xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญหรือคนใช้รัฐธรรมนูญอัปยศ

เผยแพร่:   โดย: เขียน ธีรวิทย์

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดในโลกนี้ ที่เจริญได้ด้วยการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยๆ

อังกฤษไม่เคยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเลย ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

สหรัฐอเมริกามี “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นลายลักษณ์อักษร และใช้มาตั้งแต่ปี 1784 (พ.ศ. 2327) จนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม 27 ครั้ง

รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อปี 1947 (พ.ศ. 2490) หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงไม่นาน และใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้โดยไม่มีการแก้ไข

อินเดียและมาเลเซียใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี 1950 (2493) และ 1957 (2500)  ตามลำดับ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง (อินเดียประมาณ 94 ครั้ง มาเลเซีย 42 ครั้ง)

ประเทศดังกล่าว ไม่เคยมีการปฏิวัติ-รัฐประหาร และผู้คนของประเทศเหล่านั้นไม่นิยมโยนความผิดที่พวกเขาทำกันเองไปให้รัฐธรรมนูญ

ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยเรานี้ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 1932 (2475) เป็นต้นมา ได้ใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ฉบับ (ไม่นับแก้ไขเพิ่มเติม) การเมืองก็ยังคงวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์อยู่ตลอดมา

ปัจจุบันนักการเมืองที่ครองอำนาจ รวมทั้งนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนหนึ่ง กำลังผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 1997 (2540) มาปรับปรุงและประกาศใช้แทน

ผู้ที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญไทยมาบ้าง หรือผู้ที่เคยเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว ย่อมรู้ดีว่าการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับต้องใช้ “พลังแห่งชาติ” (คน-เงิน-เวลาฯ) เป็นอันมาก แต่สาระสำคัญมีน้อยมาก บางประเด็นถกเถียงกันซ้ำซาก ตัดสินกันโดยเสียงข้างมาก กลับไปกลับมา ผลที่ได้ไม่มีฉบับใดที่ถูกใจคนร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนชอบบางประเด็นในรัฐธรรมนูญแต่ไม่ชอบในประเด็นอื่นๆ แม้แต่ในคนคนเดียวกันก็ยังเปลี่ยนความเห็นได้ เช่น บางคนในหมู่แกนนำ “คนเสื้อแดง” ครั้งหนึ่งเคยโจมตีรัฐธรรมนูญปี 1997 (2540) ว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต่อมากลับใจเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เอารัฐธรรมนูญ 1997 (2540) กลับมาใช้ สำหรับคนที่เป็นโรครัฐธรรมนูญขึ้นสมองนั้น จะมีรัฐธรรมนูญสัก 100 ฉบับ พวกเขาก็ยังไม่พอใจอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อขบวนการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รุดหน้ามาถึงขั้นนี้แล้ว เราคงจะยับยั้งกระแส “ประชาธิปไตย” แบบพวกมากลากไปได้ยาก แต่เราก็ควรใช้โอกาสนี้เตือนสติคนไทยที่บริสุทธิ์ใจ ให้ระแวดระวังว่าอย่าปล่อยให้คนที่มีเถยจิตเอาเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาเป็นเกราะกำบังการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก และอย่าหลงเชื่อว่าจะมีเทวดาองค์ใดสามารถประทานรัฐธรรมนูญที่แก้โรคร้ายของการเมืองไทยได้

โรคร้ายของสังคมไทยปัจจุบันอยู่ที่นักการเมืองและพรรคพวกที่ขาดหิริโอตตัปปะ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ขาดความซื่อสัตย์ในการบังคับใช้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ

วิธีเยียวยาโรคร้ายของสังคมไทยที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันก็คือ อย่าเล็งเป้าไปที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับปัจจุบันหรืออนาคตก็ตาม) แต่เล็งเป้าไปที่ผู้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยย่อดังนี้

1. ผลักดันให้รัฐสภาออก “กฎหมายลูก” ตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ครบถ้วน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสำรวจดูให้ดีว่า ยังมีประเด็นใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ซึ่งจะต้องหรือควรจะตรา “กฎหมายลูก” ออกมารองรับ ให้รีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาอันควร ประเด็นใดที่มีกฎหมายแล้ว แต่มิได้กำหนดโทษอย่างแจ้งชัด ก็ให้แก้ไขเสีย โดยกำหนดโทษทางแพ่งและทางอาญาอย่างชัดเจน (มากกว่าหรือหนักกว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157) อย่าเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ละเว้น ไม่ดำเนินคดีต่อไปอีก

ตัวโกงคนใดหรือกลุ่มใดที่สมองใสคิดโครงการนอกระบบ เช่น Elite Card ออกมา จนทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องเสียชื่อเสียงและขาดทุนประมาณ 5,600 ล้านบาท จะต้องหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษทางอาญาและทางแพ่ง (ชดใช้จากกระเป๋าของพวกเขาเอง) โครงการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ต้องระงับหรือชะลอไปตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง (กันยายน 2009 (2552)) ประมาณ 76 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาท จะต้องหาตัวผู้รับผิดชอบมาลงโทษ ฯลฯ เรื่องทำนองนี้มีอีกมาก รัฐธรรมนูญช่วยไม่ได้ แต่ “กฎหมายลูก” ช่วยได้

