xs
xsm
sm
md
lg

ต้องรออีก 100 ปี

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีกระแสวิจารณ์การปกครองมากขึ้น ก่อนหน้านั้นคือประมาณ พ.ศ. 2427 ก็เคยมีคณะเจ้านายและข้าราชการเสนอให้มี “คอนสติติวชั่น” มาในสมัยหลังๆ เทียนวรรณออกหนังสือมาวิจารณ์การปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตำหนิศาลยุติธรรม และเจ้าหน้าที่มากกว่า จะมีการพูดถึงระบอบบ้างก็เพียงแต่เสนอว่าควรมี “ปาลิเมนต์” ให้ราษฎรตั้งตัวแทนมาแสดงความเดือดร้อนความคับข้องใจได้

พอถึงสมัยรัชกาลที่ 6 กระแสการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รุนแรงขึ้นถึงขั้นมีการคบคิดกบฏ ดังที่รู้จักกันในนาม “กบฏหมอเหล็ง” หรือกบฏ ร.ศ. 130 แสดงว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่เคยปลอดจากการวิพากษ์วิจารณ์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อเสด็จฯ กลับจึงมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่สำคัญก็คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีความใกล้ชิดกับขุนนางมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในแง่ที่ว่าทรงโปรดการเล่นละคร และการจัดงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานราตรีสโมสร หรืองานแสดงภาพวาดและเก็บเงินบำรุงการกุศล

ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระมหากษัตริย์จะเป็นที่เกรงขาม ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางเป็นแบบทางการ พอถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ขุนนางมีโอกาสรับใช้ใกล้ชิด และร่วมงานต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระราชดำริที่เป็นเสรีนิยมหลายอย่าง เช่น การส่งเสริมสถานภาพของสตรี การให้มีภรรยาคนเดียว (ทีละคน) การให้มีหนังสือพิมพ์ และการวิพากษ์วิจารณ์กิจการบ้านเมืองได้ โดยทรงโต้ตอบด้วย อย่างเช่นกรณีบทความ “โคลนติดล้อ” และ “ล้อติดโคลน” เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงนำสิ่งใหม่ๆ มาเป็นเรื่องยากสำหรับเมืองไทย จึงทรงพระราชนิพนธ์ทั้งบทความ และบทละครหลายบทในการสอนคน รวมทั้งการสร้างเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” และทรงให้มีการปกครอง การเลือกตั้งผู้บริหารด้วย เท่ากับเป็นการ “เรียนผ่านการเล่น”

แต่ที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากก็คือ ทรงสถาปนาเสือป่าขึ้น มูลเหตุสำคัญก็คือ ทรงเห็นว่าการป้องกันประเทศควรเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ดังนั้นจึงให้ข้าราชการได้คุ้นเคยกับการป้องกันประเทศ เป็นที่มาของการรักษาดินแดน ในระดับเด็กก็มีการจัดตั้งลูกเสือขึ้น การมีเสือป่าทำให้ทหารไม่พอใจ และเป็นเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความพยายามที่จะก่อการกบฏขึ้น

ในสมัยนี้ ขุนนางได้ทั้งยศ ตำแหน่ง และได้รับพระราชทานบ้านและที่ดินจำนวนมาก พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ทรงใจดี

ความใกล้ชิดนี้เองที่นำไปสู่การลดลงในความศักดิ์สิทธิ์แบบดั้งเดิมขององค์พระมหากษัตริย์ สถาบันจึงเริ่มคลอนแคลน นอกจากนั้น ยังมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อีกหลายพระองค์ซึ่งมีอำนาจ พวกทหารและขุนนางจึงเริ่มแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย แม้แต่ระหว่างเจ้านายเองก็มีการแตกแยก เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ จึงทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้น มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์เป็นอภิรัฐมนตรีสภา เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นใหม่

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีการ “เปิดเสรี” ทางการเมืองค่อนข้างมาก การที่มีผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้แวดวงปัญญาชนขยายตัวมากกว่าในอดีต

ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกิจการมหาดไทย คือ การโอนการตั้งข้าหลวงให้มาขึ้นอยู่กับกระทรวงมุรธาธร แทนที่จะให้กระทรวงมหาดไทยดูแล ดังนั้นความคิดที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ นอกจากนั้นยังมีการตั้งมณฑลอีกหลายมณฑล

จะเห็นได้ว่าเมืองไทยเป็นสังคมที่เปิดมานานแล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมิใช่ระบอบที่มีอำนาจล้นพ้นเด็ดขาดแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพยายามที่จะกระชับการบริหารบ้านเมืองหลายครั้ง แม้แต่การดำริที่จะให้มีนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

การเกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ขึ้น ก็เป็นผลพวงของ “การเปิดเสรี” นี้เอง ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นเพียงตัวเร่ง แต่การนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้โดยมีผู้แทนราษฎรเป็นปัญหา เพราะในสังคมตะวันตกนั้น มีการก่อตั้งกลุ่มต่างๆ และพรรคการเมืองที่คอยคานอำนาจกัน ของเราไม่มี กองทัพจึงเป็นกลุ่มอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุด

เราต้องผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย จนสังคมไทยมีการพัฒนาเกิดกลุ่มประชาชนมากขึ้น ดังนั้นระบอบประชาธิปไตยจึงเพิ่งจะเริ่ม และยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งมีความขัดแย้ง เพราะมีความพยายามของนักการเมืองที่จะยึดอำนาจรัฐ ในสังคมตะวันตก ประชาธิปไตยจะเป็นไปได้เมื่อรัฐเป็นกลาง คอยเป็นกรรมการดูแลการแข่งขันระหว่างผลประโยชน์ต่างๆ

คงต้องรออีกนานกว่าเราจะลงตัว เวลาอีก 100 ปีที่ไม่นานเลย ที่เราจะหวังให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น