ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาคดีตกแต่งบัญชีบริษัทปิคนิค คอร์ปอเรชั่น คดีหมายเลขดำ ผบอ. 45/2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องอดีตผู้บริหารปิคนิค
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังว่า จำเลยทุกคนได้กระทำผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำสั่งและพิพากษากลับว่า นายธีรัชชานนท์ ลาภวิสุทธิสิน และ น.ส.สุภาพร ลาภวิสุทธิสิน กรรมการ บริษัทปิคนิค จำเลยที่ 1- 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 56 (1) และ (3), 312 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นกรรมการบริษัท ร่วมกันทำ หรือยินยอมให้ทำบัญชีเป็นเท็จ เพื่อลวงบุคคลใดๆ ให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 2 กระทงๆ ละ 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 12 ปี
ศาลยังพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 3-10 คนละ 5 ปี ได้แก่ นายอนกูล ตั้งเรืองเกียรติ, นายพิริยะ ถาวร, นายเฉลิมชัย ชุบผา, น.ส.นุชนาฎ ปริกสุวรรณ, นายปรเมษ ลอองสุวรรณ, นายทวีทรัพย์ เกริกเกียรติศักดิ์, นายกฤษณ์ โปรยเจริญ, นายพินิจ พุทธศาสตร์ ส่วนบริษัทจำเลยที่ 11-21 ให้ปรับรายละ 6 แสนบาท และให้ปรับ บริษัทปิคนิค จำเลยที่ 22 จำนวน 1 แสนบาท
นั่นหมายความว่า ศาลอุทธรณ์จำคุกคนฉ้อโกงเงินเข้ากระเป๋าสูงสุด 12 ปี
ทั้งนี้ คดีตกแต่งบัญชีหุ้นบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น เป็นคดีหมายเลขดำ ผบอ.45/2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธีรัชชานนท์ ลาภวิสุทธิสิน อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทปิคนิค , น.ส.สุภาพร ลาภวิสุทธิสิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทปิคนิค ซึ่งทั้งสองเป็นน้องชาย และน้องสาวของ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีต รมช.พาณิชย์, นายอนกูล ตั้งเรืองเกียรติ, นายพิริยะ ถาวร, นายเฉลิมชัย ชุบผา, น.ส.นุชนาฎ ปริกสุวรรณ, นายปรเมษ ลอองสุวรรณ, นายทวีทรัพย์ เกริกเกียรติศักดิ์, นายกฤษณ์ โปรยเจริญ, นายพินิจ พุทธศาสตร์
บริษัท โรงบรรจุแก๊สเทพารักษ์ จำกัด, บริษัท สังข์อ่องก๊าซ จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรม เอส ซี เอส จำกัด, บริษัท โรงบรรจุแก๊สนครปฐม จำกัด, บริษัท โรงบรรจุแก๊ส แจ้งวัฒนะ 23 จำกัด, บริษัท ลาดกระบังปิโตรเลี่ยม จำกัด, บริษัท โรงบรรจุแก๊สยูนิเวอร์แซล จำกัด, บริษัท ปทุมเกตน์ เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท โรงบรรจุแก๊สโพรงมะเดื่อ จำกัด, บริษัท โรงบรรจุแก๊สธรรมศาลา จำกัด, บริษัท พี.ไพรส์ ซับพลายส์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัดและบริษัทปิคนิค ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-22 ในความผิดฐาน ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 56, 274, 307, 311, 312, 313, 315 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91
ตามสำนวนฟ้องคดีนี้ อัยการโจทก์ได้ระบุพฤติการณ์ความผิด สรุปว่า จำเลยที่ 1-2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทปิคนิค จำเลยที่ 22 ร่วมกันทำสัญญาเช่าถังแก๊ส กับจำเลยที่ 11-20 รวม 42 ฉบับ เพื่อนำเงินค่าเช่าไปลงบัญชีเป็นรายได้ของบริษัทปิคนิค (จำเลยที่ 22) ทั้งที่ความจริงไม่ได้มีการเช่าถังแก๊ส และไม่มีการจ่ายเงินค่าเช่าถัง
โดยจำเลยที่ 1-2 ร่วมกันกระทำ หรือยินยอมให้มีการบันทึกรายได้ค่าเช่าแก๊สที่เป็นเท็จและไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อลวงให้บุคคลใดๆเชื่อว่า บริษัทปิคนิค จำเลยที่ 22 มีรายได้สูงขึ้น สามารถนำไปจ่ายปันผลให้แก่นักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนกับบริษัท ขณะที่มีการนำยอดรายได้ค่าเช่าถังแก๊ส มาบันทึกในงบการเงินไตรมาสที่ 2 และยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2547 ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง
ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม -2 กันยายน 2547 จำเลยที่ 1 และ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย สำนักงานพหลโยธิน ของจำเลยที่ 22 จำนวน 60 ล้านบาท และ 25 ล้านบาท ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีเหตุผลเพื่อเอาเงินไปเป็นของจำเลยที่ 1-2 ซึ่งเป็นการสร้างเสียหายแก่จำเลยที่ 22
และระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547- 20 เมษายน 2548 จำเลยที่ 1 ยินยอมให้บันทึกข้อความในรายงานการประชุมคณะกรรมการจำเลยที่ 22 ครั้งที่ 17/2547 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ อนุมัติให้ หจก.อรอุมาการก่อสร้าง และจำเลยที่ 21 กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นเท็จ แล้วจำเลยที่ 1 นำไปลงบัญชีแยกประเภทประจำเดือนไปยื่นต่อ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใดๆ
ศาลอุทธรณ์ประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า บริษัทปิคนิค จำเลยที่ 22 เป็นผู้ค้าแก๊สรายใหญ่ จัดหาถังแก๊สให้แก่โรงบรรจุแก๊ส ซึ่งเป็นผู้ค้ารองลงมายืมถังแก๊ส โดยเรียกค่ามัดจำถังแก๊สและเมื่อโรงบรรจุแก๊ส ส่งแก๊สให้แก่ลูกค้ารายย่อยก็จะเรียกค่ามัดจำถังแก๊สไว้เป็นทอดๆ เมื่อลูกค้าส่งคืนถังแก๊ส สามารถเรียกเงินมัดจำคืนได้ทันที
แต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 บริษัทปิคนิค จำเลยที่ 22 เปลี่ยนวิธีการทำสัญญา ให้โรงบรรจุแก๊ส เช่าถังแก๊สจากบริษัทจำเลยที่ 22 แทนการวางเงินมัดจำ โดยทำสัญญาเช่าถังแก๊สกับบริษัทจำเลยที่ 11-20 รวม 42 ฉบับ ก่อนที่ บริษัทปิคนิค จำเลยที่ 22 นำเงินค่าเช่าถังแก๊สไปลงบัญชีแยกประเภทประจำเดือนเมษายน -ธันวาคม 2547 และนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 และที่ 3 กับงบประจำปี 2547 ของจำเลยที่ 22 เป็นงบกำไรขาดทุน จำนวน 178,440,072 บาท ยื่นต่อ ก.ล.ต.
ศาลเห็นว่า การทำสัญญาระหว่างบริษัทปิคนิค จำเลยที่ 22 กับ บริษัทจำเลยที่ 11-20 นั้น เป็นสัญญาเช่าที่มีความผิดปกติ เมื่อบริษัทจำเลยที่ 11-20 มีสภาวะขาดทุน ไม่อาจกระจายถังแก๊สไปยังลูกค้าไปทั่วถึง อีกทั้งการทำสัญญาเช่าดังกล่าว บริษัทจำเลยที่ 11-20 เป็นฝ่ายเสียเปรียบทางการค้า
จากพยานหลักฐานโจทก์ จึงเชื่อว่า บริษัทปิคนิค จำเลยที่ 22 ไม่ได้มีเจตนาทำสัญญาเช่าถังแก๊สกับบริษัท จำเลยที่ 11-20 อย่างแท้จริง เป็นการทำสัญญาเช่นอันเป็นเท็จ เพื่อตกแต่งบัญชี เพื่อลวงบุคคลใดๆ
ขณะที่พฤติกรรมจำเลยที่ 1 และะ 2 ยังรับฟังได้ด้วยว่า ร่วมกันยินยอมให้บันทึกข้อความในการประชุมคณะกรรมการ บมจ.ปิคนิคว่า จำเลยที่ 22 ให้ หจก.อรอุมาการก่อสร้างกับ บจก. พี ไพรส์ ซัพพลายส์ จำเลยที่ 21 กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นเท็จด้วย เพราะ บจก. พี ไพรส์ ซัพพลายส์ จำเลยที่ 21 มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท มีพนักงานเพียง 5-6 คน และไม่อยู่ในฐานะ จะชำระเงินกู้ 25 ล้านบาท คืนแก่จำเลยที่ 22 ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 22 ให้ หจก.อรอุมาการก่อสร้าง กู้เงินจำนวน 60 ล้านบาท แต่ไม่มีเอกสารหลักฐานสัญญากู้เงินมาแสดงย่อมผิดวิสัยอย่างยิ่ง
พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 และ 2 จึงเป็นเพียงให้ ก.ล.ต. หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 22 มีการอนุมัติเงินให้กู้ยืม โดยมีนายพินิจ จำเลยที่ 10 ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บจก. พี ไพรส์ ซัพพลายส์ จำเลยที่ 21 กระทำฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และะ 2 ด้วย
นี่คือพฤติกรรมของพี่น้องตระกูลลาภวิสุทธิสิน ที่ผ่องถ่ายเงินจากบริษัทปิคนิค เข้ากระเป๋าตัวเอง โดยการทำสัญญาเช่าลวงขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม บุคคลในตระกูลนี้ยังคงเวียนว่ายอยู่ในตลาดหุ้น ด้วยการจ้าง “นอมินี” ซื้อขายหุ้นตลอดเวลา
โดยเมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ยังกล่าวโทษอดีตผู้บริหาร บล.ยูไนเต็ด ต้องสงสัยปั่นหุ้น "METRO-TUCC-SECC" เพิ่มอีก 5 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า นายพรเทพ และนางสาวอารดา ตกลงหรือร่วมรู้เห็นกับนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นสร้างราคาหุ้นบริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (METRO) ระหว่างวันที่ 19 กันยายน - 30 พฤศจิกายน 2549 และหุ้นบริษัท ไทยยูนีคคอยล์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (TUCC) ระหว่างวันที่ 1 - 31 ตุลาคม 2550
