ฝ่ายค้านอภิปรายซัด รบ.ใช้เวลา 15 วัน ร่าง พ.ร.ก.4 ฉบับยึดอำนาจสภาฯ ชี้ พ.ร.ก.กองทุนประกันภัยฯ ให้อำนาจ คกก.ล้นฟ้า จี้แก้ไขนิยาม “ผู้ประสบภัย” รวมถึงอุทกภัยภาคใต้ แนะควรใช้แบงค์รัฐปล่อยซอฟต์โลนแทน ธปท.เลี่ยงทำลายวินัยการเงินการคลังในอนาคต ด้าน “กิตติรัตน์” อ้าง วิกฤตน้ำท่วมจำต้องเร่งออก พ.ร.ก.4 ฉบับ แม้จะยอมเป็นหนี้สาธารณะ 4 แสนล้าน เพื่อใช้กู้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุน
วันนี้ (1 ก.พ.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้มาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง แต่ได้มอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นผู้อ่านรายงานในที่ประชุมแทน
ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ กล่าวยืนยันว่า หนี้ที่จะเกิดขึ้นจากการตั้งกองทุนจำนวน 5 หมื่นล้านบาทรัฐบาลจะดูแลให้มีการชำระหนี้ได้อย่างมั่นคงและแน่นอน เพราะจากการดำเนินการในส่วนอื่นจะทำให้หนี้สาธารณะ ที่ไม่เคยได้รับการดูแลอย่างชัดเจนจะถูกดูแลให้เป็นหนี้ที่เรียกว่าหนี้สาธารณะที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับดูแลให้เกิดการจัดการบริหารหนี้ส่วนนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ที่่ผ่านมา ถูกจัดเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายเป็นลำดับ 5 ของโลก ตั้งแต่ปี 2548 ครอบคลุม 53 จังหวัด รวมเสียหาย 2.6 ล้านครัวเรือน ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดประเมินความเสียหายเป็นตัวเงินได้ชัดเจน ประมาณการว่า จีดีพีลดลงร้อยละ 2.3 ในปี2554 ขยายเพียงร้อยละ 1.5 จากเดิมร้อยละ 4
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้กระจายตัวไปในทุกภาคส่วนของประเทศโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบของประเทศ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น และโรงงานนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมใน 8 จังหวัด มีมูลค่าเสียหายใกล้เคียงกัน รวมทั้งหมดนอกและในเขตนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 4.7 แสนล้านบาท และยังเกิดความเสียหายในรายได้ในอนาคตด้วยเฉพาะโรงงานในเขตนิคมอตุสาหกรรมลดลง 3 แสนกว่าล้านบาท และต่อเนื่องไปเป็นวงกว้าง เพราะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำมีผลต่อห่วงโซ่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการจ้างแรงงานในกระบวนการห่วงโซ่อุปทานการผลิตด้วย
รวมถึงภาคเกษตรกรรม พื้นที่เพาะปลูกเสียหาย 11 ล้านไร่ สูญเสียรายได้ 4.4 หมื่นล้านบาท และสูญเสียในภาคการพาณิชย์เกษตรและการส่งออกจำนวนมาก ซึ่งมีความสำคัญต่อรายได้ของประเทศถึงร้อยละ 70ทำให้จากเดิมได้คาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 25 ขณะนี้ต้องปรับลดเหลือเพียงร้อยละ 17 ส่งต่อความมีเสถียรภาพในส่วนการค้าส่งและการค้าปลีกอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้ผู้ประกอบการวินาศภัยด้วย โดยขณะนี้ผู้ประกอบธุรกิจส่วนนี้ประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการรับประกันวินาศภัยที่เกิดจากภัยพิบัติส่งผลให้ประชาชน และผู้ประกอบการต้องเสียเบี้ยประกันเป็นจำนวนสูงมาก หรือไม่สามารถเอาประกันภัยได้มีผลต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาฟื้นฟูอุตสาหกรรม ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประกอบการให้ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการของบุคคลที่อาจเกิดความเสียหายได้ในอนาคต และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศสมควร รัฐบาลจึงเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการตรา พ.