ที่ประชุมมหาดไทย สั่งผู้ว่าฯภาคกลาง และปริมณฑล ขันนอต 11 จังหวัดเตรียมรับมือน้ำท่วมระลอกใหม่ ปลัด มท.ย้ำ ให้ประเมินสถานการณ์แรงสุดเอาไว้เตรียมรับมือ ใช้ลพบุรีเป็นฐานใหญ่พื้นที่ซ้อมเผชิญเหตุ
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการประชุมเพื่อพิจารณาแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย กำกับดูแลกรมป้องกันฯ เป็นประธานการประชุม ร่วมกับ 11 กลุ่มจังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นครปฐม และ สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทุกจังหวัดต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการเตรียมรับมือแผนเผชิญเหตุ เช่น จำลองสถานการณ์ ว่า จะเข้าสู่พื้นที่อุทกภัยอย่างไร ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างไร และจะอพยพประชาชนไปสู่ศูนย์พักพิงด้วยวิธีใดโดยนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยี่ยมชมการซ้อมแผนงานของจังหวัดตัวอย่างด้วยตนเองทุกจังหวัด ต้องประเมินความเสี่ยงขั้นสูงสุด และอย่าประเมินสถานการณ์ภายในจังหวัดของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประสานงานกับจังหวัดข้างเคียงด้วย เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาระหว่างมวลชน 2 พื้นที่ อย่างที่เคยเกิดขึ้น โดยอาจเลือกใช้พื้นที่ จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่ซ้อมแผนเผชิญเหตุ เนื่องจากมีค่ายทหาร และมีกำลังพลสำหรับซ้อมรับมือจำนวนมาก รวมถึงมีประสบการณ์ในการรับมือน้ำท่วมเป็นอย่างดี
ด้าน นายทวี นริศศิริกุล รอง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ใช้ยุทธศาสตร์แบ่งพื้นที่พิจารณาเป็นสี่ลุ่มน้ำ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก โดยเตรียมความพร้อมผันน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ให้มากขึ้น เพื่อให้แบ่งน้ำจากแม่น้ำป่าสักไปได้ นอกจากนี้ ได้เสริมคันกั้นน้ำนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 5 นิคม ให้มีความสูงกว่าระดับน้ำอีก 50 ซม. ส่วนเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยานั้น จะมีการสร้างคันกั้นน้ำโดยรอบ ถ้าเราป้องกันได้ก็จะป้องกันได้หมดเลย
นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้พิจารณาพื้นที่รับน้ำนอง 2 ล้านไร่ ซึ่งสามารถรับน้ำได้ 5 พันล้าน ลบ.ม.เกือบเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว โดยยึดหลักการว่าต้องเป็นพื้นที่ที่น้ำ-เข้าออกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ประเภทที่หนึ่งตัดย่อน้ำได้ รวมถึงสามารถชะลอน้ำได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังคงหารือกันอยู่ว่า เมื่อประกาศให้แต่ละพื้นที่เป็นพื้นที่รับน้ำแล้ว จะต้องจ่ายเงินชดเชยเลยหรือไม่ เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.และจ่ายใน ก.ย.-ต.ค.ส่วนหลักการว่าจะจ่ายภายใต้กฎเกณฑ์อย่างไรนั้น ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่