xs
xsm
sm
md
lg

ฟังเสียงคนไม่มีสี !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

มีนักการเมืองบางคนมักจะกล่าวอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการอย่างไรก็ได้ เพราะมีประชาชนลงคะแนนให้ระบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคเพื่อไทยถึง 15.7 ล้านเสียง ซึ่งถือว่าเป็นเสียงข้างมากของคนในประเทศนี้

ใครได้เห็นตรรกะนำเสนอในเรื่องนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่า คนเหล่านี้เขาตกวิชาคณิตศาสตร์ในการนับเลขหรืออย่างไร?

-เพราะประเทศนี้มีประชากรทั้งประเทศ 65 ล้านคน ครึ่งหนึ่งก็คือ 32.5 ล้านคน

-และใน 65 ล้านคน เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งจำนวน 46.9 ล้านคน ครึ่งหนึ่งก็คือ 23.45 ล้านคน

-และในจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งมีจำนวน 46.9 ล้านคนนั้น เป็นผู้ที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 35.2 ล้านคน ซึ่งครึ่งหนึ่งก็คือ 17.6 ล้านคน

-และหากจะลองนำผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 35.2 ล้านคน หักผู้ที่ทำบัตรเสียออกไปอีก 1.7 ล้านคน เหลือ 33.5 ล้านคน ครึ่งหนึ่งก็คือ 16.7 ล้านคน

แปลว่านับกันอย่างไร 15.7 ล้านเสียง ก็ไม่มีทางถึงครึ่งหนึ่งได้เลย จะว่าไปแล้วหากนับจำนวนคนที่ลงให้พรรคเพื่อไทยซึ่งรณรงค์หาเสียงให้แก้รัฐธรรมนูญเพียงพรรคเดียวนั้นคำนวณได้เพียงร้อยละ 44.6 ของผู้ที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ในขณะที่ผู้ซึ่งไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยรวมกันสูงถึง 17.8 ล้านคน คิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 50.56

ความจริงแล้ว 15.7 ล้านคนที่ลงเลือกให้กับพรรคเพื่อไทยนั้น ก็ยังไม่สามารถสรุปได้เลยว่าเขาเหล่านั้นแสดงออกในการเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคเพื่อไทยได้รณรงค์ เพราะคนเหล่านั้นเขาอาจจะเลือกพรรคเพื่อไทยด้วยเหตุผลอื่นๆได้ เช่น เลือกเพราะหลงผิดคิดว่าจะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน หรือคนที่จบปริญญาตรีใหม่จะได้เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท เป็นต้น


นอกจากนี้รัฐบาลยังมีความคิดที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดทั้งปวงให้กับนักการเมืองและคนเสื้อแดง โดยนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าไปพ่วงด้วยนั้น คำถามก็คือคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เขาคิดอย่างไรกันแน่?

มูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นพลเมืองไทยระดับประเทศ ปี 2553 มติมหาชนและการเมืองระหว่าง “ขั้วสี” โดยมีการสำรวจทั่วประเทศ 30 จังหวัดเป็นจำนวนกว่า 1,600 คน และเป็นการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงซึ่งได้ทำการสำรวจมาก่อนหน้านี้ในปี 2552 ซึ่งเห็นว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อให้ได้พิจารณากันว่า ความคิดของนักการเมือง กลุ่มคนเสื้อแดง และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตยในเวลานี้สอดคล้องกับคนส่วนใหญ่ในประเทศจริงๆหรือไม่?

ผลสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจน้อยกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 24) ที่ให้ข้อมูลว่าตัวเองสังกัดกลุ่มเสื้อสี โดยแยกเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยร้อยละ 10 (ส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ กรุงเทพและปริมณฑล ตลอดจนภาคกลาง) และกลุ่มคนเสื้อแดงร้อยละ 14 (ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือและอีสาน) และกลุ่มที่ประกาศว่าไม่สังกัดกลุ่มเสื้อสีไหนเลยทั้งสองฝ่ายนี้มีอยู่สูงถึงร้อยละ 73