ร.ก.กองทุนเพื่อจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติในวงเงิน5 หมื่นล้านบาทเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วน พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555 วงเงินไม่เกิน 3 แสนล้านบาท มีจุดประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน เพราะเงื่อนไขในการกู้เงินจากสถาบันการเงินตามปกติ ยังมีข้อจำกัดในด้านสินเชื่อรวมที่จัดไว้รองรับด้านสินเชื่อภาคประชาชน และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยกลไกตลาดอยู่ในระดับไม่ผ่อนปรนต่อภาวะความจำเป็นภายหลังปัญหาอุทกภัย
โดยกำหนดให้ ธปท.มีอำนาจในการพิจารณากู้ยืมแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราวเพื่อให้สถาบันการเงินนำไปให้กู้ยืมแก่ผู้เสียหายในกลุ่มดังกล่าวจากปัญหาอุทกภัยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดย ธปท.และสถาบันการเงินร่วมกันสนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ได้รับเสียหาย ธปท.จะสมทบร้อยละ 70 ของการให้สินเชื่อคิดอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินร้อยละ 0.01 ต่อปี และให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินสมทบร้อยละ 30 โดยให้คิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ทั้งนี้ ได้กำหนดให้สถาบันการเงินยื่นคำขอกู้จาก ธปท.ได้ภายหลังจาก พ.ร.ก.ผ่านการพิจารณาทางกฎหมายแล้วและให้ดำเนินการด้านกู้ยืมให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธ.ค.2556 และสถาบันการเงินต้องส่งคืนเงินกู้แก่ ธปท.ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ได้รับเงินกู้” นายกิตติรัตน์ กล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า หากรัฐบาลจะมารองบประมาณปี 2556 ทำให้ไม่สามารถยืนยันความมั่นใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถึงความพร้อมทางการเงินและความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ดำเนินการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก จึงมีความจำเป็นรีบด่วน อย่างไรก็ตาม การกู้เงินดังกล่าวรัฐบาลทราบดีว่า เป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะให้แก่รัฐบาลถึง4 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่รัฐบาลมีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องแสดงให้เห็นประชาคมทางการเงินได้ทราบถึงความพร้อมในการชำระดอกเบี้ยและต้นเงินกู้ทั้งในส่วนที่เป็นหนี้เดิมและหนี้ใหม่ได้
“ขณะนี้รัฐบาลไทยมีหนี้สาธารณะ 4.45 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2.04 ล้านล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อดูแลความเสียหายให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1.08 ล้านล้านบาท และหนี้อื่นๆ อีก 1.8 แสนล้านบาท เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อดูแลความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันมีวงเงินหนี้คงค้างอยู่ในจำนวนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบันได้สามารถชำระหนี้เงินต้นโดย ธปท.จำนวนเงิน 1.6 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของวงเงินทั้งหมด ขณะนี้กระทรวงการคลัง และ ธปท.ได้ปรึกษาจนมีความเข้าใจร่วมกันแล้วว่า ธปท.มีความพร้อมในการดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยดำเนินการให้เจ้าหนี้ ผู้เป็นถือพันธบัตร และตั๋วสัญญาใช้เงินของกระทรวงการคลังสามารถได้รับชำระดอกเบี้ยเงินต้นผ่านการดูแลของ ธปท.” นายกิตติรัตน์ กล่าว
