xs
xsm
sm
md
lg

วาระร้อนประชุม สกสค.พรุ่งนี้ จับตา “สันติภาพ” ขายที่ดินคุรุธานีขัดมติบอร์ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.
จับตาวาระร้อนประชุมบอร์ด สกสค.พรุ่งนี้ ผอ.องค์การค้าฯ เอาที่ดิน 48 ไร่ ที่สุราษฎร์ฯ ที่ซื้อไว้เมื่อ 20 ปีก่อนไปขายให้เอกชนโดยพลการ ขัดกับมติบอร์ดที่ให้พัฒนาโครงการเพื่อให้ครูได้ซื้อบ้านราคาถูก เผย งุบงิบขายไม่ประกวดราคา อ้างต้องการเงินเพื่อแก้สภาพคล่อง แต่ได้เงินมาก่อนแค่ 3 ล้าน อีก 44 ล้าน ต้องรออีก 9 เดือน วัดใจ “ศศิธารา” กล้าตั้งกรรมการสอบ “สันติภาพ” หรือไม่

วันนี้ (25 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญวาระหนึ่ง คือ การพิจารณากรณีที่ นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.(หรือ องค์การค้าคุรุสภาเดิม) ขายที่ดินขององค์การค้าฯ 48 ไร่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เอกชน ว่า ขัดกับมติคณะกรรมการที่เคยมีมติให้นำที่ดินผืนนี้ไปพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้ครูหรือไม่

ทั้งนี้ ที่ดินผืนดังกล่าวแยกเป็น 2 แปลง ตั้งอยู่ที่ ต.ขุนทะเล อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี อยู่ในซอยข้างสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4009 สุราษฎร์ธานี-นาสาร ประมาณ 1.54 กิโลเมตร องค์การค้าคุรสภาซื้อมาเมื่อปี 2534 ในราคารวม 12 ล้านบาท ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการองค์การค้าคุรุสภาในขณะนั้น ที่ให้องค์การค้าคุรุสภาไปหาซื้อที่ดิน เพื่อมาทำโครงการคุรุธานี พัฒนาโครงการบ้านและที่ดินขายให้กับสมาชิกครู โดยกันเงินกำไรร้อยละ 25-30 ไปซื้อที่ดินแปลงใหญ่ๆ มาได้ทั้งหมด 10 แปลง กระจายอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี และ ลำปาง ฯลฯ

เวลาผ่านไปสิบกว่าปี โครงการพัฒนาที่ดินเหล่านี้ดำเนินไปด้วยดี เหลือเพียงที่ดินที่จังหวัดร้อยเอ็ด 49 ไร่ และที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 แปลงนี้ที่ยังถูกปล่อยทิ้งไว้ ไม่มีการดำเนินการใดๆ จนถึงเดือนพฤษภาคม 2551 คณะกรรมการองค์การค้าฯ มีมติให้ องค์การค้าของ สกสค.ดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด และสุราษฎร์ธานี โดยผู้บริหารขององค์การค้าฯ ได้เสนอแผนพัฒนา 2 รูปแบบ คือ 1.จัดสรรที่ดินขาย ซึ่งที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดสรรได้ 250 แปลง ขายแปลงละ 5 แสนบาท ถ้าขายหมดจะได้รับเงินทั้งสิ้น 125 ล้านบาท และ 2.ร่วมทุนกับเอกชน นำที่ดินมาสร้างบ้านขาย 250 ยูนิต ราคายูนิตละ 1.5 ล้านบาท ได้รับเงินทั้งสิ้น 375 ล้านบาท หักค่าก่อสร้าง ส่วนแบ่งสำหรับเอกชนที่มาร่วมทุน ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้ว องค์การค้าฯ จะได้รับส่วนแบ่งประมาณ 95 ล้านบาท

ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 คณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค.มีมติให้กำหนดรูปแบบโครงการ และวิธีการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน พร้อมกับประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทุน นอกจากที่คณะกรรมการฯยังได้เสนอแนะทางเลือก โดยให้เอกชนยื่นซองเสนอราคาซื้อเหมาทั้งโครงการ โดยองค์การค้าของ สกสค.จะได้รับประโยชน์ครั้งเดียวเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากคณะกรรมการมองว่า หากองค์การค้าฯ ขายบ้านเป็นหลังๆ จะใช้เวลานาน และแต่ละครั้งจะได้รับเงินเป็นจำนวนไม่มากพอที่จะไปแก้ปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้ ราคาขายที่ตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านบาท เป็นราคาที่สูงพอสมควร หากจะทำเป็นสวัสดิการให้กับครู ควรจะมีราคาถูกกว่าโครงการใกล้เคียง และควรทำแบบบ้านให้เลือก 2-3 แบบ พร้อมกำหนดราคาเริ่มต้นตั้งแต่ยูนิตละ 1.2 ล้านบาท หรือ 1.3 ล้านบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการพัฒนาที่ดินที่จังหวัดสุราษฎ์ธานีเงียบหายไปพักใหญ่ ระหว่างนั้นประมาณกลางปี 2553 มีการเปลี่ยนแปลงผู้อำนวยการองค์การค้าฯ โดย นายสันติภาพ ได้รับการสรรหาและคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 อีกหนึ่งปีถัดมา นายสันติภาพ ก็ไปลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 48 ไร่ ซึ่งแยกเป็น 2 แปลงให้กับ นางสาวจตุพร รัตนวิสาลนนท์, นางสาวปนัยกร สินธุเสน และ นายเฉลิมชัย เสถียรคุณ ในราคา 47 ล้านบาท โดยจ่ายในวันทำสัญญาเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น อีก 44 ล้านบาท นายสันติภาพ ยอมยืดเวลาให้จ่ายนานถึง 9 เดือน ซึ่งสัญญานี้ทำกันในวันที่ 27 กันยายน 2554 ในวันเดียวกันนั้น ฝ่ายพัฒนาทรัพย์สิน สำนักบริหารสินทรัพย์ องค์การค้าฯ ได้ทำหนังสือถึงนายสันติภาพ ในฐานะผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ขออนุมัติให้ผู้ซื้อยืมโฉนดที่ดิน และขอหนังสือมอบอำนาจไปดำเนินการบ่างแยกที่ดินในนามเดิม ซึ่งได้รับอนุมัติจากนายสันติภาพทันที และ นางสาวจตุพร ก็มารับโฉนดที่ดิน 2 ฉบับไปในวันเดียวกันนั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า รายงานการขายที่ดิน 48 ไร่ อย่างเงียบเชียบเร่งด่วนเช่นนี้ ทำให้มีข้อสงสัยตามมามากมาย เช่น 1.นายสันติภาพ อาศัยอำนาจใด จึงกล้าตัดสินใจ ลงนามขายที่ดินผืนดังกล่าวไป 2.การขายที่ดินนี้ ขัดกับมติคณะกรรมการ สกสค.ที่ให้องค์การค้าฯ ประกาศเชิญชวนเอกชนมาพัฒนาโครงการหรือไม่ เพราะเป็นการขายที่ดินเปล่าให้กับเอกชน 3.ไม่ปรากฏว่าองค์การค้าฯ ประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจทั่วไป มาเสนอราคาประมูลซื้อที่ดินผืนดังกล่าว เพื่อให้องค์การค้าฯ ได้เปรียบเทียบ และตัดสินใจเลือกผู้ซื้อที่เสนอราคาที่ดีที่สุด แต่กรณีนี้ มีผู้ซื้อเพียงรายเดียวเท่านั้น และ 4.ผู้ซื้อเป็นใครมาจากไหนไม่มีใครรู้ ไม่มีประวัติว่าเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด จึงเข้าข่ายว่าอาจจะเป็นนอมินีให้ผู้บริหารในองค์การค้าฯ เอง

ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2554 นายสันติภาพ จึงได้ทำหนังสือชี้แจงถึง นายเกษม กลั่นยิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีออกไป ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค.ครั้งที 3/2553 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 มีมติรับทราบว่าที่ดินแปลงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ใช่ที่ราชพัสดุและได้มอบหมายให้องค์การค้าฯ ไปกำหนดรูปแบบโครงการ, วิธีการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน และประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้ารวมโครงการ พร้อมกับเสนอแนะองค์การค้าฯ พิจารณาให้เอกชนเข้ามาซื้อเหมาทั้งโครงการ โดยองค์การค้าได้รับผลประโยชน์ในครั้งเดียวซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ทางองค์การค้าฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้ผู้สนใจทราบมาจนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากองค์การค้าของ สกสค.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้น การแปลงสินทรัพย์ที่มีให้เป็นทุนแทนการกู้ยืมเงินจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ได้ และเมื่อมีผู้แสดงความประสงค์จะซื้อที่ดินขององค์การค้าฯในราคา 47 ล้านบาท เปรียบเทียบกับต้นทุนเดิมซื้อมาในราคา 12 ล้านบาท, ราคาประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราฎร์ธานีอยู่ที่ 5.2 ล้านบาท และราคาซื้อขายที่บริษัทเอกชนประเมินเมื่อปี 2553 อยู่ที่ 25 ล้านบาท จากราคาที่ผู้ซื้อเสนอเข้ามาสามารถช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินขององค์การค้าฯ ได้ โดยไม่ต้องกู้ยืมเงินจากภายนอก จึงได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับผู้เสนอซื้อ

อย่างไรก็ตาม หนังสือชี้แจงของนายสันติภาพ ไม่อาจลบล้างข้อสงสัยข้างต้นได้ เพราะมติคณะกรรมการ สกสค.ที่ นายสันติภาพ อ้างถึงนั้น สั่งให้นำที่ดินไปพัฒนาเป็นโครงการ ทั้งในรูปแบบของการร่วมทุน หรือจะให้ภาคเอกชนเข้ามาซื้อเหมาไปทั้งโครงการ ซึ่งคณะกรรมการ สกสค.ไม่ได้มอบหมายให้นำที่ดินไปขาย แถมยังไม่มีประกาศประกวดราคาแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าราคาที่ผู้ซื้อทั้ง 3 คนเสนอราคาเข้ามาเป็นราคาที่องค์การค้าฯจะได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ไม่ได้ระบุว่า จะนำที่ดินแปลงนี้ไปพัฒนาเป็นโครงการเคหะสงเคราะห์ขายให้สมาชิกคุรุสภาหลังละ 1.5 ล้านบาทตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการ สกสค.หรือร่วมทุนกับผู้ซื้อพัฒนาโครงการ หรือขายเหมายกโครงการ แต่เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินปกติ

“การขายที่ดินครั้งนี้ หากจะมีเหตุผลเดียวที่ฟังขึ้นคือ องค์การค้าฯ ต้องการเงินสด เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาสภาพคล่องการเงิน ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมย์เดิมที่ให้ไปสร้างบ้านให้กับสมาชิกครู แต่การขายที่ดินครั้งนี้ องค์การค้าฯ จะได้รับเงินก้อนแรกไปเสริมสภาพคล่องแค่ 3 ล้านบาท ส่วนอีก 44 ล้านบาท ต้องรออีก 9 เดือน จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องอย่างที่นายสันติภาพอ้างแต่อย่างใด นอกจากนี้ที่ดินผืนนี้มี 2 แปลง ในสัญญาข้อ 10 ได้เปิดช่องให้ผู้ซื้อสามารถเลือกโอนแปลงหนึ่งแปลงใดก่อนได้ แต่ต้องจ่ายเงินเกินกว่ากึ่งหนึ่ง กรณีนี้หากผู้ซื้อเลือกโอนกรรมสิทธิ์จะเฉพาะแปลงที่มีทำเลดี อีกแปลงไม่มาขอรับโอนกรรมสิทธิ์ภายในครบกำหนดเวลา หรือบอกเลิกสัญญาหลังจากที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วแปลงหนึ่ง เท่ากับองค์การค้าฯ ขายที่ดินได้แค่แปลงเดียวจะทำอย่างไร” รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กรณีนี้สร้างความอึดอัดใจให้กับกรรมการ สกสค.หลายราย ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างมาก เพราะชัดเจนว่าการขายที่ดินครั้งนี้ขัดกับมติบอร์ด และนายสันติภาพตัดสินใจเองโดยพลการ แต่เนื่องจากประธานบอร์ด สกสค.คือ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีความสนิมสนมกับนายสันติภาพ และไม่เคยแสดงท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้

“กรรมการหลายคน อยากให้การประชุมบอร์ดวันนี้ระงับการขายที่ดินไว้ก่อน แล้วตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่ไม่รู้ว่าปลัดจะเอาด้วยไหม” รายงานข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น