xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยห่วงหลายพื้นที่แห้งจัดไร้มาตรการดูแล หวั่นเป็นเชื้อไฟทำหมอกควันพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิจัยจาก มช. ห่วงหลายพื้นที่แห้งแล้งจัดแต่ไม่มีใครสนใจ หวั่นเป็นต้นตอการเผาลุกลาม-ไฟป่า ชี้อย่าห่วงแค่ชาวบ้านเผาขยะ-วัสดุการเกษตรเหตุพื้นที่กว้างหากไหม้แล้วควบคุมลำบาก พร้อมเสนอแนะเร่งแจ้งข้อมูลชาวบ้านให้รู้ว่าเผาแล้วได้พีเอเอช-สารก่อมะเร็ง เชื่อหากมีเครื่องตรวจวัดอากาศในพื้นที่คนจะเข้าใจปัญหายิ่งขึ้น

ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ว่า จากการลงพื้นที่เพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบของมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กและหมอกควันในภาคเหนือตอนบน พบว่าสภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก โดยในหลายจุดพบว่าในช่วงที่เข้าไปในพื้นที่นั้นยังไม่พบการเผาหรือปัญหาหมอกควันมากนัก แต่เมื่อคณะวิจัยออกมาจากพื้นที่แล้วกลับปรากฏว่ามีปริมาณหมอกควันเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดร.ทิพวรรณกล่าวว่า ปริมาณหมอกควันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนั้นส่วนหนึ่งมาจากการเผาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่สิ่งหนึ่งที่คณะวิจัยพบเห็นจากการลงพื้นที่ก็คือ สภาพแวดล้อมในหลายพื้นที่นั้นแห้งแล้ง ซึ่งถ้าหากเกิดไฟป่า หรือแม้แต่การเผาเศษขยะของชาวบ้านแล้วลุกลาม สภาพแวดล้อมที่แห้งแล้วเหล่านี้จะกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้การลุกไหม้ขยายวงกว้างออกไป ขณะที่ทั้งรัฐและเอกชนเองไม่ได้มีมาตรการหรือวิธีการรับมือใดๆ หากเกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่ที่แห้งแล้งเหล่านี้เลย

แม้ที่ผ่านมาปัญหาหมอกควันมักถูกมองว่าเป็นผลมาจากการเผาขยะ หรือเศษวัสดุการเกษตรของชาวบ้าน แต่ ดร.ทิพวรรณได้ให้ความเห็นว่า อย่างกรณีการปลูกข้าวโพดที่ อ.แม่แจ่ม ซึ่งถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ แต่จากการสอบถามชาวบ้านกลับบอกว่าซังข้าวโพดต่างๆ ถูกกำจัดไปตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมาแล้ว อีกทั้งหลายพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูกข้าวโพดก็มีปัญหาหมอกควันเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องพิจารณาก็คือจะดูแลพื้นที่แห้งอย่างไรไม่ให้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า หรือการเผาไหม้ เพราะหากเกิดขึ้นแล้วจะยากต่อการควบคุม

ทั้งนี้ ดร.ทิพวรรณระบุว่าสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งควรจะมีการให้ข้อมูลไปยังประชาชนได้รับทราบ คือ อันตรายในเชิงสุขภาพที่มาจากจากการเผาหรือไฟป่า เพราะผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการเผาในที่โล่ง ทั้งการเผาขยะ เศษวัสดุทางการเกษตรหรือไฟป่านั้นมีความรุนแรงมากกว่าการเผาในพื้นที่เมือง เนื่องจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดสารพีเอเอช (PAH : Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง อีกทั้งสารดังกล่าวยังถือเป็นสารก่อมะเร็งได้ ขณะเดียวกันผลการวิจัยยังระบุด้วยว่าประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นอกเมืองได้รับสารพิษดังกล่าวมากกว่าคนในพื้นที่เมืองอีกด้วย

“ต้องยอมรับว่าการจะแก้ปัญหาการเผาของประชาชนนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะประชาชนส่วนมากยังให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจก่อนเรื่องสุขภาพและสภาพแวดล้อม แต่หากมีข้อมูลที่สามารถแสดงให้ประชาชนได้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลร้ายของหมอกควันและฝุ่นละอองจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอย่างไรบ้าง ก็จะช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาได้มากยิ่งขึ้น” ดร.ทิพวรรณกล่าว

หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อมระบุว่า แผนการติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับฝุ่นในระดับชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ะช่วยให้ประชาชนในแต่ละท้องที่ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงของหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ของตนได้อย่างชัดเจน เพราะในปัจจุบันแม้จะมีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ แต่ทั้งสองจุดก็เป็นการตั้งเครื่องตรวจวัดภายในพื้นที่ตัวเมือง อีกทั้งค่าที่ได้ก็ไม่ได้แสดงตัวเลขสถิติที่เป็นจริงของพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะรุนแรงมากกว่า

ขณะเดียวกัน การกำหนดแผนระยะยาวเกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยถือเป็นหนึ่งในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดูแลรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการดูแลสภาพแวดล้อมภายในชุมชนของประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่มาจากหมอกควันและฝุ่นละออง จะเป็นอีกทางหนึ่งทีช่วยให้การบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น