xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.เบรกแต่งตั้งขรก.DSI "ธาริต"มั่วนิ่มเลือกลูกน้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 10 ก.พ.) ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ในคดีที่นายพลพิพัฒน์ เอกจิตต์ นายสมเกียรติ เพชรประดับ และพวกรวม 31 คน ที่เป็นข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ( ดีเอสไอ) ฟ้องอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศาลฯ มีคำสั่งให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระงับการออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ และตำแหน่งเจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ตามประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ลงวันที่ 15 ส.ค.54 ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ การมีคำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องจาก นายพลพิพัฒน์ นายสมเกียรติ และพวกได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอน ประกาศเรื่อง รับสมัครคัดเลือกข้าราชการที่จะเข้ารับการประเมินผลงาน เพื่อเลื่อนระดับ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ จำนวน 60 ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการพิเศษจำนวน 24 ตำแหน่ง และประกาศ เรื่อง การรับสมัครคัดเลือกและประเมินความรู้ความสามารถข้าราชการ เพื่อย้ายเปลี่ยนสายงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบ
สวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ จำนวน 20 ตำแหน่ง รวมทั้งเพิกถอนรายชื่อข้าราชการผู้ผ่านการคัดเลือกจากประกาศดังกล่าว และคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการให้รักษาการในตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ประกาศคัดเลือกข้าราชการทั้ง 3 ประเภทมีความแตกต่างกัน แต่กลับใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน ในการสอบคัดเลือก แสดงให้เห็นว่า ผู้ออกข้อสอบไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถผู้สมัคร ที่มีความแตกต่างกันตามตำแหน่งและระดับ ไม่คำนึงถึงลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง และ อธิบดี ดีเอสไอ เป็นผู้ออกข้อสอบ และตรวจข้อสอบทั้ง 3 ประเภท โดยมิได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือก รวมทั้งยังมีข้อสังเกตว่า บุคคลใกล้ชิดหรือ ทีมงานหน้าห้องผู้บริหารดีเอสไอ สอบผ่านข้อเขียนทุกคน จึงเห็นว่าการสอบครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย
ส่วนที่ศาลฯ มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาระบุว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ดีเอสไอ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อดำเนินการตามประกาศคัดเลือกข้าราชการทั้ง 3 ประเภท แล้ว แต่ อ.ก.พ. ดีเอสไอ ได้มอบหมายให้อธิบดีดีเอสไอเป็นผู้ออกข้อสอบและตรวจสอบข้อสอบเพียงผู้เดียว โดยไม่ได้ดำเนินการในรูปคณะกรรมการ ซึ่งเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร.1006/ว7 ลงวันที่ 6 มี.ค.52 และที่นร.1006/ว10 ลงวันที่ 15 ก.ย.48 ที่กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินบุคคลดังกล่าว ก็เพื่อให้การประเมินบุคคลดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน สามารถคัดสรรผู้มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญงาน และมีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ ได้รับแต่งตั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน และระบบราชการโดยรวมมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นการที่ อ.ก.พ.ดีเอสไอ มีมติมอบให้ อธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้ออกข้อสอบและตรวจข้อสอบเพียงผู้เดียว จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหนังสือสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าว ซึ่งเป็นกลไกในการควบคุมการบริหารงานบุคคลากรภาครัฐ ในระบบคุณธรรม จึงเห็นว่าการดำเนินการคัดเลือกข้าราชการดังกล่าว น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเป็นผลให้การดำเนินการต่อมาในภายหลัง ซึ่งได้แก่ ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกและคำสั่งแต่งตั้งข้าราช การรักษาการในตำแหน่งดังกล่าวน่า จะไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย และหากให้อธิบดี ดีเอสไอ มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการพิเศษตามผลการคัดเลือกดังกล่าว จะทำให้เกิดความเสียหาย ยากแก่การเยียวยา เพราะไม่มีตำแหน่งว่างที่จะแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีได้ แม้อธิบดีดีเอสไอ จะมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งอัตรากำลังเพิ่มเติมตามกรอบอัตราของหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติ แต่การที่อธิบดี ดีเอสไอ ได้มีคำสั่งให้ข้าราชการรักษาการในตำแหน่งดังกล่าว ก็ยังสามารถดำเนินการตามภารกิจของ ืดีเอสไอ ได้อย่างอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะ ศาลฯจึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวไว้จนกว่าศาลฯจะมีคำพิพากษา
กำลังโหลดความคิดเห็น