2. อำนาจในการทำหนังสือสัญญาต่างๆ กับต่างประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (ตรงกับ รธน. 1997 (2540) ม. 224) ที่กล่าวถึงกันมากว่าจะต้องแก้ไขนั้น ถ้าคิดกันว่า คณะรัฐมนตรีมีระดับมันสมองเท่ากับเด็กอมมือ ก็จงตรา “กฎหมายลูก” ออกมาแจกแจงรายละเอียดว่า สัญญาประเภทใดรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารทำได้ และประเภทใดที่จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภา ไม่มีรัฐธรรมนูญเทวดาฉบับใดที่จะลงรายละเอียดมากกว่าที่เป็นอยู่ ปัญหาจึงมิใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่ตามหลักสากลรัฐบาลที่ทำงานโดยสุจริต ถ้ามีประเด็นที่สงสัยเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน ก็ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย

3. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 ซึ่งห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหายากยิ่งในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักการเมืองที่ขาดจริยธรรมในสังคมไทย แต่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ (หลังจากใช้รัฐธรรมนูญแล้ว 4 ปี 5 เดือน) ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับ

วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ถูกนักการเมืองใช้โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองอย่างแพร่หลายเพียงใดนั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญจะส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยเพียงใดก็ไม่มีความหมาย ถ้าหากไม่เร่งรัดให้ออก “กฎหมายลูก” กำหนดโทษเอาไว้ หรือมี “กฎหมายลูก” แต่ไม่มีคนบังคับใช้รัฐธรรมนูญก็เป็นหมัน เช่นนี้แล้ว รัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติสวยหรูเพียงใดก็ไม่มีประโยชน์

4. สิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ ออกกฎหมายให้อำนาจภาคเอกชนฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง) ในฐานะผู้เสียหายที่ทำหรือไม่ทำตามอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ (ตาม ป.อาญา ม. 157) และกำหนดโทษให้ชัดเจนทั้งทางแพ่งและอาญา อ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 74 และมาตรา 28 วรรค 2, 3 โดยไม่ต้องมีบทบัญญัติเพิ่มเติมก็คงจะได้

กฎหมายใหม่ที่ว่านี้ ควรให้อำนาจภาคเอกชนติดตามดำเนินคดีโดยตรง ต่อบุคคลและหน่วยงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (โดยไม่ต้องผ่านกลไกของรัฐซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ) ต่อศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ

กฎหมายดังกล่าวควรมีสาระส่งเสริมภาคเอกชนให้จัดตั้งกลไกขึ้น เพื่อติดตามดำเนินคดีต่อหน่วยงานและ/หรือบุคคลที่ต้องหาว่าทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เช่น คดี (หรือไม่เป็นคดี) Elite Card และคดีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (ดังกล่าวแล้วในข้อ 1) คดี “คาร์บ๊องส์” (ไปถึงไหนแล้ว?) คดีสังหารหมู่กรือเซะ (มีผู้บงการยิงถล่มมัสยิดมีคนตาย 32 คน) คดีตากใบ (ยิงผู้ชุมนุมตายและอัดทับกันจนตายในรถ 85 คน) คดีฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด (ตาย 2,838 คน)

คดีกบฏ - ก่อการร้ายโดยกองกำลังติดอาวุธคนเสื้อแดงถูกแช่แข็งไว้ที่ไหน? การแจกเงินให้ผู้ตายและบาดเจ็บที่สังกัดกองกำลังติดอาวุธของคนเสื้อแดงนั้น ใช้หลักกฎป่าของคนป่าเถื่อนชาติใด? คดีนักการเมืองสำคัญๆ หนีคุก ผู้มีหน้าที่ไปจับตัวมาไปอยู่ไหนหมด? คดีที่ทักษิณตกเป็นผู้ต้องหาอีกประมาณ 10 คดี ใครเอาไปดองไว้? ในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2011 (2554) นั้น มีพรรคการเมืองและนักการเมืองพรรคใหญ่ทำผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งและมีหลักฐานชัดเจน ทำไม กกต.ไม่ดำเนินคดี? ดังนี้ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป เราอย่าร่วมมือกับผู้ที่เป็นโรครัฐธรรมนูญขึ้นสมอง แต่จงมาช่วยกันเอาผิดกับผู้ใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยทุจริต เราต้องช่วยกันรักษาโรคการเมืองไทยให้ตรงตามอาการที่ปรากฏ เมื่อกลไกของรัฐบกพร่อง เราต้องช่วยกันผลักดันสร้างกลไกภาคเอกชนขึ้นมาทำงานแทน เพื่อติดตามดำเนินคดีโดยตรงต่อบุคคล และกลไกของรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ประเด็นนี้เราต้องการกฎหมายเพิ่มเติม และถ้าทำสำเร็จเมื่อไรจะมีผลป้องปรามการคอร์รัปชัน การกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของแก๊งการเมือง และการปฏิวัติ-รัฐประหาร

หมายเหตุ : เป็นความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการกับศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiworld.org
กำลังโหลดความคิดเห็น