xs
xsm
sm
md
lg

เชือดน้องสุริยาแต่งบัญชีหุ้นปิคนิค ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 12 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำคุก 12 ปี สองผู้บริหารตระกูลลาภวิสุทธิสิน “ธีรัชชานนท์ และ สุภาพร” ฐานตบแต่งบัญชี หุ้น บมจ.ปิคนิค ด้านผู้บริหาร-นิติบุคคลอีก 20 ราย โดนคุก 5 ปีปรับหลักแสน ส่วน “ปรเมษ” หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลให้ออกหมายจับ

วันนี้ (22 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ ผบอ.45/2550 ที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ฟ้อง นายธีรัชชานนท์ ลาภวิสุทธิสิน อดีตกรรมการผู้จัดการ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PICNI), น.ส.สุภาพร ลาภวิสุทธิสิน รองกรรมการผู้จัดการ ทั้งสองเป็นน้องชายและน้องสาวของ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีต รมช.พาณิชย์, นายอนุกูล ตั้งเรืองเกียรติ, นายพิริยะ ถาวร, นายเฉลิมชัย ชุบผา, น.ส.นุชนาฎ ปริกสุวรรณ, นายปรเมษ ละอองสุวรรณ, นายทวีทรัพย์ เกริกเกียรติศักดิ์, นายกฤษณ์ โปรยเจริญ, นายพินิจ พุทธศาสตร์, บริษัท โรงบรรจุแก๊สเทพารักษ์, บริษัท สังข์อ่องก๊าซ, บริษัท อุตสาหกรรม เอ ซี เอส, บริษัท โรงบรรจุแก๊สนครปฐม, บริษัท โรงบรรจุแก๊ส แจ้งวัฒนะ 23, บริษัท ลาดกระบังปิโตรเลียม, บริษัท โรงบรรจุแก๊สยูนิเวอร์แซล, บริษัท ปทุมเกตน์ เทรดดิ้ง, บริษัท บรรจุแก๊สโพรงมะเดื่อ, บริษัท โรงบรรจุแก๊สธรรมศาลา, บริษัท พี.ไพรส์ ซับพลายส์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบริษัท ปิคนิค ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-22 ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-1 ก.ย.47 จำเลยที่ 1 และ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน บริษัท ปิคนิค จำเลยที่ 22 ร่วมกันทำสัญญาเช่าถังแก๊สกับจำเลยที่ 11-20 รวม 42 ฉบับ โดยคู่สัญญาไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันและปฏิบัติตามสัญญา เพื่อนำเงินค่าเช่าไปลงบัญชีเป็นรายได้ของจำเลยที่ 22 ทั้งที่ความจริงไม่ได้มีการเช่าถังแก๊ส และไม่มีการจ่ายเงิน

ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 และ 2 ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้กระทำการบันทึกรายได้ค่าเช่าแก๊สอันเป็นเท็จ ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อลวงให้บุคคลใดๆ เชื่อว่า บริษัท ปิคนิค จำเลยที่ 22 มีรายได้สูงขึ้น สามารถนำไปจ่ายปันผลให้แก่นักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนกับจำเลยที่ 22 โดยมีการนำยอดรายได้ค่าเช่าถังแก๊สมาบันทึกในงบการเงินและยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง และในวันที่ 25 พ.ค.-2 ก.ย.47 จำเลยที่ 1 และ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย สำนักพหลโยธิน ของจำเลยที่ 22 จำนวน 60 ล้านบาท และ 25 ล้านบาท ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีเหตุผล เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ เพื่อตนเองอันเป็นการเสียหายแก่จำเลยที่ 22 เบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 และ 2 วันที่ 17 พ.ย.47-20 เม.ย.48

โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้บันทึกข้อความในรายงานการประชุมคณะกรรมการจำเลยที่ 22 ครั้งที่ 17/2547 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอนุมัติให้ หจก.อรอุมาการก่อสร้าง และจำเลยที่ 21 กู้ยืมเงินซึ่งเป็นเท็จ และจำเลยที่ 1 นำไปลงบัญชีแยกประเภทประจำเดือน ไปยื่นต่อ ก.ล.ต.เพื่อลวงบุคคลใดๆ

ขณะเดียวกัน คดียังปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 22 ส่งงบการเงินรายไตรมาส และงบการเงินประจำปี 2547 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 22 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าถังแก๊สกับจำเลยที่ 11-20 อย่างแท้จริง เมื่อกระทำไปเพื่อตกแต่งบัญชีของจำเลยที่ 22 ให้มีกำไรมาก เพื่อลวงคนทั่วไป โดยส่งงบการเงินประจำปี 2547 แก่ ก.ล.ต.ว่า ในปี 2547 มีรายได้สูงถึง 7,350,500,000 บาท มีกำไร 178,440,072 บาท เมื่อการทำสัญญาเช่าไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาเช่าจริง จำเลยที่ 22 จึงมีความผิดตามฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงยุติ ว่า จำเลยที่ 22 ไม่ได้ให้ หจก.อรอุมาการก่อสร้าง และจำเลยที่ 21 กู้ยืมเงินจริง จำเลยที่ 1 และ 2 จึงไม่ได้เบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตัวเอง

ทั้งนี้ พิพากษา กลับว่า จำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ.2535 มาตรา 56(1) ถึง (3) ประกอบมาตรา 312 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นกรรมการของบริษัทมหาชนจำกัด ร่วมกันทำหรือยินยอมให้ทำบัญชี หรือเอกสารของนิติบุคคลไม่ถูกต้องตรงต่อความ เป็นจริง หรือเป็นเท็จ เพื่อลวงบุคคลใดๆ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษจำเลยที่ 1 และ 2 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 6 ปี รวม 2 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 12 ปี

ส่วนจำเลยที่ 3-21 มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ฐานกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่กรรมการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3-10 เป็นเวลา 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 11-21 ลงโทษปรับบริษัทละ 6 แสนบาท และจำเลยที่ 22 มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ.2535 มาตรา 56(1) ถึง (3) ประกอบมาตรา 274 วรรคหนึ่ง ฐานเป็นบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ไม่รายงานงบการเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อน และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ปรับจำเลยที่ 22 จำนวน 1 แสนบาท สำหรับ นายปรเมษ จำเลยที่ 7 ที่หลบหนีไปไม่มาฟังคำพิพากษาศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น