xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยชี้ภาคเหนืออ่วม พิษหมอกควันวิกฤต เสนอทางแก้หาพืชทางเลือกให้ชาวบ้านปลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย มช.ชี้ ภาคเหนืออ่วม พิษหมอกควัน วิกฤตเท่าปี 50,53 เหตุเศษพืชค้างจากปี 54 ไม่ได้เผาเพราะความชื้นสูง เสนอทางแก้ถาวร ไม่ใช่แค่รณรงค์หยุดเผา ต้องหาพืชทางเลือกให้ชาวบ้านปลูก ดึงชุมชนมีส่วนร่วม

ผศ.ดร.ศุทธินี ดนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ศึกษาวิจัยเรื่อง โครงการการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เผาจากข้อมูลเชิงพื้นที่หลายแหล่ง เพื่อการเฝ้าระวังและการป้องกันการเผาในที่โล่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเก็บข้อมูลจุดความร้อนจากพื้นที่พบการเผา และข้อมูลดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ตั้งแต่ปี 2550, 2553 และ 2554 พบว่า แนวโน้มปัญหาหมอกควันที่จะเกิดขึ้นในภาคเหนือโดยเฉพาะในเชียงใหม่ของปีนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เทียบเท่ากับปี 2550 และ 2553 ส่วนในปี 2554 มีปริมาณฝนตกมาก ทำให้ความชื้นสูงเกษตรกรไม่สามารถเผาใบไม้ในเขตป่า และเศษวัชพืช เช่น ตอข้าว ตอซังข้าวโพด เพื่อเตรียมทำการเกษตรได้ จึงมีปริมาณตกค้างจำนวนมากเมื่อรวมกับเศษซากพืชในปีนี้จึงกลายเป็นปริมาณเชื้อเพลิงสะสมจำนวนมาก ทำให้การเผาในเขตป่าไม้และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรในปีนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันรุนแรงยิ่งขึ้น

“พบว่าปี 2550 และ 2553 มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานถึง 3 เท่าตัว ซึ่งคุณภาพอากาศที่กรมควบคุมมลพิษประกาศไว้คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 10 ต้องมีค่าไม่เกินมาตรฐานคือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในปีนี้ตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานแล้ว โดยมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะยังคงมีการเผาอยู่ เมื่อเปรียบเทียบพบพื้นที่การเผาไหม้สะสมในปี 2550 จำนวน 2.65 ล้านไร่ หรือ 19.5% และ 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 2.96 ล้านไร่ หรือ 21.5%” ผศ.ดร.ศุทธินี กล่าว

ผศ.ดร.ศุทธินี กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษายังพบว่า อำเภอที่มีสัดส่วนพื้นที่เผามากที่สุด เฉลี่ย 40% ของพื้นที่ในอำเภอขึ้นไปมี 9 แห่ง ได้แก่ อ.แม่แจ่ม ออด เชียงดาว อมก๋อย จอมทอง ดอยเต่า ฝาง และแม่อาย ในจำนวนนี้ เป็นอำเภอที่ยังเผาซ้ำมากกว่า 30,000 ไร่ขึ้นไป ได้แก่ อ.แม่แจ่ม ฮอด เชียงดาว อมก๋อย จอมทอง ดอยเต่า และไชยปราการ ที่สำคัญ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สำหรับมาตรการการแก้ปัญหาการเผาในเขตป่า การเผาตอข้าวและตอซังข้าวโพดของเกษตรกร แบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการเฉพาะหน้า คือ ควรเน้นการจัดระเบียบช่วงเวลาการเผาของเกษตรกรทั้งการชิงเผาและการเผาไร่ โดยให้จัดช่วงเวลาสลับกันเผาในช่วงเวลาที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ไม่ให้เผาพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้ปริมาณฝุ่นละอองมากไปกว่านี้ 2.มาตรการระยะยาว คือ ต้องหาอาชีพทางเลือก หรือเกษตรทางเลือกที่ไม่ต้องเผาเพื่อสร้างพื้นที่ทำการเกษตร โดยจากการลงพื้นที่พบว่า หากเกษตรกรมีอาชีพทางเลือกที่ดีกว่า เช่น บางพื้นที่ปลูกลำไยได้ผลผลิตที่ดีกว่า พื้นที่เหล่านั้นก็พบการเผาเลย ลดลง

“การจัดการปัญหาในระยะยาว ต้องเน้นให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนลุ่มแม่น้ำ หรือกลุ่มป่าชุมชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ควรทำเฉพาะการรณรงค์ หรือสั่งการจากส่วนกลาง และต้องมีแผนการจัดการตลอดทั้งปีไม่ใช่เฉพาะช่วงเดือนที่มีการเผา คือ ม.ค.-ก.พ.อย่างไรก็ตาม กำลังดำเนินงานวิจัยต่อยอดเพื่อศึกษาการลดปริมาณเชื้อเพลิงด้วยการจัดการเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม โดยมีพื้นที่ศึกษาที่ ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ด้วย” ผศ.ดร.ศุทธินี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น