xs
xsm
sm
md
lg

กยศ.เตรียม 4 หมื่นล.รับมือ นศ.กู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กยศ.เตรียมเงิน 4 หมื่นล้านบาท พร้อมรับมือเงินกู้การศึกษาปี 55 พร้อมดัน กรอ.ปล่อยกู้อีก 6 พันล้านบาท ในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน มั่นใจจะไม่เจอเบี้ยวหนี้เหมือนอดีต เหตุเป็นสาขาที่ตลาดต้องการ มั่นใจจบมามีงานทำ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยในฐานะประธาน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า แนวทางการกู้ยืมเพื่อการศึกษาในปีการศึกษา 2555 จะดำเนินการภายใต้ กยศ.และโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้มีวงเงินพร้อมรองรับความต้องการเงินกู้ยืมสำหรับนักศึกษาได้ จากเดิมที่จะมีเพียง กยศ.ที่จะเป็นการให้กู้กับคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ในปีนี้จะมีเพิ่มกลุ่มในกลุ่มสาขาอาชีพที่ตลาดแรงขาดขาดแคลนกว่า 300-400 สาขา โดยไม่ได้จำกัดรายได้ของครอบครัว เพื่อผลิตนักศึกษาป้อนตลาดแรงงานในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน เพื่อการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

“จาการสำรวจพบว่า ตลาดแรงงานยังต้องการสาขาอาชีพต่างๆ 300-400 สาขา หรือจะแยกย่อยลงไปได้ถึง 1 พันสาขาได้ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของประเทศ อย่างครุศาสตร์ ครูทุกสาขาก็สามารถมาใช้เงินกู้ของ กรอ.ได้ ซึ่งจะรองรับนโยบายรัฐบาลได้ในเรื่องครูมืออาชีพ หรือที่ยังขาดแคลน ทั้งวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ รวมถึงการส่งเสริมการเรียนอาชีวะที่จะเน้นสายช่าง ก็จะขยายมาทางสายพาณิชย์มากขึ้น โดยการพิจารณาเงินกู้จะขึ้นกับรายที่ดำเนินการก่อนและเอกสารหลักฐานพร้อม และวงเงินขึ้นกับวิชาชีพที่เรียนสูงสุดเป็นแพทยศาสตร์ประมาณ 2.6 แสนบาทต่อราย และต่ำสุดจะเป็นสายสังคม” และในอนาคตก็จะรวมทั้ง 2 กองทุนให้เหลือเพียงกองทุนเดียว” นายอารีพงศ์ กล่าว

นายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการ กยศ.กล่าวว่า กยศ.ได้เตรียมเงินงบประมาณ เพื่อการกู้ยืมในปีการศึกษา 2555 ทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาท และ กรอ.อีก 6 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้ดำเนินการตามนโยบายบายทั้งของกระทรวงการคลัง และกระทรวงศึกษาธิการ ได้บรรลุเป้าหมายได้และรองรับนักศึกษาที่ต้องการกู้ยืมได้ ทั้งของ กยศ.9.7 แสนคน และ กรอ.ซึ่งปีนี้จะเริ่มเฉพาะนักศึกษาปี 1 และกำหนดการชำระคืนเมื่อมีรายได้ถึง 1.6 หมื่นบาทต่อเดือน โดยมีหน้าที่แจ้ง กรอ.ทุกเดือนมีนาคมเหมือนกับกับการยืนเสียภาษี และหากไม่ยื่นแจ้ง กรอ.จะถือว่า รายได้ถึงเกณฑ์ต้องชำระคืน กรอ.

นายธาดา กล่าวว่า มั่นใจว่า การคืนหนี้ของ กรอ.จะไม่เหมือนกับ กยศ.ในอดีต เพราะกำหนดวิชาชีพในการปล่อยกู้ตั้งแต่ต้น ว่า เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และยังเข้มงวดคุณภาพของสถานถานศึกษาด้วย เมื่อจบมาจึงเชื่อว่า จะมีงานทำทันที ต่างจาก กยศ.ที่ไมได้เข้มงวดในประเด็นดังกล่าว ทำให้จากที่ปล่อยกู้ไปกว่า 2.7 แสนรายนั้น ยังมีกว่า 5 แสนรายที่ยังไม่ได้มาชำระคืนเงินกู้กับ กยศ.และในจำนวนดังกล่าวนี้ กว่า 1 แสนราย ค้างชำระหนี้กับ กยศ.มากกว่า 4 ปี ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อไป

“ในอดีตอาจจะเข้าใจว่า รัฐบาลจะไม่ติดตามหนี้คืน จึงพบว่า กยศ.ได้รับการชำระหนี้มาเพียง 60% ของยอดที่ควรจะได้รับ หรือมีการชำระหนี้ประมาณ 78% ของจำนวนนักศึกษาที่ปล่อยกู้ไป และอยู่ระหว่างการติดตามอีก 22% แต่ปัจจุบันมีความเข้าใจกันมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ได้รับคืนเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และปีนี้น่าจะมากขึ้น และ กยศ.เองก็อยู่ระหว่างการทำเกณฑ์ว่า หากค้างมากๆ ไม่ชำระคืนติดต่อกันหลายปีก็จะจัดเป็นหนี้ที่สงสัยจะสูญ และจะเข้มงวดการปล่อยกู้มากขึ้นด้วยการให้นักศึกษาแจ้งยอดเงินที่สถานศึกษาเรียกเก็บ รวมถึงการให้กู้ยืมเงินของ กรอ.ยังผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้” นายธาดา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น