xs
xsm
sm
md
lg

ชงประกาศ ภัยพิบัติ 8จว.เหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สธ.เตรียมเสนอ ครม.ประกาศให้ 8 จ.ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหมอกควัน อำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหา ด้าน สธ.เตรียมพร้อมให้ รพ.รับผู้ป่วยจากควัน นักวิจัย มช.ชี้ภาคเหนืออ่วมพิษหมอกควันวิกฤตเท่าปี 50,53 เหตุเศษพืชค้างจากปี 54 ไม่ได้เผา เพราะความชื้นสูง เสนอทางแก้ถาวร ไม่ใช่แค่รณรงค์หยุดเผา ต้องหาพืชทางเลือกให้ชาวบ้านปลูก ดึงชุมชนมีส่วนร่วม เผยระดับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนเกินค่ามาตรฐานแทบทุกจังหวัด แถมทัศนวิสัยต่ำเพียง 1-4 กม.เท่านั้น

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการจัดการปัญหาหมอกควัน ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 6 มี.ค. จะเสนอให้ 8 จังหวัดที่เกิดปัญหาหมอกควัน ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)และท้องถิ่น เข้าแก้ปัญหาเรื่องไฟไหม้ที่เกิดขึ้นให้เบาบางลง รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะต้องดูแลด้านสุขภาพของประชาชน ก็พร้อมเปิดโรงพยาบาลในพื้นที่ เป็นจุดอพยพของผู้มีปัญหาจากหมอกควัน เช่น ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ ให้มาอยู่ในพื้นที่ปิด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน หากมีผู้ป่วยปริมาณมากก็พร้อมให้โรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงเตรียมพื้นที่เพิ่มแล้ว ซึ่งปัจจุบันในแต่ละวันมีผู้ป่วยเพิ่ม 10,000 กว่าราย โดยค่ามาตรฐานฝุ่นละอองต้องไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้พุ่งเกิน 200-300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแล้ว ซึ่งถือว่าอันตรายต่อสุขภาพ

** ป่วยหอบหืด-หัวใจหลอดเลือดเพิ่มขึ้น

นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงสถานการณ์หมอกควันใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ว่า จากการรายงานโรคของโรงพยาบาล 74 แห่งใน 8 จังหวัด โดยสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 19-25 ก.พ. พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ จำนวน 21,152 ราย เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติที่ไม่มีหมอกควันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.4 ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่กลับมากในโรคหอบหืด มีผู้ป่วยถึง 5,608 ราย โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 โรคหัวใจและหลอดเลือดพบผู้ป่วย 21,805 ราย เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติร้อยละ 23 และโรคตาอักเสบ ระคายเคืองตา พบ 1,521 ราย เพิ่มขึ้นจากปกติร้อยละ 17 โดยหากแบ่งเป็นรายจังหวัด ในแต่ละกลุ่มโรคจะพบว่า โรคทางเดินหายใจโดยภาพรวมพบมากที่จ.ลำพูน ถึง 756 รายต่อแสนประชากร รองลงมาคือ แม่ฮ่องสอนจำนวน 669 รายต่อแสนประชากร

**คนลำพูนน่าเป็นห่วงสุด

นพ.สมเกียรติกล่าวว่า ส่วน โรคหอบหืดพบมากที่จ.ลำพูน ถึง166 รายต่อแสนประชากร รองลงมาคือ พะเยาจำนวน 158 รายต่อแสนประชากร และแม่ฮ่องสอน จำนวน 157 รายต่อแสนประชากร ขณะที่โรคหัวใจและหลอดเลือดพบมากที่จ.ลำพูนถึง 840 รายต่อแสนประชากร รองลงมาคือ จ.เชียงราย จำนวน 613 รายต่อแสนประชากร และกลุ่มโรคตาอักเสบ พบมากที่สุดจ.พะเยา จำนวน 50 รายต่อแสนประชากร รองลงมาคือ แม่ฮ่องสอน 46 รายต่อแสนประชากร และจ.ลำปางจำนวน 42 รายต่อแสนประชากร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าจ.ลำพูน น่ากังวลสุด แต่ข้อมูลอาจไม่อัพเดทมากจริงๆ เนื่องจากไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลใน 8 จังหวัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลเพียงกว่า 70 กว่าแห่ง และบางโรคก็เป็นในผู้ป่วยรายเดิม เพียงแต่หมอกควันอาจเป็นตัวกระตุ้นเท่านั้น

นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า สารพิษดังกล่าว เป็นสารพิษที่เกิดจากการ เผาไหม้ของวัชพืชและไม้ชนิดต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ และเศษฝุ่นต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เสี่ยงเกิดภาวะ หอบ หืด หลอดลมอักเสบ หากได้รับการสูดดมควันพิษระยะยาวจะมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือ โรคปอดรวมทั้งยังอาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย แต่จะไม่ใช่การซึมเข้าทางผิวหนังจนก่อโรค เพราะ แก๊สพิษและฝุ่นต่างๆ หากโดนที่ผิวหนัง และดวงตา จะเกิดอาการแสบ คัน และเป็นพดผื่น ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และ เด็ก ควรหลีกเลี่ยงเข้าไปในสถานที่มีแก๊สพิษและฝุ่นอยู่จำนวนมาก ไม่อยู่กลางแจ้ง ใช้หน้ากากอนามัย ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิดยามเกิดมลพิษฝุ่นควัน

