xs
xsm
sm
md
lg

รมช.สธ.รับปัญหาหมอกควันทำยอดผู้ป่วยพุ่ง-นักวิชาการชี้ต้องเร่งแจ้งเตือน ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - รมช.สธ.รับปัญหาหมอกควัน 8 จังหวัดภาคเหนือปีนี้รุนแรง พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวแล้ว แต่ยืนยันยังไม่ต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ-อพยพคน เหตุสถานการณ์ยังไม่ถึงระดับ หวั่นกระทบท่องเที่ยว ด้านนักวิชาการ มช.ชี้แผนรับมือของรัฐมีปัญหาต้องปรับปรุง พร้อมแนะรัฐเร่งแจ้งเตือนประชาชนด่วน ยันต่อให้ฝุ่นไม่เกินเกณฑ์ก็อันตรายต่อสุขภาพอยู่ดี

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยอมรับระหว่างการเดินทางพร้อมคณะร่วมประชุมติดตามสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและคุณภาพอากาศในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.55 ว่า สถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่าและคุณภาพอากาศในปีนี้ มีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆ มา และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว โดยพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และหลอดเลือด รวมทั้งโรคที่เกี่ยวเนื่องเข้ารับการรักษาตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ถึงประมาณ 4 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า แม้สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งยังมองว่าสถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงถึงขั้นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่ประสบปัญหา แต่ควรดูแลป้องกันตัวเองด้วยการเลี่ยงการออกทำกิจกรรมกลางแจ้ง และปิดประตูหน้าต่างบ้าน หากจำเป็นต้องออกทำกิจกรรมนอกบ้านควรสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า ผลจากการที่สภาพปัญหาหมอกควันและคุณภาพอากาศในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือตอนบน รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ยังคงมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้ม ที่อาจจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มองว่าบางทีหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องโดยตรง ในการแก้ไขปัญหานี้น่าจะต้องมีการทบทวน แผนการทำงานและผลการการดำเนินการที่ผ่านมาได้แล้วว่า สมควรที่จะต้องมีการปรับปรุงการทำงานหรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ เพราะจากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่งแล้วว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีและแผนงานที่ผ่านมายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่แผนการทำงานได้มีการเตรียมการกันมาล่วงหน้านานแล้ว

การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น เบื้องต้นเห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะต้องมาระดมความเห็นร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเท่าทันสถานการณ์ในเวลานี้เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากไปกว่านี้ ส่วนแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาวก็จะต้องมีการพูดคุยหารือกันในลำดับต่อด้วยเช่นกัน ว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันสถานการณ์ปัญหาในปีต่อๆ ไป

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 สูงเกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทางจังหวัดหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบควรที่จะต้องมีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบโดยทั่วกันเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ระวังและป้องกันดูแลสุขภาพของตัวเอง รวมทั้งมีมาตรการที่ชัดเจนและจริงจังในการแก้ไขปัญหาออกมาด้วย โดยการออกประกาศแจ้งเตือนนั้นอยากให้คำนึงถึงความสำคัญในเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่มากกว่าที่จะมัวห่วงเรื่องผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

“ถ้าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็ควรจะต้องมีการประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนระวังผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและคุณภาพอากาศที่จะมีต่อสุขภาพได้แล้ว โดยการประกาศนี้ควรคำนึงในเรื่องของสุขภาพของประชาชนมากกว่าจะมัวห่วงผลกระทบต่อการท่องเที่ยว” รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงศ์เทพ กล่าว

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงศ์เทพ กล่าวว่า ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำ ให้ใช้ทั่วโลก และประเทศในกลุ่มยุโรปใช้อยู่นั้นกำหนดค่ามาตรฐานอยู่ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ขณะที่ค่ามาตรฐานของประเทศไทยอยู่ที่ 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้วฝุ่นละอองไม่มีระดับที่ปลอดภัยแต่อย่างใด หากค่าปนเปื้อนในอากาศยิ่งสูงก็ยิ่งเป็นอันตรายมาก ดังนั้น การที่ค่าฝุ่นละอองต่ำกว่า 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามมาตรฐานของประเทศไทย ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นอันตรายหรือไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

“ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทางอนามัยโลกแนะนำให้ใช้กันทั่วโลกนั้น ไม่ควรสูงเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพราะฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนในอากาศไม่ว่าจะมีค่าเท่าใดต่างมีผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น มากน้อยตามปริมาณที่ปนเปื้อน ไม่มีระดับที่ปลอดภัย ซึ่งการกำหนดค่ามาตรฐานขึ้นมานั้นก็เพื่อที่จะได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการแจ้งเตือนเท่านั้น และมาตรฐานที่กำหนดไว้กับสุขภาพก็เป็นคนละเรื่องกันด้วย ฉะนั้นการที่ค่าฝุ่นละอองต่ำกว่า 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ ย่อมไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นอันตราย” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น