xs
xsm
sm
md
lg

โธ่! ก็แค่นายกรัฐมนตรีหนีประชุมสภาไปพบผู้ชายที่โรงแรม!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นักข่าวประจำทำเนียบฯ คนหนึ่งอดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมเมื่อบ่ายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ทีมงานทั้งตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยได้แจ้งให้นักข่าวทราบว่า ไม่ต้องตามขบวนรถของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นภารกิจส่วนตัว เมื่อถามว่าภารกิจส่วนตัวคืออะไร เหตุใดจึงไม่ให้นักข่าวตามไป นักข่าวได้รับคำตอบว่า:

“ไปทำผม!!?”

ยิ่งทำให้นักข่าวงงงวยมากขึ้นว่าเหตุใดจึงไปทำผมในช่วงเวลาราชการในเวลาบ่าย ทั้งๆ ที่มีการประชุมรัฐสภาในวันดังกล่าวด้วย?

นักข่าวเมื่อได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นนี้ ย่อมสงสัยเกิดคำถามว่าการไปทำผมนั้น มันเป็นความลับที่นักข่าวไม่ควรล่วงรู้ ใช่หรือไม่ ว่าเธอทำผมร้านไหน? ทำทรงอะไร? และใครทำผมให้?

ภารกิจในช่วงบ่ายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 จึงย่อมเป็นภารกิจที่ไม่ต้องการให้นักข่าวตามไป และไม่ต้องการให้รู้ เพราะนักข่าวในวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ไม่สามารถจะรู้เหตุผลที่แท้จริงในการใช้เวลาราชการในวันดังกล่าวได้เลย แสดงว่าไม่ได้ต้องการให้มีการเปิดเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภารกิจดังกล่าว อย่างแน่นอน และด้วยเหตุผลการไปครั้งนี้จึงย่อมมีพิรุธที่ชวนให้สงสัย ส่วนเหตุผลที่เกิดขึ้นในภายหลังนั้นก็ล้วนแล้วแต่เพิ่งจะมาอธิบายกันไม่กี่วันนี้เอง และต่อให้สมมติว่าเป็นเหตุผลที่พยายามกล่าวอ้างกันตอนนี้จริง ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะต้องปิดเป็นความลับโดยห้ามนักข่าวติดตามไปในวันดังกล่าว

และข้อสำคัญภารกิจในการเดินทางไปในเวลาราชการเช่นนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย่อมแสดงว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าการประชุมสภา เพราะความจริงนายกรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะเชิญแขกผู้มีเกียรติทั้งภาครัฐเอกชนมาร่วมประชุมหารือที่ทำเนียบรัฐบาลได้อย่างไม่ยากเย็น

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ถือเป็นครั้งแรกที่นักข่าวได้สอบถามหลังจากนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ซึ่งได้เปิดประเด็นว่าถูกทำร้ายแล้ว (หลังจากที่เขียนเฟสบุ๊คเล่าถึงเหตุการณ์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขึ้นไปข้างบนกับใครคนหนึ่ง) โดยนักข่าวสอบถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ได้เจอกับนายเอกยุทธ หรือเปล่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แต่อมยิ้มและไม่ตอบคำถามใดๆ

คำถามก็คือถ้าเรื่องมันง่ายๆ และไม่มีอะไรมากมายอย่างที่พยายามจะอธิบายกันในช่วงหลังนี้ เหตุใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ตอบคำถามเช่นนี้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 !?

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 คนที่ไม่ได้เดินทางขึ้นไปด้วยอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กลับมาตอบคำถามแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยิ่งมีพิรุธสงสัยมากขึ้นไปอีกว่า เหตุใดถ้าไม่มีเรื่องอะไร ทำไมถึงไม่ตอบเอง แต่กลับให้คนอื่นที่ไม่ได้เดินทางไปด้วยมาตอบแทน?

ยังมีข้อสงสัยหนักขึ้นไปอีก เพราะในวันเดียวกันนั้นเกิดเหตุการณ์ตกม้าตายที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไประบุให้ข่าวว่า:

“ชั้น 7 เป็นห้องประชุม นายกฯ ก็ไปประชุม ทั้งนี้ผมไม่ได้ขอกล้องดูบริเวณชั้น 7 เพราะไม่ใช่หน้าที่ของผม และมีคนอยู่ในห้องประชุม 7- 9 คน และผมไม่รู้ว่าชั้น 7 เขาประชุมเรื่องอะไร ต้องให้นายกรัฐมนตรีชี้แจง”

ในขณะที่วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับให้สัมภาษณ์สวนไปอีกทางหนึ่งว่าไม่ได้ไปประชุมเมื่อถูกนักข่าวถามตามที่ ร.ต.อ.เฉลิมให้ถามนายกรัฐมนตรีว่าไปประชุมเรื่องอะไร โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งว่า:

ไม่ได้ประชุม ในฐานะนายกฯ ก็สามารถไปเจอกับใครก็ได้ ที่สำคัญไปในสถานที่เปิดเผย ไม่เสียหายด้วย... ดิฉันเองก็อดทน จะอดทน ก็เชื่อว่าผู้ที่ฟังอยู่ก็คงจะพิจารณาเอง เราเองเราเป็นผู้หญิงก็ยืนยันว่าเราเองไม่ทำอะไรเสียหายหรอกค่ะ”

จริงอย่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเอาไว้ เชื่อว่าผู้ที่ฟังอยู่ก็คงจะพิจารณาเอง ดังนี้

1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ภารกิจนี้ไม่ใช่การประชุม คำถามจึงมีอยู่ว่าถ้าไม่ประชุมแล้วไปทำอะไร? หรือจริงๆ แล้วมีการประชุมแต่ไม่สามารถบอกให้ประชาชนได้รู้ได้เพราะเป็นเรื่องที่ปกปิดและเป็นความลับ? หรือคิดจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใดจนไม่สามารถเปิดเผยได้?

2. ไปในเวลาราชการและหนีการประชุมสภา

3. ห้ามนักข่าวตามไป

4. นายเอกยุทธซึ่งในเฟสบุ๊ครายงานว่านายกรัฐมนตรีขึ้นไปข้างบนกับผู้ชายคนหนึ่ง และบังเอิญที่นายเอกยุทธถูกทำร้ายร่างกายในเวลาต่อมาไม่กี่นาที

5. น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถตอบนักข่าวได้ชัดเจนตั้งแต่วันแรกๆ ว่าไปเจอใครและเรื่องอะไร

6. ต้องให้คนอื่นตอบแทน โดยที่ตัวเองไม่ตอบเหตุผลต่างๆ เสียเองตั้งแต่วันแรก ทำให้เหตุผลเกิดขัดแย้งกันเอง

นี่เป็นพิรุธที่เกิดขึ้นจาก 3 วันแรกเท่านั้น!!!

และความจริงที่ง่ายที่สุดและจะทำให้ประชาชนหายเคลือบแคลงสงสัยได้ดีที่สุดประการหนึ่งก็คือข้อเสนอของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่ท้าทายให้เปิดเทปกล้องวงจรปิดในชั้น 7 ว่า นายกรัฐมนตรีไปชั้น 7 หรือไม่ พูดหรือทำอะไรกับใคร กี่คน และใช้เวลาเท่าไหร่ และไปไหนต่อหรือไม่ เพียงทำแค่นี้เรื่องก็จะหมดข้อสงสัยในหลายประเด็นไปโดยทันที อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาพลักษณ์และความโปร่งใสของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเอง จริงหรือไม่?

เว้นเสียแต่ว่ามันมีอะไรที่มากกว่านั้น จึงไม่ต้องการที่จะเปิดเผยออกมาได้!!!

เพราะถ้าพ้นจากเรื่องนี้แล้วก็ยังมีคำถามต่อว่าในเวลาราชการนายกรัฐมนตรีหนีการประชุมสภาไปพบกับใคร และเรื่องอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเจรจาที่ห้ามนักข่าวตามนั้น เป็นการเจรจากับนักธุรกิจเพียงคนเดียว หรือเพียงไม่กี่คน ก็ย่อมเกิดคำถามตามมาได้ว่าเหตุใดนักธุรกิจกลุ่มอื่นไม่สามารถที่จะเข้าร่วมการพูดคุยนั้นได้ และเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงต้องเดินทางออกจากทำเนียบฯ พบกับนักธุรกิจคนเดียวหรือบางคนที่โรงแรมแห่งนี้?

หลังจากเกิดพิรุธมากมาย สื่อมวลชนได้พุ่งเป้าการเปิดประเด็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หนีการประชุมสภา หนีออกจากทำเนียบฯ และห้ามนักข่าวตามเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 นั้น ได้ไปพบกับผู้ชายนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหาร แสนสิริกรุ๊ป

ทั้งนี้หลังวันเกิดเหตุผ่านไป 9 วัน ไม่มีคำตอบชัดเจนใดๆ ทั้งสิ้น ในที่สุดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารแสนสิริกรุ๊ป ได้กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตกเป็นข่าวความตอนหนึ่งว่า:

“ในระหว่างการร่วมงานเปิดตัวพรีเซลโครงการแสนสิริชั้น 5 สยามพารากอนว่า ได้พบนายกฯ ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์จริง แต่เป็นการเข้าพบกันหลายคนเป็นกลุ่ม 6-7 คน ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในหลายเรื่องหลายประเด็น ทั้งเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย การเงิน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่า ผมอยากให้ทุกฝ่ายให้เกียรติท่านนายกฯ โดยเฉพาะเป็นสุภาพสตรีด้วย และเป็นนายกฯ ประเทศไทย ส่วนเรื่องดังกล่าวก็เป็นไปตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยให้ข่าวไปแล้ว”

เฉพาะข้อมูลนี้ก็เกิดความขัดแย้งกับข้อมูลเดิมอีกแล้วคือ:

1. นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ว่าไม่ได้ไปประชุม แต่เนื้อหาที่นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 นั้นกลับเข้าข่ายเป็นลักษณะการประชุม

2. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า “มีคนอยู่ในห้องประชุม 7- 9 คน” แต่ในขณะที่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 นายเศรษฐากลับระบุว่า “มีคนอยู่ในห้อง 6-7 คน”

3. หากมีการพูดคุยตามที่นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์เป็นความจริง ก็ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะห้ามนักข่าวติดตามไป หรือปิดบังเอาไว้ถึง 9 วัน โดยปล่อยให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย อีกทั้งยังน่าจะเป็นเรื่องที่ดีเสียด้วยซ้ำที่นายกรัฐมนตรีไปพบปะนักธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง

4. เกียรติในความเป็นสุภาพสตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรเริ่มต้นที่ทั้งสองฝ่าย ทั้งนายกรัฐมนตรี และนายเศรษฐา หากนายเศรษฐาเห็นเรื่องเกียรติของสุภาพสตรีที่เป็นนายกรัฐมนตรีจริง ก็ควรจะไปพบนายกรัฐมนตรีในเวลาราชการอย่างเปิดเผยโปร่งใส มิใช่มาพบกันที่โรงแรมในเวลาราชการและหนีการประชุมสภาออกมา โดยที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ยืนยันได้ว่ามีการประชุมกันชั้นไหน และหัวข้ออะไร และเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มที่เจรจาหรือไม่?

ล่าสุดสื่อมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2555 ได้ลงข่าวโดยอ้างแหล่งด้วยข้อความว่า:

“แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซันส์ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารแสนสิริ กรุ๊ป ออกมายอมรับว่ามีการพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จริง แต่เป็นการพบปะกันเป็นกลุ่ม ไม่ใช่ 2 ต่อ 2 นั้น เป็นเรื่องจริง เพราะการพบปะครั้งนั้น มีการนัดหมายล่วงหน้ากับกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ซึ่งนายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีก 1 คน ที่รับทราบนัดหมายร่วมคณะด้วย รวมถึงบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร ก็รับทราบด้วยเช่นกัน แต่จะส่งตัวแทนร่วมหารือหรือไม่ ไม่ทราบ นอกจากนี้ ยังมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมพบปะหารือด้วย โดย 1 ในหัวข้อที่มีการพูดคุยกันคือเรื่องราคาประเมินที่ดินใหม่ในปี 2555 ที่จะประกาศราคาออกมาประมาณต้นเดือนกรกฎาคมนี้ รวมถึงแผนผังเมืองใหม่ด้วย

ถ้าหากมีการพบปะกันในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเพียงไม่กี่รายเป็นความจริง หัวข้อที่พูดกันในเรื่องราคาประเมินที่ดิน และแผนผังเมืองใหม่นั้น ถือได้ว่าอาจจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือสามารถเจรจาได้มากกว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนผังเมืองใหม่นั้น อาจโยงใยกับการสร้างฟลัดเวย์ที่จะเปลี่ยนพื้นที่รับน้ำออกไปในภาคตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ย่อมหมิ่นเหม่ต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจเพียงไม่กี่รายที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลได้ ใช่หรือไม่?

ถ้าเป็นด้วยเหตุผลนี้ก็จะทำให้พิรุธที่ดูขัดแย้งมากมายที่กล่าวมาข้างต้นได้รับคำตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผลสอดรับมากขึ้น ทั้งการห้ามนักข่าวเดินทางไปทำข่าว การไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อ 6-7 คนที่เข้าร่วมประชุม หรือการระบุของนายกรัฐมนตรีปัดว่าไม่ได้มีการประชุมกัน ฯลฯ

หรือในทางตรงกันข้าม หากข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นการปั้นเรื่องเล่าความเท็จ แต่เป็นการพบกันเรื่องส่วนตัว 2 ต่อ 2 ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับนายเศรษฐา ก็จะอธิบายด้วยเหตุการณ์พิรุธต่างๆ ข้างต้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีใช้เวลาราชการและไม่เข้าประชุมสภาแล้วไปทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งข้างต้นแล้ว ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของสื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนทั่วไปย่อมจะมีสิทธิรู้ความจริงที่เกิดขึ้น!?

เพราะการตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการจำกัดเรื่องเพศ และการตรวจสอบพฤติกรรมความไม่โปร่งใสและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่มีสายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ถูกจำกัดในเรื่องเพศเช่นกัน

ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 30 วรรค 2 ว่า:

“ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน”

ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่มีสิทธิอ้างเรื่อง “เพศ” ของตัวเองที่จะได้รับอภิสิทธิ์ให้ยกเว้นการถูกตรวจสอบได้เลย เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงก็เรียกร้องสิทธิให้ทัดเทียมกับผู้ชายมาโดยตลอดมิใช่หรือ จนวันนี้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ดังนั้นไม่ว่าเพศหญิงหรือชาย หากเป็นนายกรัฐมนตรีหรือนักการเมืองแล้วต้องพร้อมยอมรับการตรวจสอบได้แม้กระทั่งเรื่องจริยธรรม และนายกรัฐมนตรีไม่ว่าหญิงหรือชายก็ควรจะชี้แจงให้ประชาชนได้หมดข้อกังขาที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย

แต่ถ้ามัวแต่ไม่ชี้แจง ตอบคำถามไม่ได้ ทำตัวลับๆ ล่อๆ แล้วยังไม่ตอบคำถามประชาชน ไม่พร้อมถูกตรวจสอบ โดยเอาเพศมาอ้างแล้ว...จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไปทำไม?
กำลังโหลดความคิดเห็น