ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การเมืองเป็นทรัพยากรแห่งอำนาจ บุคคลที่เข้าสู่การเมืองย่อมประสงค์ครอบครองและใช้อำนาจ การใช้อำนาจของนักการเมืองมีจุดมุ่งหมายใหญ่ๆ สองประการ คือ 1) การใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ จรรโลงคุณธรรมของสังคม สร้างความมั่งคั่ง สงบสุขร่มเย็นแก่ประเทศชาติ และ 2) การใช้อำนาจในทางทำลายล้างสังคม โดยทำให้เกิดความมั่งคั่ง ร่ำรวย และมั่นคงแก่ตนเองและพวกพ้อง ขณะเดียวกันก็สร้างความไม่สงบในสังคม โดยการลิดรอน ทำลายและกวาดล้างผู้ที่ขัดขวางเจตนารมณ์ของตน
นักการเมืองจำนวนมากในหลายประเทศใช้อำนาจโดยยึดเป้าหมายประการแรกเป็นแนวทางสำคัญ ผลที่ตามมาคือ ประชาชนของประเทศเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกมิติของการดำรงชีวิต โดยมีทั้งความมั่นคงในด้านการศึกษา ด้านความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมและวัฒนธรรม ตัวอย่างประเทศที่นักการเมืองใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ เช่น สวีเดน นอรเวย์ แคนาดา เป็นต้น
นักการเมืองไทยย่อมมิใช่ตัวอย่างของการใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ แต่เป็นตัวอย่างของการใช้อำนาจที่ฉ้อฉลและทำลาย เคยมีนักข่าวต่างประเทศจัดลำดับผู้นำที่ชั่วร้ายที่สุดในโลก ปรากฏว่าประเทศไทยมีอดีตนักการเมืองซึ่งเป็นนักโทษหนีคดีอยู่ในปัจจุบัน ได้รับเกียรติจากนักข่าวผู้นี้ยกให้เป็นผู้นำที่ชั่วร้ายลำดับหนึ่งของโลก และไม่เพียงแต่อดีตผู้นำคนนี้เท่านั้น ประเทศไทยยังมีนักการเมืองเผ่าพันธุ์เดียวกับอดีตผู้นำหนีคุกคนนี้อีกเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือนักการเมืองเหล่านั้นเป็นลูกน้องของอดีตผู้นำหนีคุก และคนเหล่านี้ทั้งเคยใช้อำนาจในทางที่ทำลายล้างสังคมไทยมาแล้ว และกำลังทำลายล้างอีกรอบหนึ่งในปัจจุบัน
ประชาสังคมไทยมีความพยายามในการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจที่ฉ้อฉลและทำลายล้างประเทศของนักการเมืองเหล่านี้ โดยหวังว่าจะจำกัดขอบเขตการทำลายล้างให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ องค์การอิสระได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรมโดยกำหนดให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และเมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ.2550 องค์การเหล่านี้ก็ยังได้รับการการบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะกลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มิได้เป็นนักการเมืองและมิได้อยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมือง
แต่ในปัจจุบันสถานะขององค์การอิสระเหล่านี้กำลังตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงต่อการถูกยุบหรือยกเลิก เมื่อนายวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลในพรรคเพื่อไทยอันเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่ามีความประสงค์ที่จะยกเลิกหรือยุบองค์การอิสระเหล่านี้ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง สิ่งที่นายวัฒนา เมืองสุขพูดออกมา คงมิใช่เป็นความปรารถนาของนายวัฒนา เพียงคนเดียว แต่อาจเป็นความรู้สึกร่วมของนักการเมืองที่ใช้อำนาจฉ้อฉลเกือบทุกคน เพราะตั้งแต่มีการตั้งองค์การอิสระมาทั้งหมด องค์การอิสระที่กระทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีแนวโน้มกระทำอย่างตรงไปตรงมาในการพิจารณาคดีจนสร้างผลกระทบต่อการใช้อำนาจฉ้อฉลของนักการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองนี่แหละ
ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มดำเนินงานใน พ.ศ. 2541 มีเรื่องที่ส่งมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จากจุดเริ่มต้นการดำเนินงานจนถึง พ.ศ. 2554 จำนวน 978 เรื่อง ศาลมีคำสั่งวินิจฉัย 609 เรื่อง และมีคำสั่งไม่รับดำเนินการ/จำหน่ายคดี/ยกคำร้อง 333 เรื่อง และในปี 2555 มีคดีค้างอยู่เพียง 30 เรื่องเท่านั้น ตัวอย่างคดีเด่นที่ตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญและมีความเกี่ยวเนื่องกับนักการเมืองและพรรคการเมือง เช่น
