xs
xsm
sm
md
lg

อีกไม่เกิน 60 วัน ไทยกำลังจะแพ้ศาลโลกรอบที่สองในรอบ 50 ปี !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อคดีการวินิจฉัยตีความคำพิพากษาของศาลโลกกรณีพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารความตอนหนึ่งว่า:

“จะมีการเปลี่ยนแปลงองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกในเดือนกุมภาพันธ์ และเพื่อไม่ให้คดีดังกล่าวข้ามการเปลี่ยนแปลงองค์คณะ ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์กันว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ศาลโลกจะมีคำตัดสินเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา ซึ่งรัฐบาลไทยคงได้ยื่นคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว ส่วนการจะไปให้ถ้อยแถลงด้วยวาจา ก็มีความสำคัญ ต้องมีการเตรียมตัวให้ดี มีการซักซ้อม ดำเนินการให้เป็นเอกภาพ”

หากเป็นไปตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คาดการณ์เอาไว้ ศาลโลกจะวินิจฉัยคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี พ.ศ. 2505 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ก็แปลว่าเรามีเวลาเหลืออยู่อีกเพียงไม่ถึง 60 วันเท่านั้น ก่อนที่ศาลโลกจะตัดสินไปในทางใดทางหนึ่ง:

ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 50 แล้วที่ศาลโลกได้เคยตัดสินคดีนี้ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ลงความเห็นด้วยข้อความว่า:

“ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา”

สำหรับ ข้อเรียกร้องในข้อ 1 ของกัมพูชาว่าให้ศาลพิพากษาและชี้ขาดสถานภาพของแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว (แผนที่ภาคผนวก 1) และข้อเรียกร้องในข้อ 2 ของกัมพูชาที่ขอให้พิพากษาและชี้ขาดเส้นเขตแนวระหว่างไทย-กัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 (แผนที่ภาคผนวก 1) นั้น ศาลไม่ตัดสินเป็นบทปฏิบัติการของคำพิพากษาโดยให้เหตุผลในคำพิพากษาในครั้งนั้นว่า:

“คำแถลงสรุปข้อที่หนึ่งและข้อที่สองของกัมพูชาที่ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดในเรื่องสถานภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณที่พิพาท จะรับฟังได้ก็แต่เพียงในฐานที่เป็นการแสดงเหตุผล และมิใช่เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ในทางตรงกันข้าม ศาลเห็นว่าประเทศไทยนั้นหลังจากที่ได้แถลงข้อเรียกร้องของตนเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือพระวิหารแล้ว ได้จำกัดการต่อสู้คดีตามคำแถลงสรุปของตนในตอนจบกระบวนพิจารณาภาควาจาอยู่แต่เพียงการโต้แย้งและปฏิเสธเพื่อลบล้างข้อต่อสู้ของคู่ความฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะเลือกหาเหตุผลที่ศาลเห็นเหมาะสมซึ่งคำพิพากษาอาศัยเป็นมูลฐาน”

แม้คำพิพากษาจะมีความชัดเจนว่าไม่ได้ตัดสินสถานภาพของแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 แต่เราก็จะวางใจไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะสิ่งที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องปีที่แล้วต่อศาลโลกนั้นได้ให้ช่วยตีความในคำพิพากษาในการตัดสินเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในประเด็นที่มีการลงคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ว่า:

“ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา”

และสิ่งที่กัมพูชาให้ตีความนั้นก็คือคำว่า การถอยทหาร ตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลออกจาก “บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา” คือบริเวณไหน?

โดยกัมพูชามุ่งหมายจะให้ศาลโลกตีความเพื่อหวังว่า บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชานั้นหมายถึงแผนที่ภาคผนวก 1 หรือ แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 หรือไม่?

ทั้งนี้เพราะแม้กัมพูชาจะรู้ว่า แผนที่ภาคผนวก 1 และเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 จะไม่ใช่บทปฏิบัติการของคำพิพากษาโดยตรง แต่กัมพูชาอาศัยช่องเล็กๆที่แผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ศาลโลกอ้างกฎหมายปิดปากที่ฝ่ายไทยไม่ปฏิเสธแผนที่ฉบับนี้ในการใช้เป็น “มูลฐาน” ในการแสดงเหตุผลเพื่อตัดสิน “บทปฏิบัติการ” ให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ในการใช้เป็นประโยชน์ในการส่งศาลโลกตีความในครั้งนี้ด้วย

เพราะเมื่อ “มูลฐาน” จากกฎหมายปิดปากในเรื่องแผนที่ภาคผนวก 1 ใช้ถูกนำมาใช้เพื่อตัดสินบทปฏิบัติการในประเด็น อำนาจอธิปไตยเหนือตัวปราสาทแล้ว ก็ย่อมต้องส่งผลต่อบทปฏิบัติการในการให้ทหาร ตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาและผู้ดูแล ออกจาก “บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา” ด้วยเช่นกัน

มูลฐาน “กฎหมายปิดปากที่ไทยไม่ปฏิเสธแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว” ส่งผลต่อบทปฏิบัติการว่า อำนาจอธิปไตยเหนือตัวซากปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา” ฉันใด

มูลฐาน “กฎหมายปิดปากที่ไทยไม่ปฏิเสธแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว” ก็ย่อมส่งผลต่อบทปฏิบัติการว่า ให้ทหาร ตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาและผู้ดูแล ออกจาก “บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา” ฉันนั้น

ไทยจึงย่อมตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบกว่า หากปล่อยให้มีการตีความบทปฏิบัติการของคำพิพากษานี้ !!


