สธ.กำชับสถานบริการสาธารณสุข 8 จังหวัดภาคเหนือ เฝ้าระวังผู้ป่วยจากการสูดควันไฟป่า
วันนี้ (17 ก.พ.)นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาละอองหมอกควันไปจากการเผาป่าในจังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ซึ่งขณะนี้มีค่าปริมาณละอองควันไฟสูงเกินค่ามาตรฐาน ว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 8 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน เฝ้าระวังผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคที่เกิดจากปัญหาหมอกควันไฟป่า ได้แก่ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจทุกชนิด 3.กลุ่มโรคตาอักเสบ 4.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ที่มารับการรักษาในสถานพยาบาลแต่ละจังหวัดทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินความรุนแรง รวมทั้งให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จัดเวชภัณฑ์ดูแลผู้เจ็บป่วยจากปัญหาหมอกควันตลอด 24 ชั่วโมง และให้ติดตามข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเฝ้าระวังฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เพื่อวางแผนการป้องกันได้อย่างทันท่วงที
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า กลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากควันไฟ สูงกว่าคนทั่วไป มี 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเด็ก 2.หญิงตั้งครรภ์ 3.ผู้สูงอายุ 4.ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด 5.ผู้ป่วยโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง 6.ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และ7.ผู้ป่วยโรคหัวใจ กลุ่มเสี่ยงที่กล่าวมาจัดเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการสูดละอองของควันไฟ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการสูดละอองของควันไฟเข้าปอด หากมีอาการผิดปกติ เช่นแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม แสบตา ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ทั้งนี้ในการที่จะให้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยซับกรองฝุ่นละอองได้มากขึ้น อาจใช้วิธีพรมน้ำให้หมาดๆ และหากผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยที่ใช้สวมใส่เริ่มสกปรก หรือรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก ควรเปลี่ยนใช้ผืนใหม่ เนื่องจากอาจมีเขม่าควันเกาะติดอยู่เป็นจำนวนมาก
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงที่มีหมอกควันครอบคลุมพื้นที่ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสหมอกควัน หรือลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับควันมากขึ้น เช่น งดการสูบบุหรี่ หรืออิริยาบถที่มีการเคลื่อนไหวมาก เป็นต้น รวมทั้งติดตามข่าวสารเตือนภัยจากรัฐบาลทางสื่อมวลชน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการดูแลป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัว