xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยอ่วมค่าไฟพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “กฟผ.”ส่งสัญญาณรัฐบาลเลิกตรึงค่าไฟ เหตุรับภาระอีกไม่ได้แล้วหลังน้ำมันพุ่งต่อเนื่องคาดทำให้ปี 55 ราคาก๊าซฯมีแต่ขึ้นกระทบให้ค่าไฟส่อขยับตามต่อเนื่อง เผยงวดแรกแบกภาระไป 8,000ล้านบาท งวดใหม่(พ.ค.-ส.ค.55)จ่อขึ้น20-30 สตางค์ต่อหน่วย

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นจะมีผลให้ปี 2555 ทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติจะมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องเพราะสูตรการคำนวณราคาก๊าซฯจะอิงระดับราคาน้ำมันย้อนหลังเฉลี่ย 6 เดือน ดังนั้นจะส่งผลกระทบไปยังต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงหลักกว่า 70% ภาพรวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)จึงมีทิศทางปรับขึ้นตาม ซึ่งกฟผ.คงจะไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะรับภาระในการตรึงค่าไฟในงวดต่อไปได้อีก

“ ค่าเอฟทีงวดที่แล้ว(ม.ค.-เม.ย.55)ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือเรกูเลเตอร์ได้เห็นชอบในการตรึงค่าไฟไว้ซึ่งกฟผ.ต้องแบกภาระ 8,000 ล้านบาททั้งที่ควรจะต้องปรับขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วย เพราะช่วงนั้นเห็นว่าประชาชนกำลังลำบากจากน้ำท่วมซึ่งแน่นอนว่างวดต่อไป(พ.ค.-ส.ค.55)ทิศทางจะต้องปรับขึ้นเมื่อรวมกับของเดิมคงไม่น้อยกว่า 20-30 สตางค์ต่อหน่วยระยะสั้นนี้ไม่ปรับขึ้นบ้างคงเป็นเรื่องยากเพราะถ้าดูน้ำมันแล้วน่าวิตกที่จะมีทิศทางขึ้นมาก”นายสุทัศน์กล่าว

ทั้งนี้ระดับราคาน้ำมันที่คำนวณราคาก๊าซฯเฉลี่ยที่ผ่านมาไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแต่ล่าสุดราคาน้ำมันได้ปรับขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยมาอยู่ที่ 115-120 เหรียญฯต่อบาร์เรลและหากสถานการณ์ความตึงเครียดในอิหร่านยังคงมีอยู่หรือรุกรามก็จะยิ่งกระทบให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกโดยมองว่าราคาน้ำมันจากนี้ไปคงไม่ต่ำกว่าระดับ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรลได้จึงสะท้อนไปยังราคาก๊าซฯที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในปี 2555 บมจ.ปตท.ได้แจ้งการหยุดจ่ายก๊าซฯใน 3 แหล่งสำคัญได้แก่ช่วงแรก 8-17 เม.ย.55 แหล่งเยตากุนหยุดติดตั้งระบบคอมเพรสเซอร์ ช่วงที่ 2 25 พ.ค.-8 มิ.ย.55 แหล่งบงกชหยุดซ่อมบำรุงและช่วงที่ 3 ระหว่าง 1-8 ส.ค. 55 จากแหล่งเอราวัณ โดยแต่ละแหล่งจะส่งผลกระทบให้ปริมาณก๊าซฯหายไปราว 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยกฟผ.ได้เตรียมแผนบริหารจัดการด้วยการหันมาใช้น้ำมันเตาและดีเซลแทน โดยเฉพาะจากแหล่งเยตากุนให้มีการหยุดในช่วงเม.ย.ที่การใช้ไฟฟ้าค่อนข้างต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อค่าไฟให้น้อยสุด

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิตติ์ล่าสุด ณ วันที่ 20 ก.พ. เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำในอ่างเหลือ 74% และสิ้นเม.ย.จะเหลือ 45% ตามแผนซึ่งจะทำให้มีพื้นที่อ่างรับน้ำในฤดูฝนได้ 7,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิตติ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อน 72% สิ้นเม.ย.จะเหลือ 45% ทำให้มีที่ว่างรับน้ำฝนใหม่ได้ 5,300 ล้านลบ.ม. โดยการบริหารน้ำจะเน้นป้องกันน้ำท่วมเป็นสำคัญและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับการพิจารณาข้อมูลและผลวิเคราะห์ต่างๆ รอบด้านโดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ คณะทำงานจัดทำแผนการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลักและแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศปี 2555 และเห็นชอบโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

นายสุทัศน์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี)ที่กฟผ.จะต้องก่อสร้าง 9 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 800 เมกวัตต์นั้นล่าสุด โรงแรกจะต้องเข้าระบบจ่ายไฟในปี 2562 ทำให้ยังมีเวลาในการก่อสร้าง 7 ปีแต่ภายในปี 2555 นี้จะต้องสรุปหาพื้นที่ให้ได้ซึ่งกฟผ.ได้พิจารณาทางเลือกไว้ 14-15 แห่งเนื่องจากต้องใช้ถ่านหินนำเข้าจึงต้องติดทะเลและจะต้องมีน้ำลึก 6-10 เมตรขณะนี้พยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น