xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอพบ 32 มหาวิทยาลัยงาบเงินกู้ยืมเรียนของ นศ.4 พันล้าน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงพบ 32 มหาวิทยาลัย ส่อทุจริตเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของนักศึกษาเป็นวงเงินถึง 4 พันล้านบาท

วันนี้ (20 ก.พ.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ดีเอสไอพบการทุจริตโครงการกู้ยืมเงินของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โดยกองทุนดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอตรวจพบการทุจริตเกิดขึ้นในปีการศึกษา 2549-2550 จากมหาวิทยาลัยของเอกชนและของรัฐบางส่วน จำนวน 32 แห่ง วงเงิน 4 พันล้านบาท ทั้งนี้ จะมีเสนอเพื่อเข้าเป็นคดีพิเศษ ในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ กคพ.วันที่ 29 ก.พ.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล

นายอรรคริน ลัทธศักดิ์ศิริ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ สำนักคดีความมั่นคง กล่าวว่า เบื้องต้นพบพฤติกรรมการทุจริต จากทางมหาวิทยาลัยที่จัดให้เจ้าหน้าที่ออกไปชักชวนโฆษณาให้ประชาชนทั่วไปสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัย จากนั้นจะให้ผู้สมัคร ทำคำร้องขอกู้ยืมเงินจาก กรอ.รายละ 8 หมื่นบาท ไปจนถึง 1.2 แสนบาท แต่ปรากฏว่า นักศึกษาเหล่านี้ไม่มีชื่อเข้าเรียนทำให้ต้องหยุดการศึกษา ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้นำชื่อของนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนแล้วไปขอกู้ยืมเงินในปีต่อมา จนเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ให้ กรอ.ในปี 2554 ธนาคารกรุงไทย มีหนังสือทวงชำระหนี้แก่นักศึกษา โดยที่ประชาชนและนักศึกษากลุ่มนี้ ไม่ได้กู้ยืมเงินจากกองทุนดังกล่าว เบื้องต้นได้มีนักศึกษาร้องเรียนพฤติกรรมมิชอบดังกล่าวของมหาวิทยาลัย จำนวน 101 ราย และดีเอสไอได้สอบปากคำไปแล้วจำนวน 43 ราย รวมวงเงินจำนวนนี้ 3 ล้านบาท

นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นในส่วนของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ในปี 2549-2550 โดยเฉพาะปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดกู้ กรอ.และหยุดการให้กู้ กยศ.ไปซึ่งในปีนั้นกองทุนต้องเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้ทันประกอบกับระบบในขณะนั้นยังไม่เรียบร้อยดี ซึ่งการทำงานนั้น กองทุนเปิดให้สถานศึกษาส่งรายชื่อนักศึกษาที่ประสงค์จะกู้ กรอ.พร้อมทั้งยืนยันหลักฐานการกู้มายังกองทุนและมีการทำสัญญากู้ยืม ซึ่งในปี 2549 นั้น มีจำนวนผู้กู้ กรอ.ประมาณ 320,000 คน ซึ่งเป็นปีเดียวที่มีจำนวนนักศึกษากู้จำนวนมาก และในปี 2550 ที่เปิดให้กู้ทางกองทุนก็ได้เตรียมระบบรองรับเรียบร้อยจึงไม่เกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จำนวนผู้กู้ กรอ.ลดลงและมีนักศึกษาบางรายทยอยคืนเงินกลับมายัง กองทุนจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่จำนวนผู้กู้ยืมจะลดลงเพราะอาจจะมีนักศึกษาบางคนที่กู้ยืมในระหว่างที่เรียนอาจจะไม่สามารถเรียนต่อจนจบได้ก็ลาออกไปซึ่งสิทธิในการกู้จะหมดลงไป ทั้งนี้ เพราะตามระบบแล้วกองทุนจะให้สถานศึกษาและผู้ประสงค์กู้ยืมที่เป็นผู้กู้รายเก่ายืนยันสิทธิการกู้พร้อมจัดส่งเอกสารหลักฐาน และท้ายที่สุดต้องทำสัญญาระหว่างกันซึ่งเป็นการปฏิบัติทุกปี จากนั้น กองทุนจะจัดส่งไปเงินไปยังสถานศึกษา เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้จะมีการทำในลักษณะสวมสิทธินักศึกษาที่ออกไป เพื่อที่จะให้กองทุนส่งเงินให้กับมหาวิทยาลัย
กำลังโหลดความคิดเห็น