ทั้งนี้การใช้กฎหมายปิดปากที่ไทยไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ได้กลายเป็น “มูลฐาน” ในการตัดสิน “บทปฏิบัติการของคำพิพากษา” ทั้งนี้ได้มีการบรรยายมูลฐานในการตัดสินครั้งนั้นด้วยข้อความว่า:

“อย่างไรก็ดี ศาลมีความเห็นว่าประเทศไทยใน ค.ศ. 1908 – 1909 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่า เป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา ศาลมีความเห็นต่อไปว่าเมื่อพิจารณาโดยทั่วไป การกระทำต่อๆมาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำขอบงไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน”

ด้วยเหตุผลนี้ประเทศไทยจึงได้ทำการประท้วง คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินที่อยุติธรรม ที่แม้ว่ารัฐบาลไทยจะปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่ก็ยังได้ตั้งข้อสงวนที่จะทวงคืนในอนาคตหากกฎหมายมีการพัฒนาไปมากกว่านี้ โดยปราศจากการคัดค้าน และทักท้วงจากทุกประเทศในหมู่มวลสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ

ข้อสำคัญแม้แต่กัมพูชา ก็พอใจกับการปฏิบัติกั้นแนวรั้วรอบปราสาทพระวิหารของฝ่ายไทยและไม่เคยคัดค้านหรือเรียกร้องใดๆจากองค์การสหประชาชาติเป็นเวลากว่า 40 ปี

เพราะความจริงมีอยู่ว่าศาลโลกในขณะนั้นไม่ได้หักล้างเหตุผลของฝ่ายไทยที่หยิบยกขึ้นมาต่อสู้ในหลายประเด็น ทั้งในเรื่อง หลักฐานผลงานของผู้เชี่ยวชาญการการสำรวจตรวจตราภูมิประเทศในบริเวณเขาพระวิหาร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายฝรั่งเศสมีบันทึกระบุว่าสันปันน้ำบริเวณทิวเขาดงรักอยู่ที่หน้าผามองเห็นได้จากตีนภูเขาดงรัก และหลักฐานที่ว่าแผนที่นี้สร้างขึ้นผิดจากความเป็นจริงแห่งภูมิประเทศ ฯลฯ แต่ศาลโลกกลับเลือกกฎหมายปิดปากมาเป็นมูลฐานหลักโดยปราศจากการหักล้าง ไม่โต้แย้ง ไม่แม้กระทั่งกล่าวถึงเหตุผลของฝ่ายไทย

ดังนั้นจึงถือว่าประเทศไทยในขณะนั้นไม่ได้คัดค้าน ประท้วง และตั้งข้อสงวน เฉพาะ “บทปฏิบัติการ”ของคำพิพากษาของศาลโลกเท่านั้น แต่ยังคัดค้านรุกไปถึง “มูลฐาน”ในการใช้เป็นเหตุผลตัดสินที่อยุติธรรมอีกด้วย

คำแถลงคัดค้าน ประท้วง และตั้งข้อสงวนของไทยในยุคนั้น จึงมีความหมายอย่างยิ่ง เมื่อรวมกับการที่ประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการประกาศยอมรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับมา 50 ปีแล้ว ย่อมหมายความว่าเราไม่ควรกลับไปยอมรับอำนาจศาลโลกในการตีความที่มาจาก “มูลฐาน” ที่อยุติธรรมของศาลโลกอีก


และถ้าไทยยังไปยอมรับการตีความ “บทปฏิบัติการของคำพิพากษา” บน “มูลฐาน”ที่อยุติธรรมแล้ว เท่ากับว่าประเทศไทยได้สละการคัดค้าน ประท้วง ตั้งข้อสงวนของฝ่ายไทยที่เคยมีมา และได้กลับไปรับอำนาจของศาลโลกอีกครั้งในรอบ 50 ปี และอาจถือเป็นการทรยศต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่ได้ปกป้องแผ่นดินไทยเอาไว้มาจนถึงวันนี้ ใช่หรือไม่?

และอีกไม่เกิน 60 วัน ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ความเสี่ยงที่จะเสียดินแดนในเวทีศาลโลกครั้งที่สองในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา!!!

กำลังโหลดความคิดเห็น