และยังตกลงหรือร่วมรู้เห็นกับนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ และนายสมชาย ศรีพยัคฆ์ ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นสร้างราคาหุ้นบริษัท เอส.อี.ซี ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (SECC) ระหว่างวันที่ 12 กันยายน - 24 พฤศจิกายน 2551 ในลักษณะอำพราง เพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่าหุ้นนั้น มีการซื้อขายกันมาก หรือราคาหุ้นนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยมีพฤติกรรมการซื้อขายในลักษณะต่อเนื่อง อันเป็นผลทำให้การซื้อหรือขายหุ้นนั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อขายหุ้นนั้น
รวมทั้งมีการจับคู่ซื้อขายโดยบุคคลที่ได้ประโยชน์เป็นบุคคลเดียวกัน โดยมีนายประยุทธ์ นายนฤพล และนางสาวลัดดา ให้ความช่วยเหลือโดยยินยอมให้ใช้บัญชีซื้อขายหุ้นของตนเองเพื่อสร้างราคาหุ้น METRO และ TUCC รวมทั้งนายประยุทธ์และนายนฤพลยังได้ให้ความช่วยเหลือโดยยินยอมให้ใช้บัญชีซื้อขายหุ้นของตนเองเพื่อสร้างราคาหุ้น SECC อีกด้วย
การกระทำของนายพรเทพและนางสาวอารดาเข้าข่ายเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 244 และมาตรา 243(2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนการกระทำของนายประยุทธ์ นายนฤพล และนางสาวลัดดา เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 244 และมาตรา 243 (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2554 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ และนายสมชาย ศรีพยัคฆ์ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554 เนื่องจากมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า บุคคลทั้งสามตกลงหรือร่วมรู้เห็นกันกับอดีตผู้บริหาร 2 รายของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลในกลุ่มและบุคคลอื่นในการสร้างราคาหุ้นบริษัทเอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (SECC) ในช่วงระหว่างวันที่ 12 กันยายน - 24 พฤศจิกายน 2551
ก.ล.ต.ยังได้กล่าวโทษ นายสุริยา กรณีมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า นายสุริยาได้ตกลงหรือร่วมรู้เห็นกับอดีตผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ข้างต้น ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นสร้างราคาหลักทรัพย์อีก 2 หลักทรัพย์ คือ หุ้นบริษัทเมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (METRO) และหุ้นบริษัทไทยยูนีคคอยล์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (TUCC) ระหว่างวันที่ 19 กันยายน - 30 พฤศจิกายน 2549 และระหว่างวันที่ 1 - 31 ตุลาคม 2550 ตามลำดับ
การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. มีผลทำ ให้นายพรเทพ และนางสาวอารดา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน และเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ลงโทษเพิกถอน นายมาริศวน์ ท่าราบ ชื่อเดิมนายมาริษ ท่าราบ และ นายบุริม ชมภูพล จากการเป็นผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และจะรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ซึ่งรวมถึงกรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ ครั้งต่อไปเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555
นั่นหมายความว่า มาริศวน์ ถูกขับออกจากตลาดทุนเป็นเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ ก.ล.ต.จะพิจารณาดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งสองต่อไป เนื่องจากพบว่าปฏิบัติงานบกพร่องอย่างร้ายแรงในการ จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ (กองทุน ที ยู โดม) เป็นเหตุให้กองทุนและผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับความเสียหายอย่างมาก
“บกพร่องอย่างร้ายแรงในการจัดการกองทุน” ถือเป็นความร้ายแรงมากในแวดวงตลาดทุน
เช่นเดียวกับ พฤติกรรมการปั่นหุ้น และพฤติกรรมอำพรางสัญญาเช่า
คงเหลือ “พฤติกรรมอำพรางทางการเมือง” ที่ยังขาดบทลงโทษชัดเจน !!