ดังนั้นเป้าประสงค์ของการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ คนเสื้อแดง อาจไม่ใช่เป้าประสงค์เดียวกันกับคนกลางไม่มีสีที่มีจำนวนมากที่สุดถึงร้อยละ 73 เพียงแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคนเสื้อแดงอาจมีเสียงดังกว่าก็เพราะมีการรวมตัวชุมนุมที่ปรากฏตัวในที่สาธารณะในจำนวนที่มากกว่าคนกลางๆที่อยู่กระจัดกระจายและไม่แสดงออกด้วยการชุมนุม

ถ้าเช่นนั้นเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศหากรวมจำนวนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคนเสื้อแดงไปแล้ว เขาคิดในเรื่องต่อประเด็นความขัดแย้ง อย่างไรบ้าง? ผลสำรวจพบดังนี้

1.การนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองที่มีความผิด
โดยนักการเมืองบางคนถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดในคดีอาญา แต่ยังคงยืนกรานว่าตนเองบริสุทธิ์ และผลการตัดสินมาจากเหตุจูงใจทางการเมือง เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง คุณคิดว่านักการเมือง เหล่านี้ควรได้รับการนิรโทษกรรม หรือว่าควรให้ยืนคำพิพากษาความผิดไว้เช่นเดิม?

ผลสำรวจพบว่ามีผู้แสดงความเห็นให้ลงโทษดังเดิมสูงถึงร้อยละ 62 และมีเพียงร้อยละ 30 เห็นควรให้นิรโทษกรรม สำหรับกลุ่มผู้ที่ไม่สังกัดสีเสื้อมีจำนวนถึงสองในสามหรือร้อยละ 66 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมนักการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยส่วนมากร้อยละ 69 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนร้อยละ 59 สนับสนุนการนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดแต่ก็เป็นเพียงเสียงส่วนน้อยโดยรวมเมื่อเทียบกับการสำรวจทั้งหมด

2.การดำเนินคดีเอาผิดกับทหารที่สลายการชุมนุม
บางคนกล่าวหาว่ารัฐบาลและกองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ (ปี 2553) เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งทางการเมืองและส่งเสริมการปรองดอง คุณคิดว่าผู้ที่ขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายกับรัฐบาลและกองทัพ ควรยุติการกระทำดังกล่วหรือไม่?

ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 51 ค่อนข้างเห็นใจรัฐบาลประชาธิปัตย์และทหารมากกว่า โดยเห็นว่าควรยุติการข่มขู่ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดี ส่วนที่เห็นด้วยให้ดำเนินคดีนั้นมีอยู่ร้อยละ 37 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ไม่สังกัดสีเสื้อมีจำนวนร้อยละ 51 ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีกับรัฐบาลประชาธิปัตย์และทหาร ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีสูงถึงร้อยละ 69 ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงเห็นตรงกันข้ามโดยส่วนใหญ่ของคนเสื้อแดงมีร้อยละ 52 ยืนข้างเดียวกับเสียงข้างน้อยทั่วไปที่เห็นควรให้ฟ้องร้องดำเนินคดีความ

3.การดำเนินคดีข้อหาก่อการร้ายกับกลุ่มเสื้อแดง
ผู้นำคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการร้าย คุณคิดว่าควรยกเลิกข้อหาดังกล่าวหรือไม่?

ผลสำรวจพบว่าสังคมมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 48 เห็นควรว่ายกเลิกข้อหา ขณะที่อีกร้อยละ 44 ให้ดำเนินคดี ทั้งนี้กลุ่มคนที่ไม่สังกัดสีเสื้อมีความเห็นแตกต่างกันในจำนวนที่เท่ากันคือร้อยละ 45 เห็นด้วยกับการดำเนินคดี และร้อยละ 45 ไม่เห็นด้วย ขณะที่กลุ่มที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยร้อยละ 66 ต้องการให้ดำเนินคดี ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงร้อยละ 75 ต้องการให้ยกเลิกข้อหา

4.การดำเนินคดีข้อหาก่อการร้ายกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คุณคิดว่าควรยกเลิกข้อหาดังกล่าวหรือไม่?

ผลสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามดูจะมีทัศนคติเห็นใจกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมากกว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเล็กน้อย โดยร้อยละ 50 เห็นควรยกเลิกข้อหา ในขณะที่อีกร้อยละ 42 เห็นว่าให้ยืนข้อกล่าวหาตามเดิม อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มคนที่ไม่สังกัดสีเพียงร้อยละ 47 จะสนับสนุนการยกเลิกข้อหา แต่เสียงข้างมากเล็กน้อยทั้งจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มคนเสื้อแดงเห็นว่าควรยกเลิกข้อหานี้เพื่อส่งเสริมการปรองดองทางการเมือง


5.คืนสถานะทางการเมืองให้กับนักการเมืองที่ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ
คุณคิดว่าควรคืนสถานภาพให้แก่นักการเมืองที่ศาลมีคำสั่งจำกัดสิทธิทางการเมืองก่อนหน้านี้หรือไม่ เพื่อประโยชน์ต่อการปรองดองทางการเมือง

ผลสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 50 เห็นว่าไม่สมควรคืนสถานภาพทางการเมืองให้นักการเมืองเหล่านี้ โดยมีเพียงร้อยละ 41 ที่เห็นว่าสมควรคืนสถานภาพให้ โดยกลุ่มไม่สังกัดสีเสื้อเกินครึ่งเล็กน้อยคือร้อยละ 51 เห็นว่าไม่สมควรคืนสถานภาพ เช่นเดียวกับร้อยละ 68 ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยร้อยละ 68 ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงให้การสนับสนุนอย่างแข็งแรงเช่นกัน ว่าต้องการให้คืนสถานภาพทางการเมืองให้กับนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ร้อยละ 65

6.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญ ทางเลือกใดต่อไปนี้ที่คุณคิดว่าเหมาะสมที่สุด?


ผลสำรวจในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 พบว่า ไม่มีคำตอบที่เป็นมติเอกฉันท์จากผู้ตอบแบบสอบถาม โดยร้อยละ 27 ระบุว่าต้องการให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปโดยไม่ต้องแก้ไข รองลงมาอันดับสองคือร้อยละ 24 ระบุว่าไม่ทราบความแตกต่าง (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไม่สังกัดสี) อันดับที่สามคือให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 คิดเป็นร้อยละ 12 ในขณะอันดับที่สี่อีกร้อยละ 12 เห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ส่วนอันดับที่ห้าร้อยละ 9 เห็นควรให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีประชาชนร้อยละ 14 ไม่แสดงความคิดเห็น

7.ความซื่อตรงของหน่วยงาน
คำถามในเรื่องการจัดระดับความซื่อตรงให้แก่หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ มีความซื่อตรงสูงมาก มีความซื่อตรงสูง ความซื่อตรงไม่สูงไม่ต่ำ ความซื่อตรงต่ำ หรือความซื่อตรงต่ำมาก

ผลปรากฏว่าศาลยุติธรรมเป็นเพียงสถาบันเดียวที่ได้คะแนนระดับสูง/สูงมาก มีมากถึงร้อยละ 59 รองลงอันดับที่สองได้แก่กองทัพร้อยละ 34 อันดับที่สามได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้อยละ 29 อันดับที่สี่ได้แก่ คอป.ร้อยละ 28 อันดับที่ห้าได้แก่องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)ร้อยละ 26

ในขณะที่สถาบันที่ประชาชนให้คะแนนว่ามีความซื่อตรงต่ำมากที่สุดอันดับที่หนึ่งคือตำรวจคิดเป็นร้อยละ 46 มีความซื่อตรงต่ำมากที่สุดเป็นอันดับที่สองคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคิดเป็นร้อยละ 37 และอันดับที่สามคือสื่อมวลชนคิดเป็นร้อยละ 32

จากการสำรวจของมูลนิธิเอเชียในประเด็นที่สังคมมีความขัดแย้ง 7 ประเด็นข้างต้นแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่สังกัดสี มีความคิดโน้มเอียงไปในแนวทางของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมากกว่ากลุ่มคนเสื้อแดง

กำลังโหลดความคิดเห็น