**นักวิชาการชี้เข้าขั้นวิกฤต

ผศ.ดร.ศุทธินี ดนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ศึกษาวิจัยเรื่อง โครงการการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เผาจากข้อมูลเชิงพื้นที่หลายแหล่ง เพื่อการเฝ้าระวังและการป้องกันการเผาในที่โล่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเก็บข้อมูลจุดความร้อนจากพื้นที่พบการเผา และข้อมูลดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ตั้งแต่ปี 2550, 2553 และ 2554 พบว่า แนวโน้มปัญหาหมอกควันที่จะเกิดขึ้นในภาคเหนือโดยเฉพาะในเชียงใหม่ของปีนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เทียบเท่ากับปี 2550 และ 2553 ส่วนในปี 2554 มีปริมาณฝนตกมาก ทำให้ความชื้นสูงเกษตรกรไม่สามารถเผาใบไม้ในเขตป่า และเศษวัชพืช เช่น ตอข้าว ตอซังข้าวโพด เพื่อเตรียมทำการเกษตรได้ จึงมีปริมาณตกค้างจำนวนมากเมื่อรวมกับเศษซากพืชในปีนี้จึงกลายเป็นปริมาณเชื้อเพลิงสะสมจำนวนมาก ทำให้การเผาในเขตป่าไม้และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรในปีนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันรุนแรงยิ่งขึ้น

“พบว่าปี 2550 และ 2553 มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานถึง 3 เท่าตัว ซึ่งคุณภาพอากาศที่กรมควบคุมมลพิษประกาศไว้คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 10 ต้องมีค่าไม่เกินมาตรฐานคือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในปีนี้ตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานแล้ว โดยมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะยังคงมีการเผาอยู่ เมื่อเปรียบเทียบพบพื้นที่การเผาไหม้สะสมในปี 2550 จำนวน 2.65 ล้านไร่ หรือ 19.5% และ 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 2.96 ล้านไร่ หรือ 21.5%”ผศ.ดร.ศุทธินี กล่าว

**เสนอหาพืชทางเลือกให้เกษตรกรปลูก

ผศ.ดร.ศุทธินี กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษายังพบว่า อำเภอที่มีสัดส่วนพื้นที่เผามากที่สุด เฉลี่ย 40% ของพื้นที่ในอำเภอขึ้นไปมี 9 แห่ง ได้แก่ อ.แม่แจ่ม ออด เชียงดาว อมก๋อย จอมทอง ดอยเต่า ฝาง และแม่อาย ในจำนวนนี้ เป็นอำเภอที่ยังเผาซ้ำมากกว่า 30,000 ไร่ขึ้นไป ได้แก่ อ.แม่แจ่ม ฮอด เชียงดาว อมก๋อย จอมทอง ดอยเต่า และไชยปราการ ที่สำคัญ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สำหรับมาตรการการแก้ปัญหาการเผาในเขตป่า การเผาตอข้าวและตอซังข้าวโพดของเกษตรกร แบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการเฉพาะหน้า คือควรเน้นการจัดระเบียบช่วงเวลาการเผาของเกษตรกรทั้งการชิงเผาและการเผาไร่ โดยให้จัดช่วงเวลาสลับกันเผาในช่วงเวลาที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ไม่ให้เผาพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้ปริมาณฝุ่นละอองมากไปกว่านี้ 2.มาตรการระยะยาว คือต้องหาอาชีพทางเลือก หรือเกษตรทางเลือกที่ไม่ต้องเผาเพื่อสร้างพื้นที่ทำการเกษตร โดยจากการลงพื้นที่พบว่า หากเกษตรกรมีอาชีพทางเลือกที่ดีกว่า เช่น บางพื้นที่ปลูกลำไยได้ผลผลิตที่ดีกว่า พื้นที่เหล่านั้นก็พบการเผาเลย ลดลง

“การจัดการปัญหาในระยะยาว ต้องเน้นให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนลุ่มแม่น้ำ หรือกลุ่มป่าชุมชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ควรทำเฉพาะการรณรงค์ หรือสั่งการจากส่วนกลาง และต้องมีแผนการจัดการตลอดทั้งปีไม่ใช่เฉพาะช่วงเดือนที่มีการเผา คือ ม.ค.-ก.พ. อย่างไรก็ตาม กำลังดำเนินงานวิจัยต่อยอดเพื่อศึกษาการลดปริมาณเชื้อเพลิงด้วยการจัดการเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม โดยมีพื้นที่ศึกษาที่ ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ด้วย” ผศ.ดร.ศุทธินี กล่าว

**เผยผลตรวจ 8 จว.ภาคเหนือ

ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ วานนี้ (5 มี.ค.) พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 100.8-258.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม) โดยค่ามาตรฐานไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และพะเยา พบฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอีกครั้ง

โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย ยังคงเป็นพื้นที่ ที่เผชิญปัญหารุนแรงที่สุดต่อเนื่อง ซึ่งระดับฝุ่นละอองที่สถานี สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ วัดได้ 222.6 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สถานีสำนักงานสาธารณสุข อ.แม่สาย วัดได้ 258.8 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

ส่วนที่เชียงใหม่ สถานีศาลากลางเชียงใหม่ วัดค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมงได้ 129.8 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แต่ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย วัดได้ 103.0 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ไม่เกินมาตรฐาน

ขณะที่จังหวัดลำปาง ผลการตรวจวัดจาก 3 ใน 4 สถานี พบว่า ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานทั้งสิ้น คือ ที่ศาลหลักเมืองลำปาง 161.9 ไมโครกรัม/ลบ.ม. , รพ.สต.สบป้าด อ.แม่เมาะ วัดได้ 169.7 ไมโครกรัม/ลบ.ม. , สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคแม่เมาะ วัดได้ 131.3 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ส่วนสถานี รพ.สต.ท่าสี อ.แม่เมาะ กรมควบคุมมลพิษ แจ้งว่า เครื่องมือสื่อสารขัดข้อง

ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลการตรวจวัด ณ สถานี สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ พบว่า ค่าฝุ่นละออง ก็ยงคงเกินมาตรฐานอีก โดยวัดได้ 134.6 ไมโครกรัม/ลบ.ม. , สำนักงานเทศบาลเมืองน่าน วัดได้ 154.6 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

ที่จังหวัดพะเยา สถานีตรวจวัดอุทยานการเรียนรู้กว๊านพะเยา วัดได้ 165.8 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ขณะที่จังหวัดแพร่ วัดที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาจังหวัดฯ พบว่า มีฝุ่นละอองอยู่ระดับ120.3 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

นอกจากนี้ปัญหาหมอกควัน ยังทำให้ทัศนวิสัยในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และจังหวัดตากเมื่อเวลา 07.00 น.วานนี้ อยู่ในระดับต่ำเพียง 1-4 กม.เท่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เพิ่มทุกจังหวัด เฉพาะที่เชียงราย ล่าสุดยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 คนแล้ว

ขณะที่นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤต จังหวัดได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือในการงดการเผาทุกชนิด แต่เนื่องจากอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทำให้หลายอย่างก็ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นช่วงนี้จึงได้เร่งออกแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว และฉีดพ่นน้ำเป็นประจำ จนกว่าจะมีฝนตกลงมาหรือลมพัดแรงจนทำให้วิกฤตลดลง

**นครเชียงใหม่แจกหน้ากากอนามัยเด็ก นร.

วันเดียวกัน นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานในการแจกหน้ากากอนามัยให้นักเรียนโรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย ถ.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ หลังจากที่สถานการณ์ระดับค่าคุณภาพอากาศยังเกินเกณฑ์มาตรฐานต่อเนื่องหลายสัปดาห์แล้ว และมีแนวโน้มที่จะเกินค่ามาตรฐานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัยจำนวนกว่า 32,000 ชิ้นต่อสัปดาห์ และให้ตัวแทนของกลุ่มบุคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเข้ามารับหน้ากากดังกล่าวได้ ที่สำนักงานแขวงทั้ง 4 แขวงในทุกวันจันทร์

พร้อมกับฉีดพ่นละอองน้ำ การล้างถนน การเปิดน้ำพุและสปริงเกอร์รอบคูเมือง รวมทั้งการติดตั้งจุดพ่นไอน้ำบนสะพานต่างๆ รวม 8 จุด เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ นอกจากนี้ยังได้ให้บริการจัดเก็บกิ่งไม้เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันรดน้ำหน้าบ้านเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นอีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนางสาวอารีย์ อ้อยหอม นายกเทศมนตรีตำบล(ทต.)บ้านต๊ำ อ.เมือง จ.พะเยา กล่าวว่า เนื่องจากทิศตะวันออกของ ต.บ้านต๊ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำกว๊านพะเยา เทศบาล ฯ ได้มอบหมายให้พนักงานนำรถน้ำตระเวนออกทั่วทั้ง 13 ชุมชน เพื่อรดน้ำลดฝุ่นละอองและออกดับไฟป่าเมื่อมีประชาชนแจ้งเหตุไฟป่าเข้ามาได้อย่างทันการณ์ ซึ่งจะพบว่ามีแจ้งเหตุไฟป่าเข้ามาทุกวัน

ด้านนายวรพจน์ ผ่องสมัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.)พะเยา กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐได้อนุมัติงบประมาณให้กรมป่าไม้ทำแนวกันไฟแล้ว โดยจังหวัดพะเยาได้นำแผนเสนอขอไปจำนวน 100 กิโลเมตรกระจายทั้ง 9 อำเภอ ซึ่งค่าใช้จ่ายทำแนวกันไฟดังกล่าวรัฐกำหนดให้กิโลเมตรละ 3,400 บาท เป็นเงินงบประมาณจำนวน 340,000 บาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น