1)คดีการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ของ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ เมื่อ พ.ศ. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พล. ต. สนั่น มีความผิดตามข้อกล่าวหา และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
2)คดีการซุกหุ้น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ พ.ศ. 2544 ซึ่งในคดีนี้คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาการกระทำผิดกรณีซุกหุ้น และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
3)คดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อ พ.ศ. 2550 เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคมีการกระทำอันมีลักษณะเป็นการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า พรรคไทยรักไทยมีความผิดตามข้อกล่าวหา และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของนักการเมืองในพรรคนี้จำนวน 111 คน เป็นเวลา 5 ปี
4)คดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พ.ศ. 2551 อันเนื่องมาจากการทุจริตในการเลือกตั้ง และตัดสิทธิ์ทางการเมืองนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวจำนวนนับร้อยคนอีกเช่นกัน รวมทั้ง นายบรรหาร ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยด้วย
จะเห็นได้ว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ทำให้นักการเมืองจำนวนมากซึ่งเป็นผู้กระทำการฉ้อฉล ใช้อำนาจในทางมิชอบ และมีพฤติกรรมเป็นปกปักษ์ทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งและอำนาจ รวมทั้งต้องยุติบทบาททางการเมืองในระยะเวลาหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ย่อมสร้างความเจ็บแค้นแก่นักการเมืองผู้ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา และเมื่อพวกเขามีโอกาส จึงไม่รั้งรอที่จะดำเนินการเพื่อขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการครองอำนาจและการฉ้อฉลของตนเองออกไป
นักการเมืองผู้อยู่ในอำนาจปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากเป็นบริวารของนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ได้รับคำสั่งจากเจ้านายตนเองให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้ลดฐานะศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแผนกหนึ่งของศาลฏีกา ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินคดีกับบรรดานักการเมืองลดลง เพราะศาลฎีกาในปัจจุบันมีคดีค้างอยู่ถึง 4 หมื่นกว่าเรื่อง และเมื่อการดำเนินคดีมีกระบวนการธุรการที่ซับซ้อนมากขึ้น ก็จะทำให้ล่าช้า และหากมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินคดีจากระบบการไต่สวนเป็นระบบการกล่าวหา โอกาสที่นักการเมืองผู้ถูกกล่าวหาจะได้ประโยชน์ก็มีมากขึ้น เพราะผู้กล่าวหาต้องหาหลักฐานพิสูจน์ด้วยตนเอง อันแตกต่างจากระบบการไต่สวนที่ศาลมีอำนาจในการค้นหาความจริงด้วยตนเองซึ่งจะทำให้ได้หลักฐานที่ครอบคลุม เที่ยงตรง และเป็นไปด้วยความรวดเร็วกว่าระบบการกล่าวหา
สำหรับศาลปกครอง นับตั้งแต่เปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 11 ปีเต็มแล้ว ในช่วง 9 ปีแรกหรือ จาก พ.ศ. 2544 ถึง 2553 ศาลปกครองรับคดีจำนวน 56,380 คดี พิจารณาเสร็จสิ้น 43,593 คดี หรือร้อยละ 77.32 ส่วนคดีที่ค้างมี 12,787 คดีหรือร้อยละ 22.68 คดีสำคัญที่ศาลปกครองพิจารณาและส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของนักการเมือง เช่น
1)การตัดสินว่า รัฐบาลดำเนินการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแบบผิดกฎหมาย คดีนั้นตัดสินเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2549 ทำให้รัฐบาลไม่อาจแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ ในการพยายามแปรรูป กฟผ. ครั้งนั้น รัฐบาลดำเนินโดยการออกพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ตาม พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ คือ พรฎ. กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจำกัด (มหาชน) และ พรฎ. กำหนดเงื่อนเวลา ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 ศาลปกครองระบุว่า พรฏ.ทั้งสองมิได้ปฏิบัติที่เป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เพราะว่ามีการแต่งตั้งคนที่มีคุณสมบัติขัดต่อความเป็นกลางและมีผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทนั้น การดำเนินการประกาศรับฟังความคิดเห็นขัดต่อกฎหมาย และการโอนทรัพย์สิน อำนาจ สิทธิประโยชน์ ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2)การพิพากษาให้ บริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน) คืนทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตเลียมทางท่อ และท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติให้กับแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ. 2550 เพราะท่อเหล่านี้สร้างด้วยงบประมาณของรัฐก่อนที่จะมีการแปรรูป ปตท. แต่ เมื่อแปรรูปจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนแล้ว บมจ. ปตท. กลับแอบเอาท่อเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของตนเอง อันที่จริงในเรื่องนี้ภาคประชาชนฟ้องศาลปกครองให้นำ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน กลับคืนมาเป็นของรัฐ แต่ศาลปกครองพิพากษาเพียงให้ บริษัท ปตท. จำกัด คืนทรัพย์สินบางส่วนเป็นของรัฐเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นการตัดสินที่สร้างผลกระทบต่อกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากการแปรรูปการปิโตเลียมแห่งประเทศไทยไม่น้อย
3)การทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 มีผลบังคับทางปฏิบัติในปี 2552 รัฐธรรมนูญมาตรานี้มีเนื้อหาโดยย่อว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จะทำไม่ได้ ยกเว้นมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดของประชาชน และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นประกอบ การที่รัฐธรรมนูญมาตรานี้มีผลบังคับใช้ในเชิงปฏิบัติทำให้กลุ่มทุนการเมืองต้องชลอการดำเนินโครงการต่างๆ และต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มาตรานี้จึงอาจเป็นเป้าหมายที่ถูกยกเลิกไปพร้อมๆกับศาลปกครอง โดยกลุ่มนักการเมืองนายทุนก็ได้
การตัดสินพิจารณาคดีต่างๆ ของศาลปกครองที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ดำเนินการด้วยความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพสูง เป็นที่พึ่งของประชาชนได้เป็นอย่างดี แต่แน่นอนว่าย่อมกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมืองทุนนิยมเผด็จการทั้งหลาย ที่ต้องการครอบครองทรัพย์สินของแผ่นดิน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นักการเมืองผู้ฉ้อฉลเหล่านั้นจะมีแรงจูงใจอย่างแรงกล้าที่จะยกเลิกหรือยุบศาลปกครอง
การยุบ ยกเลิก หรือ เปลี่ยนแปลงสถานะของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง เพื่อให้องค์การอิสระทั้งสองมีศักยภาพ สมรรถภาพ และประสิทธิภาพ ในการทำงานลดลง ย่อมทำให้นักการเมืองนายทุนที่ทุจริต ฉ้อฉล ผู้มุ่งแสวงหานำทรัพย์สินของแผ่นดินมาเป็นของตนเองและพวกพ้อง มีช่องทางและโอกาสกอบโกยมากยิ่งขึ้น
ในทางกลับกันการดำรงอยู่ขององค์การอิสระทั้งสอง และจากผลงานที่ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ย่อมเป็นหลักฐานที่ประจักษ์ชัดว่า องค์การทั้งสองมีคุณูปการต่อประเทศชาติไม่น้อย เพราะสามารถหยุดยั้งการทำลายล้างประเทศของกลุ่มนักการเมืองนายทุนได้ในบางระดับ ดังนั้นการดำรงอยู่ขององค์การอิสระทั้งสองจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย อย่างน้อยเราก็มีกลไกตรวจสอบการทำร้ายประเทศของนักการเมืองอันทรงประสิทธิภาพหลงเหลืออยู่บ้าง