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็น โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างอภิปรายไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเร่งรีบออก พ.ร.ก.4 ฉบับ ยึดอำนาจสภา โดยใช้เวลาเพียง 15 วันเท่านั้น ไม่มีความรอบคอบและความชัดเจน และสร้างปัญหาให้ประเทศเป็นเงินจำนวนมหาศาล โดยไม่ให้สภาได้มีโอกาสตรวจสอบ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวโดยชี้แจงถึงเหตุผลที่ฝ่ายค้านยื่นตีความร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 และ ร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 เพราะเห็นว่าไม่ใช่เหตุของความจำเป็นเร่งด่วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่ต้องการให้เกิดความถูกต้อง รอบด้านและโปร่งใส ถ้าหยุดเล่นการเมืองก็ดี เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำที่กำลังจะมา และเร่งฟื้นฟูชีวิตประชาชนจากน้ำท่วมปีที่ผ่านมา
ส่วนร่าง พ.ร.ก.2 ฉบับที่กำลังพิจารณาฝ่ายค้านเห็นถึงความจำเป็น เพราะทราบดีว่าเกิดความเสียหายอย่างมากกับภาคเอกชน และมีเครื่องมือให้ฟื้นขึ้นมาด้วยการให้สินเชื่อต่ำ แต่ก็มีประเด็นข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น ไม่สามารถไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยชาวใต้ได้เลยเพราะในกฏหมายเขียนในนิยาม “อุทกภัย” ว่า เกิดในปี 2554 แต่ภาคใต้เสียหายมาก คือ ต้นเดือน ม.ค.2555 หมายความว่า เงิน 3 แสนล้านบาทที่จะนำไปช่วย จะไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับชาวใต้ได้ ตนหวังว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความ เจตนาแต่อาจจะมองข้ามเรื่องนี้ไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมีความพยายามนิยามให้ได้เฉพาะบุคคลธรรมดา กับ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งก็สมควรได้รับความช่วยเหลือ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น มีการอ้างถึงกิจการในนิคมอุตสาหกรรม7 แห่ง เชื่อว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้านิยาม แต่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ถ้าอ้างว่าหากช่วยธุรกิจขนาดใหญ่แล้วเงินจะไม่พอ ก็สามารถจำกัดเงินได้ เพราะรายใหญ่ รายกลาง รายย่อม ล้วนมีความสัมพันธ์กัน หากรายใหญ่ไม่ฟื้นก็จะกระทบไปทั่ว การไปขีดวงจำกัดทำให้การช่วยเหลือไปไม่ทั่วถึงและ ไม่สามารถตอบโจทก์ให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่จะฟื้นฟูขึ้นมาได้
นายอภิสิทธิ์ ยกตัวอย่างความคิดที่จะสร้างเขื่อน หรือกำแพงรอบนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ซึ่งยังไม่สามารถตอบโจทก์ความมั่นคงทางเศรฐกิจได้ เพราะแม้จะสร้างเขื่อนในวันนี้ คำถามของนักลงทุน คือ ทราบดีว่า เพื่อปกป้องทรัพยิ์สินไม่ให้ได้รับทราบเสียหายเท่านั้น แต่ถ้าน้ำท่วมอย่างปีที่ผ่านมา แม้มีเขื่อนป้องกันแต่กระบวนการผลิตก็ชะงัก และจะมีมูลค่าความเสียหายหลายเท่ามากกว่าทรัพย์สินด้วยซ้ำ และไม่ตอบโจทก์ให้กับส่วนที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย
“แปลกใจรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องเงินที่จะไปกู้ แต่ตัวสาระการป้องกันน้ำ ยังขาดรายละเอียดอยู่มากที่จะก่อให้เกิดความมั่นใจ กรณีปัญหานิคมอุตฯ จะไปไกลกว่าเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอีกมาก ถ้าให้เขาไปสร้างเขื่อนก็จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น และไม่มีรายได้มาส่งให้ เคยมีการถกเถียงว่าจะสามารถมีเงินช่วยเหลือให้เปล่าได้หรือไม่ ควรเร่งหาข้อยุติเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อนักลงทุน ส่วนแนวคิดให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้นสามารถผ่านธนาคารต่างๆได้เช่นธนาคารออมสิน แต่รัฐบาลจะให้ธปท.มาทำเรื่องนี้โดยมีข้อยกเว้น ตามหลักสากลรัฐบาลควรตั้งเป็นงบประมาณแบกรับขาดทุนดอกเบี้ยเพราะถือเป็นกุศล แต่รัฐบาลกลับเลี่ยงโดยโยนภาระไปให้ธปท.แทน จึงมีหลายจุดบกพร่องที่สมควรให้มีการช่วยกันคิดเห็นในสภาและรัฐบาลออกเรื่องนี้มาช้า ควรออกมาเร็วกว่านี้ ถ้าให้ธนาคารออมสิน หรือธนาคารของรัฐทำ สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งที่ติดขัดได้ ดีกว่าไปโยนที่ ธปท.ที่จะประทบต่อความโปร่งใสด้านวินัยการเงินการคลังในอนาคต”
ส่วน พ.ร.ก.การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่ส่งตีความเพราะเห็นความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาเสนอให้ควรเร่งทำ เพราะได้พูดคุยกับภาคเอกชนต่างๆ โดยเฉพาะสมาคมผู้ประกอบการด้านการประกันภัย ต่างเห็นว่าต้องเร่งทำเรื่องการประกันภัย แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่การจ่ายสินไหมจากภัยน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นการเอาประกันภัยในอนาคตคือปีนี้ เพราะมีสัญญาณว่าบริษัทที่ทำหน้าที่รับประกันจากต่างประเทศยังไม่มีความมั่นใจ ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา นอกจากนี้การประกันภัยพิบัติตามกองทุนฉบับนี้รูปแบบการทำงานยังไม่มีความชัดเจน เขียนไว้กว้างมาก และให้สามารถเอาเงินไปช่วยเหลือบริษัทได้ด้วย ถ้ามีการจ่ายสินไหมที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ เชื่อว่าทุกคนอยากจะรู้ว่าหลักที่แท้จริงเป็นรูปแบบไหน เพราะมีกำหนดแค่ทุกอย่างเป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด เท่ากับกฎหมายให้อำนาจมากว่าจะเลือกใช้วิธีการใดแก้ปัญหา และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือปัญหาวงเงินการจัดสรรที่อาจจะเกิดขึ้น กฏหมายให้ไปกู้5 หมื่นล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่ เพราะตัวเลขจากการประเมินน้ำท่วมที่ผ่านมาจะต้องจ่ายสินไหมที่เกิดขึ้นไม่น่าจะต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท มั่นใจได้อย่างไรว่า เงิน 5 หมื่นล้านนั้นจะพอ อีกทั้งมีการประมาณการว่าการจะทำประกัยภัยทุกภาคส่วนรวมกันแล้ว1ล้านล้านบาท คือ 20 เท่าของ 5 หมื่นล้านบาท สมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะประมาณการความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะมากกว่านั้น ถือว่ารัฐบาลรับประกันใช่หรือไม่ว่า ถ้าจ่ายมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจะช่วยออกให้ และยังเปิดช่องให้คณะกรรมการพิจารณาให้คุณให้โทษกับผู้ประกอบการเป็นรายๆก็ได้เพราะทุกอย่างอยู่ที่คณะกรรมการ ดังนั้น จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติ
“เราไม่ขัดข้องกับร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ แต่ขัดใจอยู่บ้างที่ทำไมต้องใช้ธปท.แต่ทำใจได้ ไม่ขัดข้องจะมีกองทุนประกันภัย แต่การตรา พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ ที่ไปทำโดยไม่เปิดโอกาสให้คนแสดงความเห็นมีจุดอ่อนจุดบกพร่องที่อยากเห็นท่านไปแก้ไข แต่อยากได้รับคำยืนยันอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง คือ ให้พี่น้องชาวใต้ได้มีโอกาสจากกฎหมายฉบับนี้ ถ้าท่านไม่แก้ไขพวกผมจะเสนอแก้ไขทันทีถ้าผ่านสภา” นายอภิสิทธิ์ ย้ำ
