xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้ป่วยฯค้านประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เครือข่ายผู้ป่วยฯยื่นหนังสือค้านประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน จี้ ก.แรงงาน ทบทวนสัดส่วน-โครงสร้างสถาบันฯ ด้านรองอธิบดี กสร.แจงพร้อมเพิ่มสัดส่วนแรงงานเข้าร่วมสัมมนา ชี้ หลายหน่วยงานค้านตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เหตุซ้ำซ้อนงานสำนักความปลอดภัย

วันนี้ (10 ก.พ.) ที่กระทรวงแรงงาน นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย นำเครือข่ายผู้ป่วยฯประมาณ 20 คนยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.....ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังจะจัดสัมมนาประชาพิจารณ์ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กทม.โดยมีนายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มารับหนังสือแทนรมว.แรงงาน

นางสมบุญ กล่าวหลังยื่นหนังสือ ว่า ขอคัดค้านการจัดสัมมนาประชาพิจารณ์ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ เนื่องจากไม่มีตัวแทนฝ่ายแรงงานที่มีความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงานเข้าร่วมสัมมนา และขอเรียกร้องให้ รมว.แรงงาน ทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังจะจัดทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ เพราะโครงสร้างของสถาบันฯยังยึดติดกับระบบราชการเดิม และไม่ได้เป็นองค์กรอิสระตามผู้ใช้แรงงานเรียกร้องอย่างแท้จริง เช่น การไม่มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านความปลอดภัยจากทำงานของแรงงานโดยตรง ทำให้สถาบันไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล และไม่สามารถแก้ปัญหาในเชิงลึกได้ โดยกระทรวงแรงงานให้เหตุผลว่าเป็นงานที่ซ้ำซ้อนกับสำนักความปลอดภัยแรงงานของ กสร.

นอกจากนี้ การกำหนดให้มีสัดส่วนคณะกรรมการบริหารสถาบันฯทั้งหมด 11 คน ก็มาจากฝ่ายราชการมากเกินไป แทนที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักวิชาการและตัวแทนแรงงาน อีกทั้งประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันฯก็ไม่ควรมาจากฝ่ายข้าราชการ เพราะจะทำให้สถาบันฯกลายเป็นแค่หน่วยงานเล็กๆ ภายในกระทรวงแรงงานเช่นเดิม ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาการเสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการจากการทำงานได้อย่างแท้จริง

“จากข้อมูลของกองทุนเงินทดแทน พบว่า มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการทำงานตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบันมีมากว่า 3 ล้านคน เฉลี่ยปีละกว่า 2 แสนคน โดยล่าสุด ในปี 2554 มีมากกว่า 1.4 แสนคน ไม่นับรวมผู้ป่วยโรคจากการทำงานที่เกี่ยวกับสารเคมี ทั้งนี้ อยากให้ฝ่ายการเมืองรับฟังความเห็นในเรื่องการจัดตั้งสถาบันฯของฝ่ายแรงงาน เพื่อให้การแก้ปัญหาและเยียวยาแรงงานที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งการทำงานของแรงงานมีทั้งบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ ดิฉันพร้อมด้วยเครือข่ายฯกว่า 500 คนจะไปยื่นหนังสือถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.อุดรธานี เพื่อให้ทบทวนในเรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย” นางสมบุญ กล่าว

นายวินัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสร.ได้เชิญตัวแทนฝ่ายแรงงานเข้าร่วมสัมมนาประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ แต่เชิญฝ่ายแรงงานเพียง 6 คน ซึ่งอาจจะน้อยเกินไป ดังนั้น จะเชิญเพิ่มเป็น 20 คน เพื่อแรงงานมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นมากขึ้น ส่วนการกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ 11 คนก็เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยฯกำหนดไว้

นายวินัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่ไม่ได้มีการกำหนดให้จัดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านความปลอดภัยจากทำงานของแรงงานโดยตรง เนื่องจากก่อนหน้านี้ การหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงบประมาณในเรื่องร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯต่างเห็นว่าเป็นงานที่ซ้ำซ้อนกับสำนักความปลอดภัยแรงงานของ กสร.จึงเห็นว่าไม่ควรตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ขึ้น และแรงงานสามารถมาร้องเรียนได้ที่สำนักความปลอดภัยได้เพราะแม้ตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้นมาก็ต้องส่งเรื่องมาที่สำนักความปลอดภัยของ กสร.ให้ดำเนินการช่วยเหลือแรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น