ผ่าประเด็นร้อน
คำกล่าวดังกล่าวไม่น่าจะผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงมากนัก หากพิจารณาจากร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ....ที่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กิตติรัตน์ ณ ระนอง นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 ชนิดที่เรียกว่าเปิดศักราชใหม่ก็เริ่มงานทันที
แม้ว่าในที่สุดแล้วที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังไม่อนุมัติ โดยให้กลับไปทบทวนหรือพิจารณาใหม่ ซึ่งนั่นไม่ใช่หมายความว่าเป็นความปราถนาดีหรือโต้แย้งอะไรหรอก แต่ความหมายก็คือยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่าจะมีการโอนทรัพย์สินใดบ้างเพื่อนำไปใช้หนี้ในอนาคตต่างหาก
สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญที่ต้องเสนอพระราชกำหนดดังกล่าวก็คือ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ “แบงก์ชาติ” รับผิดชอบทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท และยังเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลดึงเงินทุนสำรองมาใช้ ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 7 นั่นเอง
โดย มาตรา 7(2) ได้กำหนดให้นำเงินที่เหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีไปใช้หนี้ที่บังคับโอนมาเลย ไม่ต้องส่งไปคลังหลวงตาม พระราชบัญญัติเงินตรา ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นการตัดท่อส่งเงินเข้าคลังหลวง ทำให้ไม่มีโอกาสมีเงินเพิ่มเข้ามาอีกเลย ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของบูรพกษัตริย์ และบรรพชน รวมไปถึงความต้องการของ “หลวงตา” ที่ต้องการให้เงินในคลังหลวงมีแต่เพิ่มไม่มีลด สำหรับเอาไว้ใช้ในยามวิกฤติที่สุดจริงๆ เท่านั้น
ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ต่างจากการปล้นธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย เพราะในมาตรา 7(1) กำหนดให้ ร้อยละ 90 ของผลกำไรของแบงก์ชาติ ต้องไปใช้หนี้ที่บังคับโอนมา รวมไปถึงการปล้นสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งเงินเข้ากองทุน และนำเงินจากกองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาใช้
ขณะเดียวกัน ที่สำคัญที่สุดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ในมาตรา 7(3) เปิดกว้างให้คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโอนทรัพย์สินใดไปใช้หนี้ก็ได้
หากพิจารณากันแบบรวบรัดตัดความให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยผ่านคนรับหน้าที่ดำเนินการก็คือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง มีเป้าหมายก็เพื่อต้องการโอนหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทจากกองทุนฟื้นฟูฯ ปี 2541 และ 2545 โอนไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับภาระแทนกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลสามารถเข้าไปล้วงเอาเงินจากคลังหลวงที่ลั่นดาลเอาไว้นานแล้วออกมาใช้ และนี่ก็คือการเข้าไปแทรกแซงธนาคารกลางของชาติโดยฝ่ายการเมือง ถ้าพูดให้ตรงๆ ก็คือ ฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง
ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่ไม่ใช่ความคิดที่ออกมาจากมันสมองกลวงๆ ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์อย่างแน่นอน แต่น่าจะเป็นการสมคบคิดกันแบบ “รวมการเฉพาะกิจ” สองสามฝ่าย นั่นคือ วีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะที่ปรึกษาใหญ่ และเป็นคนรู้เรื่องราวในแบงก์ชาติดีที่สุดคนหนึ่ง คนถัดมาก็คือ ทักษิณ ในฐานะที่เป็นคนสั่งการและคนที่เดินเรื่องก็คือ กิตติรัตน์ นั่นเอง เพียงแต่ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหว และที่สำคัญยังไม่สามารถกำหนดรายละเอียดว่าจะมีการโอนสินทรัพย์อะไรบ้างเพื่อนำไปใช้หนี้อนาคต รวมไปถึงความคิดระหว่าง กิตติรัตน์ กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ยังไม่ตรงกัน ทำให้ต้องถอนเรื่องออกมาชั่วคราว
ความพยายามของรัฐบาลโคลนนิ่งทักษิณ ชินวัตร ที่หาทางเข้ามาแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย และเจตนาเพื่อล้วงเอาเงินคลังหลวงออกมาใช้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะเวลานี้มีเพียงหน่วยงานดังกล่าวเท่านั้นที่ยังเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันในทางตรงกันข้ามถ้าแผนการที่วางเอาไว้ทำได้สำเร็จ เมื่อนั้นลางแห่งหายนะก็จะเกิดขึ้นทันที และที่สำคัญเวลานี้กำลังหน้ามืด กำลังต้องการหาเงินใช้อย่างเร่งด่วน
ดังนั้น เมื่อทุกอย่างเร่งด่วนไล่หลังมาเหมือนกับไฟลนก้น มีทางเดียวก็คือ “ต้องปล้น” เท่านั้น!!