xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” เผยยุโรปห่วงปรองดอง-ประกันภัยน้ำท่วมไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หน.ปชป.เผย ยุโรปกังวลปัญหาการปรองดองในไทย พร้อมห่วงนโยบายซื้อประกันภัยน้ำท่วมไม่สมเหตุสมผล แนะรัฐเร่งแก้ไขด่วนก่อนกระทบเศรษฐกิจประเทศ ระบุ หาก พ.ร.ก.2 ฉบับ หวั่นกระทบหลักการเงินการคลังในอนาคต แต่ถ้าขัด รธน.ต้องไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น

วันนี้ (30 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการพบกับนายเดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความปรองดองภายในประเทศไทย และการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ซึ่งทางยุโรปยังกังวลและเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องการประกันภัยที่ไม่สามารถซื้อประกันภัยน้ำท่วมได้ในราคาที่สมเหตุสมผล เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขเพราะอาจจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากองทุนประกันภัยที่รัฐบาลตั้งขึ้นยังไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของรูปแบบและเงื่อนไขที่บางธุรกิจไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ได้ โดยรัฐบาลต้องทบทวนและแก้ไข เพราะเรื่องของกองทุนประกันภัยเป็นตัวชี้วัดความมั่นใจของต่างชาติ หากรัฐบาลมั่นใจว่า กองทุนที่ตั้งขึ้นมาตอบโจทย์ให้กับนักลงทุนแล้วก็ต้องชี้แจง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังไม่มั่นใจ อาจจะเป็นเพราะทั้งเรื่องรูปแบบและวงเงิน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนเคยพูดหลายครั้งว่ารัฐบาลไม่ควรมุ่งเน้นแต่เรื่องการกู้เงิน เพราะสิ่งที่กังวล คือ แผนที่จะมารองรับจัดการน้ำที่ชัดเจน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม พ.ร.ก.2 ฉบับที่ยื่นตีความไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขที่ รธน.กำหนด เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากขัดรัฐธรรมนูญใครต้องรับผิดชอบ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ตราโดยครม.แต่จะดำเนินการอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยากให้มีการชี้ไว้ว่าเรื่องการโอนหนี้กองทุนมีปัญหา และยังกระทบกระเทือนกับโครงสร้างการบริหาร ธปท.จึงอยากให้มีการแก้ไข ส่วนการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็ชัดเจนว่า จะมีการกู้เงินที่ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วมไปด้วย หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ารัฐบาลทำได้ ตนก็กังวลว่า จะกระทบกับหลักการเรื่องการเงินการคลังที่จะเป็นปัญหาในอนาคต โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ก็ออกมาระบุว่า จะใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาท เท่ากับว่า เป็นการยืนยันตัวเลขที่พรรคได้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเงินจำนวนดังกล่าวสามารถบริหารจัดการในระบบงบประมาณได้ เพราะเป็นเพดานปกติไม่ได้มีข้อจำกัดตามที่รัฐบาลอ้างเป็นเหตุผลในการออก พ.ร.ก.

“ผมคิดว่าคำพูดของนายกิตติรัตน์ ชัดเจนมากว่าการกู้เงินครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่ก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา ทางพรรคพูดมาโดยตลอดว่า ศักยภาพการใช้เงินและการกู้เงินทำได้ตามกรอบ พ.ร.บ.งบประมาณ ขณะนี้แม้จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายก็มีผลบังคับใช้ แต่ถ้าชี้ว่าการตราครั้งนี้โดยมิชอบตามรรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ว่ากฎหมายจะไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น”

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวกรณีที่ ธปท.กระทรวงการคลัง และสภาบันการเงินเตรียมหารือเพื่อกำหนดแนวทางเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินเพิ่ม เพื่อนำมาชำระหนี้กองทุนฯว่า สามารถที่จะกำหนดได้แต่ถ้าศาลรับธรรมนูญ ชี้ว่า พ.ร.ก.นี้ขัด ก็นำมาใช้ไม่ได้ ส่วนตัวเลขที่มีการพูดถึงว่าจะขยายการเก็บจาก 0.4% เป็น 0.6% นั้น การเพิ่มภาระให้สถาบันการเงิน สุดท้ายก็จะส่งต่อมายังประชาชน เพราะไม่เชื่อว่าสถาบันการเงินจะยอมแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเอาไว้ที่ตัวเอง ดังนั้น ผู้ฝากและผู้กู้จะได้รับผลกระทบ ช่องว่างของดอกเบี้ยจะแตกต่างมากขึ้น และจะกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านการเงินของรัฐบาลด้วย เช่น การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% แต่ธนาคารต่างๆ กลับไม่ยอมลดตาม เนื่องจากมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังกระทบขีดความสามารถในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินของแบงก์ชาติด้วย นอกจากนี้ พ.ร.ก.ที่ให้ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3 แสนล้าน ก็จะกระทบต่อกำไรของธปท.ด้วย ดังนั้น การที่อ้างว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจนั้นไม่ตรงความจริง ตรงข้ามจะมีผลทางลบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำ

“ผมคิดว่าสังคมต้องเข้าใจว่าอำนาจการออกกฎหมายเป็นของสภา รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ฝ่ายบริหารออกเฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วน เลี่ยงไม่ได้เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผมยืนยันว่า พ.ร.ก.2 ฉบับที่พรรคส่งตีความไม่ได้ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรฐกิจ รัฐบาลสามารถเดินหน้าฟื้นฟูประเทศ โดยใช้งบตามปกติ เรื่องนี้เป็นเพียงข้ออ้าง อย่าปล่อยให้ฝ่ายบริหารเอาเรื่องน้ำท่วมมาอ้างในการโอนหนี้ไปอยู่ ธปท.หรืออ้างเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายนอกงบประมาณ”
กำลังโหลดความคิดเห็น