xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการ กยศ.ยัน มหาลัยสวมสิทธิ์เด็กกู้ยืมไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการ กยศ.ยันมหา’ลัย ไม่สามารถสวมสิทธิ์เด็กได้ เหตุเพราะการกู้ยืมจะต้องทำสัญญากันปีต่อปี

จากกรณีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลการตรวจสอบการทุจริตเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ในปี 2549-2550 พบว่า มหาวิทยาลัย วิทยาลัยของรัฐ และเอกชน จำนวน 32 แห่งทั่วประเทศ มีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำทุจริตจริง พบว่า มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง และทำหน้าที่ออกไปชักชวนให้เด็กนักเรียนที่จะกำลังจะจบการศึกษาให้มาสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นๆ แล้วจึงให้นักศึกษาทำสัญญาสมัครกู้ยืมเงิน ซึ่งการตรวจสอบ พบว่า นักศึกษาบางคนกู้ยืมไปแล้ว แต่ไม่ได้เรียนต่อ หลายรายเลิกเรียนกลางคัน และมีจำนวนไม่น้อยมีชื่อหลักฐานแสดงการกู้ แต่เจ้าตัวไม่ได้เรียนจริง และปรากฏว่า มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยดังกล่าวไม่ได้ทำเรื่องยกเลิก ยังใช้ชื่อของนักศึกษาในการขออนุมัติใช้เงินกองทุนอย่างต่อเนื่อง จนมีนักศึกษาหลายร้อยคนได้รับความเดือดร้อน เมื่อได้รับหนังสือทวงหนี้จากธนาคารกรุงไทย เรียกให้ไปชำระหนี้ แต่นักศึกษาปฏิเสธการชำระ เพราะอ้างว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ใช้เงินจำนวนดังกล่าว

นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นในส่วนของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ในปี 2549-2550 โดยเฉพาะปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดกู้ กรอ.และหยุดการให้กู้ กยศ.ไปซึ่งในปีนั้นกองทุนต้องเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้ทันประกอบกับระบบในขณะนั้นยังไม่เรียบร้อยดี ซึ่งการทำงานนั้น กองทุนเปิดให้สถานศึกษาส่งรายชื่อนักศึกษาที่ประสงค์จะกู้ กรอ.พร้อมทั้งยืนยันหลักฐานการกู้มายังกองทุนและมีการทำสัญญากู้ยืม ซึ่งในปี 2549 นั้นมีจำนวนผู้กู้ กรอ.ประมาณ 320,000 คน ซึ่งเป็นปีเดียวที่มีจำนวนนักศึกษากู้จำนวนมาก และในปี 2550 ที่เปิดให้กู้ทางกองทุนก็ได้เตรียมระบบรองรับเรียบร้อยจึงไม่เกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จำนวนผู้กู้ กรอ.ลดลง และมีนักศึกษาบางรายทยอยคืนเงินกลับมายัง กองทุนจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่จำนวนผู้กู้ยืมจะลดลงเพราะอาจจะมีนักศึกษาบางคนที่กู้ยืมในระหว่างที่เรียนอาจจะไม่สามารถเรียนต่อจนจบได้ก็ลาออกไปซึ่งสิทธิในการกู้จะหมดลงไป ทั้งนี้ เพราะตามระบบแล้วกองทุนจะให้สถานศึกษา และผู้ประสงค์กู้ยืมที่เป็นผู้กู้รายเก่ายืนยันสิทธิการกู้พร้อมจัดส่งเอกสารหลักฐาน และท้ายที่สุดต้องทำสัญญาระหว่างกันซึ่งเป็นการปฏิบัติทุกปี จากนั้น กองทุนจะจัดส่งไปเงินไปยังสถานศึกษา เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้จะมีการทำในลักษณะสวมสิทธินักศึกษาที่ออกไปเพื่อที่จะให้กองทุนส่งเงินให้กับมหาวิทยาลัย

ผมทราบเรื่องที่ทางดีเอสไอได้แถลงแล้ว ที่ผ่านมานั้นดีเอสไอ และกองทุนได้ติดต่อประสานงานกันมาตลอด ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเพราะคนที่ได้รับความเดือดร้อนไปร้องเรียน และทุกปีเราต้องมีการยืนยันสิทธิการกู้ยืมและมหาวิทยาลัยก็ต้องยกเลิกสิทธิของผู้ที่ไม่ได้กู้ ซึ่งหากมหาวิทยาลัยจะแอบสวมสิทธิเด็กที่ลาออกไปแล้วโดยไม่ยกเลิกมายังกองทุนเพื่อหวังจะมีสิทธิรับเงินจากกองทุนไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเราต้องทำสัญญากันปีต่อปี” นพ.ธาดา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น