ด้าน นายกิตติรัตน์ ได้ชี้แจงโดยยอมรับว่ามีความหนักใจระหว่างการทำ พ.ร.ก.2 ฉบับนี้ แต่จำเป็นต้องพ่วง พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับเข้ามาด้วย เพราะเป็นเชื่อมโยงถึงกัน รัฐบาลจำเป้นต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา เพราะในระหว่างปัญหาอุทกภัยไทยถูกลดทอนความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง และรัฐบาลได้เดินสายชี้แจงข้อเท็จจริงกับนานาชาติ ปรากฏว่า ในวันนี้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นในระดับที่ดีพอสมควรจะเห็นได้จากราคาหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ความไม่ผันผวนทางเงินที่เกี่ยวข้อง และการที่นักธุรกิจจำนวนมากยังคงลงทุนในประเทศไทยต่อไปทั้งที่สามารถย้ายฐานการผลิตได้ และเกิดความสบายใจในการทำงานของรัฐบาลเพื่อผลักดันประเทศไปข้างหน้า
“ทุกอย่างอยู่ในสายตาของประชาคมโลก วันนี้ถ้ารู้สึกว่าเราเองมีหนี้สาธารณะน้อยแล้วจะกู้อีกเท่าไหรก็ได้โดยที่ค่อยๆกู้หรือเข้าสู่กระบวนการ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีก็เป็นวิธีเชื่ออย่างหนึ่ง ในปีงบประมาณ 2555 เราได้ตั้งยอดเงินชำระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะของเราเอาไว้ที่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และเรามีพันธบัตรที่ถึงครบกำหนดชำระในปีนี้ 2.5 แสนล้านบาท หากเวลาที่ประเทศถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือและขาดความเชื่อมั่นยอดดอกเบี้ยที่ต้องชำระและยอดเงินต้นที่ถึงกำหนดชำระคืนจะถูกรวมกันว่าทำไมไม่ชำระคืนตามกำหนด ตรงกันข้าม หากเกิดความเชื่อมั่นสูงแล้วต่อให้ถึงกำหนดชำระเจ้าหนี้ก็ระบุว่ายังไม่ต้องชำระก็ได้และดำเนินการกู้เงินต่อไปได้ ดังนั้น ทั้งหมดจึงผูกโยงอยู่กับความเชื่อมั่นแทบทั้งสิ้น” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนประเด็นที่มีการเป็นห่วงวงเงินกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ 5 หมื่นล้านบาทจะสามารถดูแลระดับความเสี่ยงภัยพิบัติได้หรือไม่ ขอยืนยันว่า ได้รับการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัตินานาชาติแล้วว่าไทยมีภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะมีประเทศเพื่อนบ้านป้องกันจากพายุโดยตรง แต่ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากที่เป็นปัญหาเมื่อปี2554ต้องได้รับการบริหารจัดการที่ดี อย่างไรก็ตาม ลำพังการกองทุน 5 หมื่นล้านบาทนำมารับประกันภัยทั้งทางตรงและรับประกันภัยต่ออาจไม่พอหากไม่มีการดำเนินการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยั่งยืนเพื่อให้ระดับความเสี่ยงลดลง
ดังนั้น เงิน 5 หมื่นล้านบาท พอแน่นอนหากดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินการด้านอื่นๆ นอกจากนี้ ยืนยันว่าการระดมทุน 3.5 แสนล้านบาท มีความจำเป็นต้องใช้เงินทันที 1.5 แสนล้านบาทในปีแรก การเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะสมบูรณ์แบบก็ต่อเมื่อมีความพร้อมในเรื่องงบประมาณ ดังนั้น พ.ร.ก.ที่เสนอเข้ามายังสภาฯมีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
“การที่ ครม.พิจารณาตรา พ.ร.ก.เพราะตระหนักในการระดมเงินเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการของประเทศ เราได้ผ่านขั้นตอนของการปฎิบัติดีมา 2 ขั้นแล้ว คือ 1.ขั้นคิดดี 2.ขั้นพูดดี ชี้แจงแถลงว่าเราจะทำอะไร ตอนนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนปฎิบัติดี คือ ทันทีที่ พ.ร.ก.ได้รับการอนุมัติยืนยันว่าจะมาซึ่งความมั่นใจและเต็มไปด้วยความโปร่งใสอย่างแน่นอน” นายกิตติรัตน์ กล่าวอย่างมั่นใจ