xs
xsm
sm
md
lg

ชงตั้งกองแรงงานอาเซียนรองรับเออีซี‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ชงปลัดแรงงาน ตั้ง “กองแรงงานอาเซียน” ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในอาเซียน เล็งแก้กฎหมาย 5 ฉบับ ชี้แรงงานฝีมือไทยมีจุดอ่อนด้านภาษาอังกฤษ

วันนี้ (19 ม.ค.) นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผอ.สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี พ.ศ.2558 และจะมีการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในภูมิภาคอาเซียนนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีการเตรียมความพร้อม โดยตนจะเสนอต่อ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความเห็นชอบจัดตั้งกองแรงงานอาเซียนขึ้นอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเออีซี รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานภายนอกเช่น กระทรวงการต่างประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซี

“หากได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวงแรงงาน ผมจะเสนอเรื่องต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อขอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโครงสร้างสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานให้เพิ่มกองแรงงานอาเซียนเข้าไปในโครงสร้างสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเพื่อจะได้มีบุคลากรและเสนอของบประมาณรองรับภารกิจได้” นายสิงหเดช กล่าว

นายสิงหเดช กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน จะเสนอให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในภูมิภาคอาเซียนขึ้น โดยมีรองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และผู้บริหารแต่ละกรมของกระทรวงแรงงานเป็นคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ทำหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมแต่ละกรม เพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในภูมิภาคอาเซียน เช่น สำนักปลัดกระทรวงแรงงานกำหนดนโยบายและแผนรองรับ แก้ไขและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กำหนดมาตรฐานกลางอาเซียนของช่างฝีมือในสาขาต่างๆ

ทั้งนี้ เบื้องต้นเท่าที่ศึกษาข้อมูล พบว่า กระทรวงแรงงานจะต้องเตรียมการรองรับการเคลื่อนย้ายเสรีแรงงานฝีมือใน 8 สาขาอาชีพ เช่น แพทย์ วิศวะ พยาบาล รวมถึงช่างฝีมือสาขาต่างๆ โดยจะต้องแก้ไขกฎหมายที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงแรงงาน จำนวน 5 ฉบับได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 รวมทั้งจะต้องแก้ไขกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยได้ใน 147 อาชีพ ส่งผลให้อาชีพที่เคยสงวนไว้ให้คนไทยทำงาน 39 อาชีพ เช่น ช่างตัดผม งานแกะสลักไม้ งานเจียระไน งานมัคคุเทศก์ ฯลฯ จะต้องถูกยกเลิกไป

รวมทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เพื่อให้การพัฒนาฝีมือแรงงานครอบคลุมถึงชาวต่างชาติ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เพื่อให้ชาวต่างชาติได้รับการคุ้มครองในสวัสดิการต่างๆและจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ และพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้มีการขยายประกันสังคมมาตรา 40 ให้ครอบคลุมถึงชาวต่างชาติ

“แรงงานไทยมีทักษะฝีมือเป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ในอาเซียน แต่มีจุดอ่อนในเรื่องของทักษะภาษาต่างประเทศ โดยตามข้อตกลงของเออีซีให้ใช้ภาษากลาง คือ ภาษาอังกฤษ และควรมีทักษะภาษาของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย ดังนั้น กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ จะต้องเร่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ และภาษาของประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมทั้งยกระดับทักษะฝีมือให้แก่แรงงานไทย เพราะทุกประเทศถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ทั้งนี้ เชื่อว่า หลังเกิดเออีซีช่างฝีมือที่ประเทศในอาเซียนต้องการอย่างมาก คือ สาขาไอทีและยานยนต์” นายสิงหเดช กล่าว

///////////
กำลังโหลดความคิดเห็น