ.ร.ก.ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ คือ การใช้เงิน 60,000 ล้านบาทเตรียมพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลหาพื้นที่เหมาะสมได้แล้ว 1,500,000 ไร่ ซึ่งงบประมาณนี้รวมถึงการชดเชยให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ และ จะมีการสร้างเขื่อนริมน้ำเจ้าพระยาแทนการใช้กระสอบทรายเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

***นิด้าโพลชี้62%เชื่อน้ำท่วมอีก

ศูนย์สำรวจ ความคิดเห็นของประชาชน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเตรียมรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2555" จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,277 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.49 เชื่อว่าในปี 2555 นี้จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแน่นอน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ถูกทำลาย รวมทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปการทำงานที่ล่าช้าของรัฐบาล, ร้อยละ 19.66 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ และ ร้อยละ 17.85 เชื่อว่าน้ำท่วมไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะไม่น่าจะเกิดซ้ำสอง

ด้านความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 50.20 ระบุมั่นใจแค่ปานกลางเท่านั้น ร้อยละ 19.20 เชื่อมั่นน้อย ร้อยละ 18.10 ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 9.80 เชื่อมั่นมาก และ ร้อยละ 2.70 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ส่วนสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วม ประชาชนร้อยละ 45.30 นั้นเชื่อว่าเกิดจากการบริหารจัดการน้ำ เช่นการปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ รองลงมา ร้อยละ 36.20 เชื่อว่าเป็นภัยธรรมชาติ และร้อยละ 17.50 อุปสรรคในการระบายน้ำ เช่น สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ

ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ประชาชนร้อยละ 39.47 ระบุขอดูสถานการณ์ก่อนเพราะอยากติดตามข่าวสาร ข้อมูลยังไม่ชัดเจนไม่อยากวิตกกังวลไปก่อน รองลงมา ร้อยละ 36.02 ระบุยังไม่ได้เตรียมเพราะที่พักอาศัยอยู่ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงและร้อยละ 23.10 เตรียมตัวอย่างมาก เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ป้องกันไว้ก่อนจะได้ไม่สูญเสียมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น