xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ศูนย์วิจัยฯชี้อากาศเชียงใหม่ส่อแววแย่หนัก-แนะเร่งประกาศเตือน ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มช.เชื่อ สภาพอากาศเชียงใหม่ส่อเลวร้ายต่อเนื่อง-หวั่นเหมือนปี 50 เตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยงระมัดระวังตัว ชี้ยุทธศาสตร์แก้ปัญหายังไม่ได้ผลเหตุหลายพื้นที่ปฏิบัติจริงไม่ได้ แนะปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่-ระดับจังหวัดต้องเข้ามามีบทบาทช่วย อปท.พร้อมแนะเร่งประกาศเตือนประชาชนทันทีไม่ต้องรอใกล้มาตรฐาน

รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาไฟป่าหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ว่า สภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนี้ถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากคุณภาพอากาศแย่ลงอย่างต่อเนื่องภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน โดยในหลายๆ พื้นที่ในภาคเหนือปริมาณค่า PM10 เพิ่มสูงถึง 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ค่า PM10 ยังอยู่ที่ประมาณ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากแนวโน้มดังกล่าวแล้ว เมื่อประกอบกับการที่ไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่สภาพอากาศจะเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง และอาจรุนแรงเหมือนในปี 2550 ที่มีค่า PM10 สูงถึงระดับ 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อไปว่า หากปริมาณฝุ่นละอองในอากาศยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน โดยจากสภาวะอากาศที่เป็นอยู่ในขณะนี้ พบว่า มีประชาชนบางส่วนเริ่มรู้สึกเคืองตาหรือแสบคอแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากสภาพอากาศยังไม่ดีขึ้น ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วยผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ผู้สูงอายุ และหญิงมีครรภ์ จำเป็นจะต้องระมัดระวังรักษาสุขภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณฝุ่นละอองที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของสตรีมีครรภ์ที่ปริมาณฝุ่นละอองสามารถถูกดูดซึมและถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ และอาจส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดและคลอดก่อนกำหนดได้

รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ ยังได้แสดงความเห็นว่า จากการสังเกตพบว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่ผ่านมา พบว่า หากปีได้ปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรง ในปีนั้นก็จะมีการรณรงค์และกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่หากปีได้ไม่ประสบปัญหารุนแรง เช่นในปีที่ผ่านมาซึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีฝนตกต่อเนื่อง และส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองไม่เกินค่ามาตรฐาน กระบวนการรณรงค์และการออกมาตรการต่างๆ ก็จะไม่เข้มงวดมากนัก

ส่วนในปีนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะรุนแรง แต่มาตรการในการแก้ปัญหาที่มีอยู่นั้น บางอย่างยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง เช่น การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจากการศึกษาพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งยอมรับว่า ไม่สามารถควบคุมคนในพื้นที่ไม่ให้ทำการเผาในที่โล่งได้ หรือในกรณีของการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตร

จากการศึกษาที่อำเภอแม่แจ่มในปีที่ผ่านมา พบว่า ในพื้นที่มีปริมาณซังข้าวโพดที่ได้ภายหลังการเก็บเกี่ยวและสีเอาเมล็ดจำนวนมาก และเกษตรกรไม่สามารถกำจัดด้วยวิธีการอื่นได้ แม้ว่าจะมีการชะลอเวลาการเผาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะอากาศก็ตาม

ขณะที่ในหลายพื้นที่ก็ประสบปัญหาในลักษณะอื่นๆ เช่น ขาดแคลนเครื่องจักรที่จะใช้ในการแปรรูปหรือย่อยสลายเศษวัสดุทางการเกษตร อยู่ในพื้นที่ที่ไม่สะดวกต่อการเข้าไปจัดเก็บเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อนำไปกลบฝังหรือทำปุ๋ย หรือการนำเศษวัสดุไปผลิตปุ๋ยหรือถ่าน แต่พบว่ามีต้นทุนที่สูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และไม่มีแหล่งจำหน่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีส่วนต่อการเกิดภาวะหมอกควันปกคลุมในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ปริมาณไอเสียจากรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในฤดูกาลท่องเที่ยวนี้ รวมทั้งการเดินทางเพื่อเข้าชมงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ เป็นต้น

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้น เชื่อว่าในแต่ละจังหวัดหรือแต่ละท้องที่ต่างมียุทธศาสตร์ในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์เช่นนี้อาจจะต้องพิจารณาปรับปรุงให้มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ หรือเน้นการเข้าไปมีบทบาทในด้านการช่วยเหลือท้องถิ่นมากขึ้น เช่น หน่วยราชการในระดับจังหวัดหรือประเทศอาจจะต้องเป็นเจ้าภาพหรือรับผิดชอบช่วยเหลือในการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตร หากท้องถิ่นไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการเอง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในสถานการณ์ที่คุณภาพอากาศมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลง จำเป็นที่จะต้องเร่งประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ได้ทราบถึงสถานการณ์และอันตรายของการเกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่า เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้เตรียมการรับมือและดูแลรักษาสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็การให้ข้อมูลดังกล่าวก็จะช่วยให้ประชาชนที่อาจจะยังทำการเผาในที่โล่งได้หันไปใช้วิธีการอื่นๆ แทน

นอกจากนี้ การแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้ายังจะช่วยให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา เพราะยังมีประชาชนบางส่วนที่เห็นว่า หากปริมาณฝุ่นละอองหรือดัชนีคุณภาพอากาศยังไม่เกินค่ามาตรฐานก็ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น อีกทั้งการที่ยิ่งมีปริมาณฝุ่นมากก็จะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย

สำหรับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ล่าสุดในวันนี้ (17 ก.พ.) พบว่าค่า PM10 ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลา 17.00 น.วัดได้ 127.09 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เมื่อเวลา 17.00 น.อยู่ที่ 103







กำลังโหลดความคิดเห็น