“คำนูณ”พร้อม 68 ส.ว. เข้าชื่อยื่นประธานวุฒิฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้แบงก์ชาติบริหาร ขัด รธน.มาตรา 184 วรรค 2 หรือไม่ ชี้ไม่มีลักษณะจำเป็นฉุกเฉิน ซ้ำ ครม.รับข้อมูลภาระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีคาดเคลื่อน
วันนี้ (31 มกราคม 2555) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ณ อาคารรัฐสภา 2 นายคำนูณ สิทธิสมาน พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา รวมจำนวน 68 คน ได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภาว่า การตราพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ไม่เป็นไปตามมาตรา 184 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อขอให้ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยมีเหตุผลสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.หากคณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอย่างเร่งด่วน ก็ไม่ควรปล่อยให้มีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงคมนาคม เป็นจำนวนเงินประมาณ 78,000,000,000 บาท ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 แล้วจึงมาดำเนินการการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ โดยกล่าวอ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้สาธารณะเฉพาะรายดังกล่าว เพื่อให้มีงบประมาณรายจ่ายในการบูรณะ ฟื้นฟู และพัฒนาประเทศจากการเกิดปัญหาอุทกภัยแทนเช่นนี้
2. ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีมีวงเงินงบประมาณในการดำเนินกิจการหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยได้อยู่แล้ว หรือดำเนินการไปพลางก่อนได้อยู่แล้ว ดังนี้
(1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จำนวน 2,380,000,000,000 บาท เป็นงบกลางจำนวน 120,000,000,000 บาท และในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 66,000,000,000 บาท และงบประมาณตามแผนงานจัดการทรัพยากรน้ำ และฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติ แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนงานที่เกี่ยวข้องในงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ อีกเป็นเงินจำนวนมาก
(2) งบประมาณในส่วนที่คณะรัฐมนตรีจะได้จากการตราพระราชกำหนดฉบับอื่นๆ อีกจำนวน 3 ฉบับ อันประกอบด้วย
(2.1) พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนสร้างอนาคตประเทศ เป็นจำนวนเงิน 350,000,000,000 บาท
(2.2) พระราชกำหนดกองทุนประกันภัย พ.ศ. 2555 ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนรับประกันต่อ เป็นจำนวนเงิน 50,000,000,000 บาท และ
(2.3) พระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม พ.ศ. 2555 เป็นจำนวนเงิน 300,000,000,000 บาท
3. การตราพระราชกำหนดฉบับนี้นั้น มิได้มีผลทำให้รัฐบาลนำเงินงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการคลังในการชำระหนี้ดังกล่าว มาใช้ในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย รวมทั้งเพื่อการลงทุนหรือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้ในทันทีและไม่อาจที่จะเพิ่มเพดานวงเงินกู้หนี้สาธารณะเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในกิจการดังกล่าวได้ในทันทีด้วย
4. ปรากฏข้อเท็จจริงจากการแถลงต่อสาธารณะของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันว่า รัฐบาลยังสามารถกู้ยืมเงินเพิ่มเติมได้อีกเป็นจำนวนมาก เพราะภาระหนี้สาธารณะต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.33 จึงยังคงกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้จ่ายได้อีกร้อยละ 5.67 จึงจะครบสัดส่วนเพดานเงินกู้ร้อยละ 15 ข้อเท็จจริงดังกล่าว มิได้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีใช้ในการอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ ตามที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แจ้ง ปัจจุบันสัดส่วนภาระหนี้ดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 และรัฐบาลกู้ยืมเงินได้อีกเพียงร้อยละ 3 อย่างสิ้นเชิงอย่างมีนัยสำคัญ
5. ส่วนเหตุผลตามหมายเหตุท้ายพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ ที่ได้กำหนดว่า “โดยกำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือการจัดการและฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน เมื่อปี พ.ศ. 2540 และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินการของกองทุนดังกล่าวในการชำระคืนต้นเงินกู้ ตลอดจนปรับปรุงการจัดหาแหล่งเงินในการนำไปใช้ชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ได้อย่างต่อเนื่อง” จะเป็นการสร้างเสถียรภาพต่อระบบการเงินการคลังของประเทศโดยรวมด้วยนั้น ไม่มีลักษณะเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ถึงขนาดที่มีความจำเป็นต้องตราเป็นพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ เพราะ
(1) หนี้ดังกล่าวมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ถึงปัจจุบันนับเป็นระยะเวลาถึง 14 ปีผ่านมาแล้ว
(2) การตราพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ มิได้มีผลเป็นการบริหารจัดการการชำระหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ทั้งระบบ กล่าวคือ การดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดฉบับนี้ น่าจะใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวได้เฉพาะในส่วนของดอกเบี้ย ปีละประมาณ 60,000,000,000 บาทเท่านั้น แต่ในส่วนของต้นเงินกู้ตามพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 1,140,000,000,000 บาทนั้น พระราชกำหนดดังกล่าว มิได้มีการกำหนดมาตรการในการจัดหารายได้ เพื่อการชำระหนี้ต้นเงินให้มีความชัดเจนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับมีผลเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพของธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลางของประเทศ รวมทั้งยังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศในส่วนของเงินรายได้ของรัฐและเงินในบัญชีสำรองพิเศษ
(3) นอกจากนี้ แม้ว่าหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่กระทรวงการคลังกู้ดังกล่าวชุดแรกจำนวนเงินประมาณ 350,000,000,000 บาท จะครบกำหนดชำระหนี้พันธบัตรในเดือนสิงหาคม 2555 คณะรัฐมนตรียังมีระยะเวลาเพียงพอที่จะเสนอพระราชกำหนดฉบับนี้ในรูปแบบของร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภา
6. ก่อนการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ ปรากฏข้อโต้แย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง จากบุคคลต่างๆ แม้แต่รัฐมนตรีร่วมคณะรัฐมนตรีด้วยกันเอง คณะรัฐมนตรีจึงควรต้องเสนอพระราชกำหนดฉบับนี้เป็นร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภา เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการการชำระหนี้ดังกล่าว และเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนจะเป็นที่ยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย